คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1279/2502

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมนั้น เมื่อมีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไป ศาลมีอำนาจที่จะถอดถอนหรือสั่งตั้งผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลเพิ่มเติมได้
พินัยกรรมมีข้อความว่า ข้อ 3 เงินผลประโยชน์ที่เก็บได้จากพื้นที่และตึกเรือนโรงดังกล่าวไว้ใน ข้อ 1 นั้น เวลานี้ได้ประมาณ 1,800 บาท ซึ่งได้กำหนดส่วนแบ่งให้แก่ 1. หม่อมราชวงศ์กระจ่าง 2. หม่อมราชวงศ์กระจัด สองคนนี้คนหนึ่งเดือนละ 40 บาท แบ่งให้บุตร คือ 1. ฯลฯ แปดคนนี้คนหนึ่งเดือนละ 10 บาท ฯลฯ ดังนี้ถือว่า การที่ผู้มีส่วนได้ตามพินัยกรรมจะได้คนละเท่าใดนั้น มิได้กำหนดเป็นจำนวนบาทตายตัวตลอดไป หากขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ว่า “เวลานี้ได้ประมาณ 1,800 บาท เป็นหลัก นอกจากนั้น ข้อความในพินัยกรรม ข้อ4 ยังกล่าวอีกว่า ถ้าจำนวนเงินผลประโยชน์ที่ได้จากพื้นที่จะลดน้อยลงไปจากหลักที่กำหนด ก็ให้แบ่งให้แก่ผู้มีส่วนได้ลดลงตามส่วนที่จะพึงแบ่งได้ในเวลานั้นทุกประการ” แสดงให้เห็นเจตนาของผู้ทำพินัยกรรมโดยชัดว่า มิประสงค์จะกำหนดให้ผู้มีส่วนได้เป็นจำนวนบาทตายตัว ตามที่ระบุไว้นั้นเวลาทำพินัยกรรมเมื่อ 30 ปีก่อน ที่ดินที่ปรากฏในพินัยกรรมมีผลประโยชน์เดือนละ 1,800 บาท เวลาปัจจุบันนี้ ความจริงมีผลประโยชน์เท่าใด ผู้มีส่วนได้ตามพินัยกรรมก็มีสิทธิที่จะได้ตามอัตราส่วนตามค่าของเงินที่ระบุไว้นั้น

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกเจ้าพระยาเทเวศร์วงษ์พิพัฒน์ (ม.ร.ว. หลาบ กุญชร) ร่วมกับนายศิววงศ์ กุญชร ณ อยุธยา ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรม
นายศิววงศ์ กุญชร ณ อยุธยา คัดค้านว่า ไม่มีเหตุจะต้องผู้จัดการร่วมให้ผิดไปจากดำรัสในพินัยกรรม
ศาลชั้นต้นให้ดำเนินคดีอย่างคดีมีข้อพิพาท และสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลย แล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นสืบยานโจทก์จำเลยดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมนั้น เมื่อมีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไปศาลจะมีอำนาจที่จะถอดถอนหรือสั่งตั้งผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลเพิ่มเติมได้ โจทก์ร้องว่า ทายาทผู้มีส่วนได้ตามพินัยกรรมในเวลานี้ได้รับส่วนแบ่งปันคนละ ๕๐ บาท ๔๐ บาท ๑๐ บาท ต่อเดือน อยู่เช่นเดิมเหมือนเมื่อสมัย ๓๐ ปีก่อน จำเลยคัดค้านก็ยืนยันว่า การกระทำของจำเลยได้ปฏิบัติตามพินัยกรรมทุกประการ ซึ่งแสดงว่า จำเลยมีความเห็นว่า ตามข้อกำหนดในพินัยกรรมทายาทควรมีส่วนได้เงินแบ่งปันเท่าใดสมัย ๓๐ ปีก่อน ถ้าความเห็นของจำเลยไม่ถูกต้อง ่คำร้องของโจทก์ที่ขอร่วมเป็นผู้จัดการมรดกก็มีเหตุผลจะสั่งตั้งผู้จัดการมรดกโดยคำสั่งศาลเพิ่มเติมได้ ตามพินัยกรรมใช้ถ้อยคำว่า + ๓ เงินผลประโยชน์ที่เก็บได้จากพื้นที่และตึกเรือนโรงดังกล่าวไว้ในข้อ ๑. เวลานี้ได้ประมาณ ๑,๘๐๐ บาท (หนึ่งพ้นแปดร้อยบาทถ้วน) ซึ่งกำหนดส่วนไว้ดังนี้ คือ แบ่งให้ ๑. หม่อมราชวงศ์กระจ่าง ๒. หม่อมราชวงศ์กระจัด สองคนนี้คนหนึ่งเดือนละ ๔๐ บาท แบ่งให้บุตร คือ ๑. ฯลฯ แปดคนนี้คนหนึ่งเดือนละ ๑๐ บาท ฯลฯ ดังนี้ถือว่า ดังนี้ถือว่า การที่ผู้มีส่วนได้ตามพินัยกรรมจะได้คนละเท่าใดนั้น มิได้กำหนดเป็นจำนวนบาทตายตัวตลอดไป
หากขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ว่า เวลานี้ได้ประมาณ ๑,๘๐๐ บาท เป็นหลัก นอกจากนั้น ข้อความในพินัยกรรม ข้อ๔ ยังกล่าวอีกว่า ถ้าจำนวนเงินผลประโยชน์ที่ได้จากพื้นที่จะลดน้อยลงไปจากหลักที่กำหนด ก็ให้แบ่งให้แก่ผู้มีส่วนได้ลดลงตามส่วนที่จะพึงแบ่งได้ในเวลานั้นทุกประการ แสดงเจตนาของผู้ทำพินัยกรรมโดยชัดว่า มิได้ประสงค์จะกำหนดให้ผู้มีส่วนได้เป็นจำนวนบาทตายตัว ตามที่ว่าไว้นั้น
พิพากษายืน

Share