คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1275/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นออกหมายนัดถึงนายประกันให้ส่งตัวจำเลยไปศาลเพื่อฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ แต่ส่งหมายให้นายประกันมิได้ เพราะนายประกันระบุที่อยู่ในคำร้องขอปล่อยชั่วคราวไม่ชัดเจนเพียงพอศาลชั้นต้นจึงแจ้งวันนัดโดยปิดประกาศหน้าศาลแทนซึ่งมีผลใช้ได้ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 79 ฉะนั้นเมื่อนายประกันไม่นำตัวจำเลยไปฟังคำพิพากษาตามกำหนด ต้องถือว่านายประกันผิดสัญญาประกัน
การที่นายประกันผิดสัญญาประกันเป็นเหตุให้ศาลต้องเลื่อนการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไปและออกหมายจับจำเลย ตลอดจนต้องอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ลับหลังจำเลยไปแล้วประมาณ 3 เดือนนายประกันจึงสามารถนำตัวจำเลยส่งศาลได้ นับว่าเป็นการเสียหายต่อกระบวนพิจารณาของศาล เมื่อศาลอุทธรณ์ลดค่าปรับให้กึ่งหนึ่งแล้วจึงไม่มีเหตุสมควรที่จะลดค่าปรับลงไปให้อีกแม้นายประกันจะมิได้เป็นนายประกันอาชีพ และไม่มีความสามารถหาเงินมาชำระค่าปรับได้ก็มิใช่เป็นเหตุผลที่ศาลจะลดค่าปรับให้ เพราะเป็นเรื่องที่นายประกันได้รู้ถึงความผูกพันอยู่แล้วก่อนทำสัญญาประกัน.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งแปดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138, 189, 91 ฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ จำคุกคนละ 15 วัน ฐานช่วยผู้กระทำผิดเพื่อมิให้ถูกจับกุม จำคุกคนละ 1 เดือน จำเลยที่ 6 และที่ 8 อุทธรณ์ โดยมีผู้ประกันยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยตีราคาค่าประกันคนละ 30,000 บาท ต่อมาศาลชั้นต้นนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ แต่ไม่อาจส่งหมายนัดให้แก่ผู้ประกันได้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้แจ้งวันนัดให้ผู้ประกันทราบโดยปิดประกาศไว้ที่หน้าศาลเมื่อถึงวันนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ จำเลยที่ 6 และที่ 8 ไม่มาศาล ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ปรับผู้ประกันเต็มตามสัญญาประกันและออกหมายจับจำเลยที่ 6 และที่ 8 ถึงวันนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ก็ยังไม่ได้ตัวจำเลยมาศาล ศาลชั้นต้นจึงอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้โจทก์ฟัง ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 6 และที่ 8 ไว้ คงให้ลงโทษปรับคนละ 1,000 บาทต่อมาผู้ประกันนำตัวจำเลยที่ 6 และที่ 8 มาชำระค่าปรับตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และยื่นคำร้องขอให้งดปรับผู้ประกันหรือลดค่าปรับ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ผู้ประกันอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับผู้ประกันของจำเลยที่ 6และที่ 8 รวมเป็นเงิน 30,000 บาท
ผู้ประกันฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ประกันว่า สมควรจะลดค่าปรับลงอีกหรือไม่เพียงใด โดยผู้ประกันฎีกาว่า นับแต่วันที่ผู้ประกันขอประกันตัวจำเลยทั้งสองไปในระหว่างอุทธรณ์ เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ของศาลแนะนำให้ผู้ประกันคอยหมายนัดให้มาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ซึ่งจะใช้เวลานานประมาณ 6 เดือน ต่อมาผู้ประกันเห็นว่าระยะเวลาเนิ่นนานแล้วยังไม่ได้รับหมายนัดจากศาล จึงไปสอบถามเจ้าหน้าที่ ทราบว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งปรับผู้ประกันไปแล้วผู้ประกันพยายามขวนขวายในการที่จะทราบกำหนดนัดของศาล ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการติดตามตัวจำเลยมาศาลรวมทั้งต้องเสียค่าปรับแทนจำเลยอีก เนื่องจากจำเลยไม่มีเงินชำระค่าปรับ จึงขอลดค่าปรับลงอีกนั้น เห็นว่า ผู้ประกันได้ทำสัญญาประกันไว้ต่อศาลชั้นต้นตามสัญญาประกัน ฉบับลงวันที่ 18 ธันวาคม 2529ซึ่งตามคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราว ผู้ประกันระบุว่าผู้ประกันอยู่บ้านเลขที่ 188/34 หมู่ที่ 1 แขวงสีกัน เขตบางเขน กรุงเทพมหานครศาลชั้นต้นจึงออกหมายนัดให้ผู้ประกันส่งตัวจำเลยไปศาลเพื่อฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ตามกำหนดเวลานัด แต่ส่งหมายนัดให้ผู้ประกันไม่ได้เพราะไม่ทราบว่าผู้ประกันอยู่ถนนอะไร สอบถามไปรษณีย์แล้วแจ้งว่าบ้านเลขที่ตามหมายนัดไม่มี แสดงว่าการที่ส่งหมายนัดให้ผู้ประกันไม่ได้นั้นเป็นเพราะความผิดของผู้ประกันที่ระบุที่อยู่ของผู้ประกันในคำร้องขอปล่อยชั่วคราวไม่ชัดเจนเพียงพอแก่การส่งหมายนัดได้ ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งแจ้งวันนัดให้ผู้ประกันทราบโดยปิดประกาศไว้ที่หน้าศาล ดังนี้ประกาศแจ้งวันนัดของศาลชั้นต้นดังกล่าวมีผลใช้ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 79 เมื่อผู้ประกันไม่นำตัวจำเลยที่ 6 และที่ 8 ไปฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ตามกำหนดที่ศาลชั้นต้นประกาศนัด ต้องถือว่าผู้ประกันผิดนัดผิดสัญญาประกันต่อศาลแล้ว และการที่ผู้ประกันผิดสัญญาเป็นเหตุให้ศาลชั้นต้นต้องเลื่อนการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไป จนในที่สุดได้ออกหมายจับและอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ลับหลังจำเลยที่ 6และที่ 8 ผู้ประกันเพิ่งจะนำตัวจำเลยที่ 6 และที่ 8 มาศาลหลังจากที่ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์นานประมาณ 3 เดือน นับว่าเป็นการเสียหายต่อกระบวนพิจารณาของศาลไม่มีเหตุสมควรที่จะลดค่าปรับลงอีก ส่วนที่ผู้ประกันอ้างว่า ผู้ประกันมิได้เป็นนายประกันอาชีพ เป็นหม้าย มีอาชีพรับจ้าง มีรายได้พอเลี้ยงชีพ กับมีทรัพย์สินคือที่ดินที่นำมาเป็นหลักประกันเพียงอย่างเดียว ไม่มีความสามารถจะหาเงินมาชำระค่าปรับดังกล่าวได้นั้น เห็นว่า กรณีเป็นเรื่องที่ผู้ประกันได้รู้ถึงความผูกพันอยู่แล้วก่อนทำสัญญาประกันต่อศาล ไม่ใช่เหตุผลที่จะมาขอลดค่าปรับ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ลดค่าปรับลงเหลือเพียง 30,000 บาท นับว่าพอสมควรแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะแก้ไขฎีกาของผู้ประกันฟังไม่ขึ้น’
พิพากษายืน.

Share