แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สิทธิการเช่าที่ดินพิพาทซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้เช่าจาก ป. เป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 แต่การโอนสิทธิการเช่าที่ดินพิพาทด้วยการนำออกให้จำเลยที่ 2 เช่าช่วง หาใช่เป็นกรณีที่โจทก์และจำเลยที่ 1 จะต้องจัดการร่วมกันหรือจะต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1476 (1) ถึง (8) ไม่ เพราะ ป.พ.พ. มาตรา 1476 (3) ห้ามจัดการสินสมรสเพียงฝ่ายเดียวเฉพาะการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นสินสมรส ซึ่งไม่รวมถึงการจัดการสิทธิการเช่าซึ่งไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์และไม่เป็นทรัพยสิทธิอันจะถือว่าเป็นอสังหาริมทรัพย์ในตัวเองตาม ป.พ.พ. มาตรา 139 ด้วย จึงเป็นอำนาจของจำเลยที่ 1 ที่จะจัดการได้ตามลำพังโดยมิต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1476 วรรคสอง ดังนั้นแม้จำเลยที่ 1 จะโอนสิทธิการเช่าที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 โดยโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอมก็ตาม โจทก์ก็ไม่อาจจะเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนการแบ่งให้เช่าช่วงที่ดินโฉนดเลขที่ 7466 พร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างจำเลยทั้งสอง ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันจดทะเบียนโอนที่ดินแปลงดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้างใส่ชื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 หากจำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงได้ความตามที่คู่ความไม่โต้แย้งกันว่า โจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลยเมื่อปี 2534 ระหว่างการสมรสจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทกับนายประสงค์ ต่อมาจำเลยที่ 1 ทำสัญญาแบ่งเช่าช่วงที่ดินกับนายเสริม โดยโจทก์ยินยอม ต่อมาจำเลยที่ 1 ทำสัญญาแบ่งเช่าช่วงที่ดินกับจำเลยที่ 2 และจดทะเบียนการแบ่งเช่าช่วงที่ดินต่อเจ้าพนักงานที่ดิน จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 2,500,000 บาท ให้จำเลยที่ 1 ในวันทำสัญญาและตกลงชำระค่าเช่าเป็นรายเดือน เดือนละ 16,800 บาท นับแต่วันที่ 23 กันยายน 2551 ตลอดอายุสัญญาเช่า
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การให้เช่าช่วงที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 เป็นการจัดการสินสมรสหรือไม่ และจำเลยที่ 2 เช่าช่วงที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนหรือไม่ ในปัญหาข้อแรกโจทก์ฎีกาว่าการให้เช่าช่วงที่ดินพิพาทเป็นการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1476 (3) ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนสิทธิการเช่าซึ่งเป็นสินสมรสโดยการให้เช่าช่วงที่ดินแปลงดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่จำเลยที่ 2 โดยโจทก์ไม่เคยทราบและไม่เคยยินยอมด้วย ดังนั้น ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยเป็นประการแรกมีว่า การที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาให้จำเลยที่ 2 เช่าช่วงที่ดินพิพาทโดยที่โจทก์มิได้รู้เห็นหรือให้ความยินยอมเป็นเหตุให้ โจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาแบ่งเช่าช่วงระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1480 ได้หรือไม่ แม้สิทธิการเช่าที่ดินพิพาทซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้เช่าจากนายประสงค์ เป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 แต่การโอนสิทธิการเช่าที่ดินพิพาทด้วยการนำออกให้จำเลยที่ 2 เช่าช่วง หาใช่เป็นกรณีที่โจทก์และจำเลยที่ 1 จะต้องจัดการร่วมกันหรือจะต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1476 (1) ถึง (8) ไม่ เพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1476 (3) ห้ามจัดการสินสมรสเพียงฝ่ายเดียวเฉพาะการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นสินสมรส ซึ่งไม่รวมถึงการจัดการสิทธิการเช่าซึ่งไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์และไม่เป็นทรัพยสิทธิอันจะถือว่าเป็นอสังหาริมทรัพย์ในตัวเองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 139 ด้วย จึงเป็นอำนาจของจำเลยที่ 1 ที่จะจัดการได้ตามลำพัง โดยมิต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1476 วรรคสอง ดังนั้นแม้จำเลยที่ 1 จะโอนสิทธิการเช่าที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 โดยโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอมก็ตาม โจทก์ก็ไม่อาจจะเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1480 เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว คดีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยในประเด็นที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 อีกต่อไป ส่วนฎีกาข้ออื่นของจำเลย แม้ศาลฎีกาจะวินิจฉัยให้ก็ไม่ทำให้ผลของคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่วินิจฉัยให้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามาชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ