คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1279/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยร่วมกันปลอมบัตรประจำตัวประชาชนและปลอมตั๋วแลกเงินในระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2518 ถึงวันที่ 4 เมษายน 2518 นั้น เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265,266,91 แต่จำเลยร่วมกันนำบัตรประจำตัวประชาชนและตั๋วแลกเงินที่ปลอมขึ้นไปใช้ด้วย จึงต้องลงโทษแต่ละกระทงฐานใช้กระทงเดียว ตามมาตรา 268 วรรค 2 และการใช้ในคราวเดียวกันเป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานฉ้อโกง ตามมาตรา 342 โดยจำเลยร่วมกันหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดความจริงที่ควรบอกให้แจ้ง เพื่อให้ได้ทรัพย์สิน คือเงิน 220,000 บาทจากธนาคาร ย่อมเป็นความผิดกรรมเดียว ผิดต่อกฎหมายหลายบทต้องลงโทษฐานใช้ตั๋วเงินปลอม อันเป็นบทหนัก ตามมาตรา 268 ประกอบด้วยมาตรา 266,90

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๘ ถึงวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๑๘ ทั้งเวลากลางวันและกลางคืนติดต่อกัน จำเลยทั้งสองกับพวกได้บังอาจร่วมกันทำเอกสารราชการบัตรประจำตัวประชาชนปลอม ในชื่อ น.ส.บังอร ศิริวงศ์ และอัดรูปของจำเลยที่ ๑ ลงในบัตรประจำตัวประชาชนนั้น ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่า จำเลยที่ ๑ คือนางสาวบังอร ศิริวงศ์ และจำเลยกับพวกได้บังอาจร่วมกันทำเอกสารตั๋วแลกเงิน(ดร๊าฟท์) ซึ่งเป็นเอกสารสิทธิของธนาคารกรุงเทพจำกัด สาขาพลับพลาไชย ปลอมขึ้นทั้งฉบับ สั่งจ่ายเงินตามคำสั่งของ น.ส.บังอร ศิริวงศ์ จำนวน ๒๒๐,๐๐๐ บาท ถึงธนาคารกรุงเทพจำกัด สาขาพิษณุโลก เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นตั๋วแลกเงินอันเแท้จริงของธนาคารกรุงเทพจำกัด สาขาพลับพลาไชย และเมื่อวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๑๘ เวลากลางวัน จำเลยบังอาจร่วมกันใช้และอ้างตั๋วแลกเงินกับบัตรประจำตัวประชาชน ฉบับที่จำเลยร่วมกันทำปลอมขึ้นดังกล่าว ไปแสดงต่อสมุหบัญชีของธนาคารกรุงเทพจำกัด สาขาพิษณุโลก ว่าเป็นตั๋วแลกเงินและบัตรประจำตัวประชาชนที่แท้จริง เพื่อขอรับเงินจากธนาคารกรุงเทพจำกัด สาขาพิษณุโลก โดยเจตนาทุจริต โดยหลอกลวงจำเลยที่ ๑ คือนางสาวบังอร ศิริวงศ์ ผู้มีสิทธิรับเงินตามตั๋วแลกเงิน ดังกล่าว อันเป็นการแสดงตนเป็นคนอื่นและปกปิดความจริงที่ควรบอกให้แจ้งว่าตั๋วแลกเงินและบัตรประจำตัวประชาชนดังกล่าวเป็นของปลอม จนเป็นเหตุให้สมุหบัญชีธนาคารกรุงเทพจำกัด สาขาพิษณุโลก หลงเชื่อว่าจำเลยที่ ๑ คือ นางสาวบังอร ศิริวงศ์ และตั๋วแลกเงินกับบัตรประจำตัวประชาชนดังกล่าวเป็นเอกสารที่แท้จริง จึงได้จ่ายเงิน ๒๒๐,๐๐๐ บาท ของธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาพิษณุโลก ให้แก่จำเลยที่ ๑ ไป เหตุเกิดที่แขวงและเขตไม่ปรากฏชัดในกรุงเทพมหานคร และที่ตำบลในเมือง อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก เกี่ยวพันกัน ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๔,๒๖๕,๒๖๖,๒๖๘,๓๔๑,๓๔๒,๘๓ คืนเงินของกลาง ๒๒๐,๐๐๐ บาทแก่เจ้าของ และริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๕,๒๖๖,๒๖๘,๓๔๒ สำหรับความผิดฐานทำและใช้บัตรประจำตัวประชาชนปลอม ตามมาตรา ๒๖๕ และมาตรา ๒๖๘ ให้ลงโทษตามมาตรา ๒๖๘ จำคุกคนละ ๑ ปี ตามผิดฐานทำและใช้ตั๋วแลกเงินปลอม ตามมาตรา ๒๖๖ และมาตรา ๒๖๘ ให้ลงโทษตามมาตรา ๒๖๘ จำคุกคนละ ๓ ปี และความผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา ๓๔๒ ให้จำคุกคนละ ๑ ปี รวมจำคุกจำเลยคนละ ๕ ปี จำเลยรับสารภาพ ลดโทษให้ตามมาตรา ๗๘ คนละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยคนละ ๒ ปี ๖ เดือน คืนเงิน ๒๒๐,๐๐๐ บาท แก่เจ้าของ ส่วนของกลางอย่างอื่นให้ริบ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษจำคุกแก่จำเลย
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ การที่จำเลยใช้และอ้างตั๋วแลกเงินกับบัตรประจำตัวปลอม เป็นการกระทำกรรมเดียวกัน คือ ใช้และอ้างเอกสารอันเกิดจากการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๕ กับมาตรา ๒๖๖ ในคราวเดียวกัน ต้องลงโทษฐานใช้หรืออ้างเอกสารปลอมเพียงกระทงเดียวตามมาตรา ๒๖๘ วรรคสอง การกระทำของจำเลยฐานฉ้อโกงเป็นการกระทำกรรมเดียวกับการใช้และอ้างเอกสารปลอมการกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวกัน แต่เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท คือ ผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๘ ประกอบด้วยมาตรา ๒๖๕,๒๖๖ และผิดมาตรา ๓๕๒ ด้วย ต้องลงโทษตามมาตรา ๒๖๘ ประกอบด้วยมาตรา ๒๖๖ อันเป็นบทหนัก ตามมาตรา ๙๐ พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๘ ประกอบด้วยมาตรา ๒๖๖ อันเป็นบทหนักที่สุดตามมาตรา ๙๐ จำเลยที่ ๑ อายุ ๑๙ ปี ลดมาตราส่วนโทษให้ตามมาตรา ๗๖ กึ่งหนึ่งให้จำคุก ๑ ปี ๖ เดือน จำคุกจำเลยที่ ๒ มีกำหนด ๓ ปี มีเหตุบรรเทาโทษเพราะจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้ตามมาตรา ๗๘ คนละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ ๑ไว้มีกำหนด ๙ เดือน และจำคุกจำเลยที่ ๒ มีกำหนด ๑ ปี ๖ เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาขอให้เรียงกระทงลงโทษตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จำเลยร่วมกันปลอมบัตรประจำตัวประชาชนและปล่อมตั๋วแลกเงินในระหว่างวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๘ ถึงวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๑๘ นั้น ย่อมเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๕,๒๖๖,๙๑ แต่จำเลยร่วมกันนำบัตรประจำตัวประชาชนและตั๋วแลกเงินที่ปลอมขึ้นไปใช้ด้วย จึงต้องลงโทษแต่ละกระทงฐานใช้กระทงเดียว ตามมาตรา ๒๖๘ วรรค ๒ แต่การใช้ในคราวเดียวกันเป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานฉ้อโกง ตามมาตรา ๓๔๒ โดยจำเลยร่วมกันหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดความจริงที่ควรบอกให้แจ้งเพื่อให้ได้ทรัพย์สิน คือเงิน ๒๒๐,๐๐๐ บาทจากธนาคาร ย่อมเป็นความผิดกรรมเดียว ผิดต่อกฎหมายหลายบทต้องลงโทษฐานใช้ตั๋วเงินปลอม อันเป็นบทหนัก ตามมาตรา ๒๖๘ วรรค ๒ ประกอบด้วยมาตรา ๒๖๖,๙๐ สำหรับจำเลยที่ ๑ อายุเพียง ๑๙ ปี สมควรลดมาตราส่วนโทษให้ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๗๖ ให้หนึ่งในสาม
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เป็นว่า จำเลยที่ ๑อายุ ๑๙ ปี ลดมาตราส่วนโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๖ แล้วให้จำคุก ๒ปี แต่มีเหตุบรรเทาโทษเพราะจำเลยที่ ๑ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ ๑ มีกำหนด ๑ ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share