แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายและระบุชื่อกฎหมายไว้ด้วย เป็นข้อที่ศาลจะรับรู้เอง
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยบุกรุกอยู่ในที่พิพาทต่อเนื่องตลอดมาคดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายย้อนหลังไป 1 ปีนับแต่วันฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทยพ.ศ. 2494 จำเลยบังอาจปลูกสร้างโรงเก็บไม้แปรรูปลงในที่ดินของโจทก์โดยมิได้รับอนุญาต ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้ขับไล่และชดใช้ค่าเสียหาย
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่รับรองว่าโจทก์เป็นนิติบุคคล ที่ดินซึ่งจำเลยปลูกสร้างเป็นที่ดินของวัดสว่างวงศ์ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาขับไล่จำเลยและให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายนับแต่วันที่จำเลยบุกรุกเป็นต้นไป จนกว่าจำเลยจะออกจากที่ดินของโจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายนับย้อนหลังจากวันฟ้องขึ้นไป 1 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายและได้ระบุชื่อกฎหมายด้วย จึงเป็นข้อที่ศาลจะรับรู้เอง ตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 บัญญัติว่า ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นนิติบุคคล จึงฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคล
ในปัญหาที่ว่า โจทก์ทราบว่าจำเลยบุกรุกตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2516 เพิ่งมาฟ้องขับไล่จำเลยเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2522 ฟ้องเกิน 1 ปี นับแต่วันจำเลยบุกรุก คดีขาดอายุความนั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นับแต่จำเลยบุกรุก จำเลยอยู่ในที่พิพาทต่อเนื่องตลอดมา ตราบใดที่จำเลยยังอยู่ในที่พิพาท คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายนับย้อนหลังไป 1 ปี ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน