คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1274/2501

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฟ้องอ้างว่า โจทก์เป็นบริษัทนิติบุคคลจดทะเบียนในประเทศฝรั่งเศส จำเลยให้การไม่ได้โต้แย้งในข้อนี้ เป็นแต่ให้การว่าโจทก์มิได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลในประเทศไทย ถือว่าจำเลยรับตามข้ออ้างของโจทก์แล้ว
ตัวการมอบอำนาจให้ตัวแทนรวมทั้งอำนาจฟ้องคดี และให้ตั้งตัวแทนช่วงได้ ตัวแทนจึงตั้งตัวแทนช่วง ตัวแทนช่วงฟ้องคดีได้ เพราะมีการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีโดยตรงแล้ว
โจทก์ใช้เครื่องหมายการค้า ฟอร์วิล มา 30 ปี และส่งมาจำหน่ายในประเทศไทยกว่า 20 ปี จึงมีผู้เอาเครื่องหมายนี้ไปจดทะเบียน โดยเจตนาแย่งขายสินค้าแทนของโจทก์ เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต โจทก์ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนได้ตาม พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า 2474 มาตรา 41 ผู้รับโอนจากผู้จดทะเบียนก็ไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า บริษัทโจทก์ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายที่ประเทศฝรั่งเศส มีชื่ออ่านเป็นสำเนียงภาษาไทยว่า”ลาโซซิเอเต้อะนอนิม ปาร์ฟูมฟอร์วิล เอต์เด็นติฟริคซ์ ดูด๊อกเตอร์เปียร์” ตั้งสำนักงานอยู่เลขที่ 4 ถนนเบคเคนัมแตร์ประเทศฝรั่งเศส มีวัตถุประสงค์ทำและจำหน่ายขายน้ำหอมเชื้อน้ำหอม ยาสีฟัน แป้งผง สบู่ และเครื่องบำรุงสุขภาพอนามัย ของด๊อกเตอร์เปียร์กับเครื่องปรุงประกอบสินค้าดังกล่าวข้างต้นนี้ด้วย ซึ่งเป็นสินค้าตามรายการจำพวกที่ 48 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 และได้ใช้เครื่องหมายการค้าว่า “ฟอร์วิล” ซึ่งเป็นชื่อของบริษัทโจทก์ที่ได้จดทะเบียนแล้วสำหรับสินค้าดังกล่าวที่โจทก์ผลิตจำหน่ายบนภาชนะหีบห่อและขวดบรรจุสินค้านั้น โจทก์จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เครื่องหมายการค้า “ฟอร์วิล” มาตั้งแต่จดทะเบียนเป็นบริษัท ฉะนั้น เครื่องหมาย “ฟอร์วิล” จึงเป็นเครื่องหมายอันมีลักษณะบ่งเฉพาะตาม มาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า

โจทก์ได้ทำการผลิตและส่งสินค้าซึ่งมีเครื่องหมาย “ฟอร์วิล” นี้มาจำหน่ายในประเทศไทยติดต่อเรื่อย ๆ เป็นเวลาประมาณ 30 ปีจนเป็นที่รู้จักและนิยมกันแพร่หลายในหมู่พ่อค้าและผู้ซื้อ แต่ในตอนต้น ๆ โจทก์ยังไม่ได้ตั้งตัวแทนทั่วไปในประเทศไทย

ครั้นวันที่ 24 ธันวาคม 2492 นายเตียงฮวด แซ่เอี๊ย เจ้าของร้านรุ่งเรืองพาณิชย์ เลขที่ 1446 ถนนเจริญกรุง ตำบลสีลม อำเภอบางรักจังหวัดพระนคร ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า”ฟอร์วิล” ฉบับเลขที่ 14316 สำหรับเครื่องหอม รวมทั้งเครื่องแต่งผิวกายและฟัน ฯลฯ อันเป็นสินค้าจำพวกเดียวกับของบริษัทโจทก์โจทก์ไม่ทราบ และไม่เห็นประกาศในจดหมายเหตุแสดงรายการเครื่องหมายการค้าเล่มที่ 336 ลงวันที่ 18 พฤษภาคม 2493 หน้า 4295 จึงไม่ได้คัดค้าน เป็นอันว่าได้มีการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า “ฟอร์วิล” ของนายเตียงฮวด แซ่เอี๊ย ผู้ซึ่งไม่มีสิทธิในเครื่องหมายรายนี้เลยแล้วต่อมาก็มีการโอนไปเป็นทอด ๆ คือวันที่ 19 เมษายน 2495 โดยสัญญาลงวันที่ 18 เมษายน 2495 นายเตียงฮวด แซ่เอี๊ย ได้โอนให้นายซุ่นเอี๊ย แซ่ลิ้ม ถนนวาณิช ซอย 1 พระนคร เลขที่ 165-167 โดยสัญญาลงวันที่ 27 มิถุนายน2495 นายซุ่นเอี๊ย แซ่ลิ้ม โอนให้จำเลยเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2495 โดยสัญญาลงวันที่ 27 มีนาคม 2496 จำเลยโอนต่อให้แก่นางกิมยิ้น แซ่ลิ้ม เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2496 และโดยสัญญาลงวันที่ 1 เมษายน 2496 นางกิมยิ้น แซ่ลิ้ม กลับโอนให้แก่จำเลยเมื่อวันที่ 3 เดือนเดียวกันนี้เอง

วันที่ 29 พฤษภาคม 2495 บริษัทโจทก์ได้ตั้งบริษัทแมรี่ จำกัดแห่งพระนคร เป็นตัวแทนทั่วไปในประเทศไทย มีอำนาจเต็มเพื่อดูแลผลประโยชน์ของโจทก์ตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจ และคำแปลหมาย 1-2 ท้ายฟ้อง และเพื่อประโยชน์ของโจทก์ บริษัทแมรี่ จำกัดได้ตั้งนางสาวอีนาเยอร์ เก็นเซ่น ผู้แทนโจทก์ในคดีนี้ โดยหนังสือลงวันที่ 27 เมษายน 2496 ตามสำเนาหมาย 3 ท้ายฟ้อง มอบอำนาจช่วงให้ดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า “ฟอร์วิล” ของโจทก์ สำหรับสินค้าเครื่องหมายดังกล่าวข้างต้น ซึ่งต่อมาในวันที่ 27 เมษายน 2496 นางสาวอีนาเยอร์ เก็นเซ่นก็ได้ยื่นต่อกองเครื่องหมายการค้ากระทรวงเศรษฐการซึ่ง

1. คำขอเลขที่ 20417 ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า “ฟอร์วิล”สำหรับเครื่องหอมจำพวกที่ 48

2. คำขอเลขที่ 20416 ขอจดอักษรโรมันในรูปสี่เหลี่ยมตามฟ้องข้อ 4(2) บนหีบ ห่อ ป้าย ดังปรากฏตามเครื่องหมาย หมาย 4 ท้ายฟ้อง

3. คำขอเลขที่ 20643 ขอจดทะเบียนถ้อยคำสำนวนและชื่อยี่ห้อเครื่องหมายบนกระดาษปิดคาดห่อกันปลอมแปลง ดังปรากฏตามตัวอย่างหมาย 5 ท้ายฟ้อง

แต่นายทะเบียนปฏิเสธไม่ยอมจดให้ทั้ง 3 คำขอ อ้างว่าเหมือนหรือคล้ายกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 18833, 18834, 18837, 19420 และที่ 19421 สั่งให้โจทก์จำเลยไปตกลงกันเองหรือนำคดีสู่ศาล

ผู้แทนบริษัทโจทก์คดีนี้ได้ติดต่อกับจำเลยแล้ว จำเลยไม่ยอมถอนคำขอจดทะเบียนของจำเลย อ้างเหตุว่าอายุเขา

อนึ่ง เพื่อแสดงว่านายเตียงฮวด แซ่เอี๊ย ไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เครื่องหมายการค้ารายพิพาทนี้ จำเลยจึงได้ทำหีบ ห่อเครื่องหมายเลียนแบบโจทก์อย่างคล้ายคลึงกันมากที่สุด จนลวงตาคนซื้อให้หลงเชื่อว่าเป็นสินค้าของบริษัทโจทก์ ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างหมาย 6 (ของจำเลย) ท้ายฟ้อง ซึ่งถ้าเอามาเปรียบเทียบกับตัวอย่างหมาย 4 (ของโจทก์) ท้ายฟ้อง แทบจะไม่รู้ว่าอันไหนเป็นของโจทก์ อันไหนเป็นของจำเลย และยิ่งบุคคลที่อ่านหนังสือโรมันไม่ออก จะไม่ทราบเลย แสดงให้เห็นชัดว่าจำเลยเจตนาเลียนลอกคัดแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์

การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของนายเตียงฮวด แซ่เอี๊ยตามคำขอเลขที่ 14316 (ฟอร์วิล) และที่ได้โอนขายกันต่อ ๆ มาจนถึงจำเลยในบัดนี้ นั้น เมื่อความจริงปรากฏว่าขณะที่นายเตียงฮวดแซ่เอี๊ย ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า “ฟอร์วิล” เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิในเครื่องหมายการค้านี้ดีกว่านายเตียงฮวดแซ่เอี๊ย ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า มาตรา 41 ซึ่งจะขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนของนายเตียงฮวดได้ ฉะนั้น เนื่องจากเหตุที่โจทก์ได้ใช้และเป็นเจ้าของมาก่อนจำเลย ทั้งได้ขายสินค้าในเครื่องหมายการค้านี้ในตลาดแห่งประเทศไทยมาเป็นเวลานานประมาณ 30 ปี อันเป็นเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ได้จดทะเบียนไว้ในประเทศฝรั่งเศสแล้ว ก็ย่อมเป็นการชอบที่คำขอเลขที่ 20416-20417 และเลขที่ 20643 ของผู้แทนโจทก์จะได้รับจดทะเบียน โดยเพิกถอนเครื่องหมายการค้าของจำเลยตามคำขอเลขที่ 14316 ทั้งงดรับจดทะเบียนสำหรับคำขอของจำเลยที่ 18833, 18834, 28837, 19420 กับเลขที่ 19421 ด้วย ขอให้ศาลบังคับตามนี้

จำเลยให้การต่อสู้และฟ้องแย้งมีความสำคัญว่า บริษัทโจทก์ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลในประเทศไทย จะใช้ชื่อบริษัทฟ้องจำเลยต่อศาลไทยไม่ได้ และถ้าหากบริษัทโจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทยแต่นางสาวอีนาเยอร์ เก็นเซ่นเป็นผู้รับมอบอำนาจจากบริษัทแมรี่ จำกัดซึ่งเป็นตัวแทนของบริษัทโจทก์ นางสาวอีนาเยอร์ เก็นเซ่น ไม่อาจลงนามฟ้องแทนบริษัทโจทก์ และลงนามเป็นผู้แต่งตั้งให้ทนายความฟ้องความได้เพราะคดีนี้ไม่ใช่ฟ้องในนามของบริษัทแมรี่ จำกัด ผู้เป็นตัวแทนของบริษัทโจทก์ นางสาวอีนาเยอร์ เก็นเซ่น ก็ไม่อาจลงนามฟ้องความแทนบริษัทโจทก์ และลงนามเป็นผู้แต่งตั้งให้ทนายฟ้องความได้ เพราะคดีนี้มิใช่ฟ้องในนามของบริษัทแมรี่ จำกัดผู้เป็นตัวแทนของบริษัทโจทก์ ตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 824 จึงไม่เป็นฟ้องที่ศาลจะพึงรับไว้พิจารณาอนึ่ง การมอบอำนาจให้ฟ้องความจะต้องแต่งตั้งเฉพาะเรื่อง จะใช้การแต่งตั้งโดยทั่วไป ตามใบแต่งตั้งท้ายฟ้องหาได้ไม่ เพราะเป็นผู้รับมอบอำนาจทั่วไป ต้องห้ามมิให้ฟ้องความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 801 และถ้านางสาวอีนาเยอร์ เก็นเซ่นดำเนินคดีแทนบริษัทโจทก์ได้ จำเลยขอให้การว่าเครื่องหมายการค้า”ฟอร์วิล” นี้เดิมนายเตียงฮวด แซ่เอี๊ย เป็นผู้ได้จดทะเบียนไว้โดยชอบด้วยกฎหมาย นายเตียงฮวดย่อมเป็นเจ้าของ เมื่อต่อมานายเตียงฮวดโอนกรรมสิทธิ์ให้นายซุ่นเอี๊ย แซ่ลิ้ม นายซุ่นเอี๊ยโอนให้จำเลยจำเลยโอนให้นางกิมยิ้น แซ่ลิ้ม แล้วนางกิมยิ้นกลับโอนให้จำเลยอีกเปลี่ยนกรรมสิทธิ์กันต่อ ๆ มาดังนี้ เครื่องหมายการค้า “ฟอร์วิล”จึงเป็นของจำเลยโดยชอบ และจำเลยมีสิทธิใช้เป็นเครื่องหมายสำหรับสินค้าจำพวกที่ได้จดทะเบียน ดังปรากฏตามสำเนาเอกสารเรื่องเครื่องหมายการค้า “ฟอร์วิล” ท้ายคำให้การ โจทก์จะได้เคยใช้เครื่องหมายการค้ามาพ้องกับจำเลยเวลาช้านานเท่าใด จำเลยไม่ทราบจึงขอให้พิพากษายกฟ้อง และบังคับดังนี้

1. แสดงว่าจำเลยผู้เดียวมีสิทธิเป็นเจ้าของชื่อเครื่องหมายการค้า “ฟอร์วิล”

2. ให้โจทก์งดขาย (สินค้า) และงดใช้เครื่องหมายนี้

3. ให้โจทก์เสียค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนจำเลย

โจทก์ให้การฟ้องแย้งมีสารสำคัญดังคำฟ้องเดิมของโจทก์ คือย้ำว่า เมื่อเครื่องหมายการค้า “ฟอร์วิล” เป็นของบริษัทโจทก์มาก่อนนายเตียงฮวดลอบเอาไปจดทะเบียนโดยโจทก์ไม่ทราบและไม่ยินยอมทั้งจำเลยได้พยายามเลียนแบบทุกสิ่งทุกอย่างของโจทก์ต่อมาอีกโจทก์ก็มีสิทธิที่จะขอให้ศาลเพิกถอนการจดทะเบียนนั้นเสียได้ ฯลฯ

แล้วต่อมา โจทก์จำเลยต่างยื่นคำร้องขอแก้เพิ่มเติมฟ้องและคำให้การฟ้องแย้งอีกคนละคราว โจทก์ขอใส่อัญญประกาศกำกับ คำว่า”ฟอร์วิล” ทุกแห่งในคำฟ้อง เพื่อให้เห็นเด่นชัดแทนอักษรโรมันตัวใหญ่เติมประโยคต่อท้ายข้อ 3 เป็นวรรคที่ 5 ว่า การโอนเครื่องหมายการค้า “ฟอร์วิล” ของนายเตียงฮวดต่อ ๆ มาจนถึงจำเลยในบัดนี้เป็นการสมยอม และไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 กับเพิ่มคำขอท้ายฟ้องเป็นข้อ 5 ให้ห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้า “ฟอร์วิล” บนสินค้าจำเลย ทั้งไม่ให้จำเลยใช้กระดาษหีบห่อเลียนหีบห่อและกระดาษคาดหีบห่อของโจทก์ต่อไป

จำเลยเพิ่มเติมคำให้การฟ้องแย้งว่า การมอบอำนาจให้ฟ้องคดีตามฟ้องของโจทก์นั้น จะเท็จจริงประการใด จำเลยไม่รับรอง ฝ่ายจำเลยได้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยโจทก์ทราบแล้ว หามีการคัดค้านอย่างไรไม่ กับว่าจำเลยเป็นหญิงหม้าย

คำขอแก้เพิ่มเติมเหล่านี้ นอกจากจำเลยแถลงในรายงานกระบวนพิจารณาว่าการโอนเครื่องหมายการค้า “ฟอร์วิล” ของฝ่ายจำเลยมิได้เป็นไปโดยสมยอมแล้ว โจทก์จำเลยไม่ติดใจแก้กันประการใดอีก

เมื่อศาลแพ่งทำการพิจารณาเสร็จตั้งประเด็นวินิจฉัย 2 ข้อ

1. บริษัทโจทก์ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศไทย จะมีอำนาจฟ้องคดี (ในศาลไทย) หรือไม่ และการมอบอำนาจของบริษัทโจทก์แก่บริษัทแมรี่ จำกัด บริษัทแมรี่ จำกัด มอบต่อให้นางสาวอีนาเยอร์ เก็นเซ่น นั้น นางสาวอีนาเยอร์ เก็นเซ่นจะมีอำนาจฟ้องคดีหรือไม่

2. บริษัทโจทก์มีสิทธิจะขอให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้า “ฟอร์วิล” ซึ่งนายเตียงฮวดขอจดทะเบียนไว้ก่อน และได้โอนไปยังจำเลยแล้วหรือไม่

สำหรับประเด็นข้อ 1 เห็นว่า เมื่อโจทก์กล่าวว่าบริษัทโจทก์ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลในประเทศฝรั่งเศส จำเลยมิได้คัดค้านมีแต่ข้อต่อสู้ว่า บริษัทโจทก์ยังไม่ได้จดทะเบียนนิติบุคคลในประเทศไทยก็ยังไม่มีอำนาจฟ้องคดีในศาลไทย ข้อนี้พยานหลักฐานของโจทก์ฟังได้ว่า บริษัทโจทก์ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลในประเทศฝรั่งเศสสมจริง เพราะฉะนั้น โจทก์ก็มีอำนาจฟ้องคดีในศาลไทยได้เช่นเดียวกับบุคคลธรรมดาสัญชาติฝรั่งเศสที่เข้ามาถูกฟ้องหรือฟ้องคดีในประเทศไทย ฉะนั้น

สำหรับการมอบอำนาจของบริษัทโจทก์ให้บริษัทแมรี่ จำกัด ก็ดีและการมอบอำนาจของบริษัทแมรี่ จำกัด ให้นางสาวอีนาเยอร์เก็นเซ่นก็ดีได้พิเคราะห์ใบมอบอำนาจกับคำแปลนั้นแล้ว ระบุชัดว่าบริษัทโจทก์ได้มอบอำนาจให้บริษัทแมรี่ จำกัด ทุกอย่าง เพื่อป้องกันสิทธิตลอดจนการฟ้องร้องคดี ละเมิด และให้บริษัทแมรี่ จำกัดมีอำนาจตั้งตัวแทนช่วงเพื่อดำเนินการแทนได้ทุกอย่างด้วย บริษัทแมรี่จำกัด จึงตั้งนางสาวอีนาเยอร์ เก็นเซ่นเป็นตัวแทนช่วง มอบอำนาจให้ทำการได้ทุกอย่างดุจกัน ฉะนั้น นางสาวอีนาเยอร์ เก็นเซ่นมีอำนาจฟ้องคดีผู้ละเมิดสิทธิของบริษัทโจทก์โดยไม่จำเป็นที่จะต้องได้รับมอบอำนาจเฉพาะอย่าง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 801 อีก

ในประเด็นข้อที่ 2 ฟังข้อเท็จจริงว่า “ฟอร์วิล” เป็นชื่อเครื่องหมายการค้าของบริษัทโจทก์ และบริษัทโจทก์ได้ส่งเครื่องหอมฯซึ่งตนผลิตใช้ชื่อคำคำนี้เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยจนเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายกว่า 10 ปี คือนับตั้งแต่เวลาที่ห้างขายยาอังกฤษตรางูเป็นผู้เริ่มสั่งเข้ามาในสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 และห้างนี้ได้สั่งเป็นงวดสุดท้าย เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2490อันเป็นเวลาก่อนนายเตียงฮวดเอาคำว่า “ฟอร์วิล” ไปขอจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าของนายเตียงฮวด เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2492 การกระทำของนายเตียงฮวดเห็นได้ว่าไม่สุจริตต่อโจทก์ เพราะไม่ชั่วแต่จะใช้ คำว่า “ฟอร์วิล” พ้องกับโจทก์แต่อย่างเดียว กระปุกบรรจุน้ำมันใส่ผม ฝากระปุก ตลอดจนกล่องกระดาษ ก็ทำเลียนแบบบริษัทโจทก์ทั้งสิ้น อนึ่ง การที่เจ้าพนักงานรับจดทะเบียนให้นายเตียงฮวดจะสันนิษฐานเด็ดขาดว่า นายเตียงฮวดมีสิทธิดีกว่าผู้อื่นเสมอไปไม่ได้เพราะพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 41 ยังให้โอกาสผู้มีส่วนได้เสียที่จะขอให้ศาลเพิกถอนอยู่ สรุปแล้วเมื่อการกระทำของนายเตียงฮวดเป็นละเมิดต่อบริษัทโจทก์นายเตียงฮวดไม่มีสิทธิดีกว่าโจทก์ จำเลยซึ่งเป็นผู้รับโอนเครื่องหมายนี้เป็นทอด ๆ จากนายเตียงฮวดไปเป็นคนสุดท้าย ก็ไม่มีสิทธิดีกว่าโจทก์

เพราะฉะนั้น โดยอาศัยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474มาตรา 41 พิพากษาว่า เครื่องหมายการค้า “ฟอร์วิล” ซึ่งพิพาทกันในคดีนี้เป็นของโจทก์ และโจทก์มีความชอบธรรมที่จะใช้ ให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 14316 ของจำเลยห้ามไม่ให้จำเลยใช้เครื่องหมายการค้า “ฟอร์วิล” บนสินค้าของจำเลยและไม่ให้จำเลยใช้หีบ ห่อ กระดาษคาดหีบ ห่อ เลียนแบบหีบ ห่อ และกระดาษคาดหีบห่อของโจทก์อีกต่อไป กับให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามคำขอเลขที่ 20416, 20417, 20643 ฟ้องแย้งของจำเลยให้ยกเสีย พร้อมทั้งให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแก่โจทก์ด้วย

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนฟังคำแถลงการณ์ และประชุมปรึกษาคดีนี้แล้วในประเด็นข้อ 1 จำเลยฎีกาคัดค้านว่า ศาลอุทธรณ์ฟังพยานบุคคลในข้อที่ว่าโจทก์เป็นนิติบุคคล โดยไม่ปรากฏว่ามีตราสารจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแต่อย่างใด จึงไม่มีสิทธิฟ้องดำเนินกระบวนพิจารณาได้นั้นศาลฎีกาได้พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า เมื่อโจทก์ฟ้องว่าบริษัทโจทก์ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลในประเทศฝรั่งเศส จำเลยก็มิได้ให้การแก้คดีเป็นประเด็นโต้แย้งไว้อย่างใดไม่ จึงต้องถือว่าจำเลยยอมรับ ทั้งได้ความจากพยานหลักฐานโจทก์รวมทั้งนายจังเยโรนีมีทูตการค้าสถานทูตฝรั่งเศสว่า บริษัทโจทก์ในคดีนี้ พยานรู้จักบริษัทตั้งอยู่ในปารีส ประเทศฝรั่งเศส ทำเครื่องสำอางค์ ใช้เครื่องหมายการค้าว่า “ฟอร์วิล” กว่า 30 ปีเศษ เครื่องสำอางค์”ฟอร์วิล” นี้ เป็นที่นิยมมากในประเทศฝรั่งเศส บริษัทโจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า “ฟอร์วิล” ไว้ในประเทศฝรั่งเศสและยังคงใช้อยู่จนบัดนี้ ฉะนั้น ฎีกาของจำเลยข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น

ข้อ 2 จำเลยฎีกาว่า บริษัทแมรี่ จำกัดในประเทศไทยเป็นตัวแทนทั่วไปของบริษัทโจทก์ที่ประเทศฝรั่งเศส แต่บริษัทแมรี่ จำกัดเป็นผู้มอบอำนาจให้นางสาวอีนาเยอร์ เก็นเซ่น เป็นตัวแทนช่วงนางสาวอีนาเยอร์ เก็นเซ่น จึงเป็นตัวแทนฟ้องคดีนี้แทนบริษัทแมรี่ จำกัด เท่านั้น และใบแต่งตั้งตัวแทนของบริษัทแมรี่ จำกัด ไม่ได้ระบุว่าให้ฟ้องคดีได้ นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อบริษัทแมรี่ จำกัด ตั้งให้นางสาวอีนาเยอร์ เก็นเซ่นตัวแทนช่วงนั้น คำว่า ตัวแทนช่วงก็คือตัวแทนของตัวการเดิม ซึ่งตัวแทนเดิมมีอำนาจใช้ตัวแทนช่วงทำการได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 808 ทั้งมาตรา 814 ก็ได้บัญญัติไว้ว่า “ตัวแทนช่วงย่อมรับผิดโดยตรงต่อตัวการฉันใดกลับกันก็ฉันนั้น” ฉะนั้น นางสาวอีนาเยอร์ เก็นเซ่น จึงเป็นตัวแทนโดยตรงของบริษัทโจทก์ตามที่บริษัทแมรี่ จำกัด แต่งตั้งไว้ส่วนข้อที่จำเลยว่าใบแต่งตั้งตัวแทนของบริษัทแมรี่ จำกัด ไม่ได้ระบุให้นางสาวอีนาเยอร์ เก็นเซ่น ฟ้องคดีได้ นั้น ศาลฎีกาได้พิเคราะห์คำแปลเอกสารหมาย 2 ท้ายฟ้อง ซึ่งเป็นสำเนาหนังสือมอบอำนาจของบริษัทโจทก์แก่บริษัทแมรี่ จำกัด และเอกสารหมาย 3 ท้ายฟ้องคำแปลหนังสือมอบอำนาจช่วง ซึ่งบริษัทแมรี่ จำกัด เป็นผู้มอบอำนาจให้นางสาวอีนาเยอร์ เก็นเซ่น เป็นตัวแทนช่วงที่โจทก์อ้าง และจำเลยมิได้คัดค้านแล้วเห็นว่า บริษัทแมรี่ จำกัด ได้รับมอบอำนาจมาให้ฟ้องร้องการละเมิดสิทธิใด ๆ ต่อบริษัทโจทก์ และเพื่อวัตถุประสงค์อันนี้ ให้บริษัทแมรี่ จำกัด มีอำนาจที่จะมอบหมายอำนาจทั้งมวลให้แก่ผู้แทนช่วงคนหนึ่งคนใดได้ตามแต่ที่เห็นสมควรได้ด้วย ฯลฯ แล้วบริษัทแมรี่ จำกัด ได้มอบอำนาจให้นางสาวอีนาเยอร์เก็นเซ่น เป็นตัวแทนช่วง ซึ่งในหนังสือมอบอำนาจของบริษัทโจทก์ได้มอบอำนาจให้บริษัทแมรี่ จำกัด มีอำนาจฟ้องคดีได้ด้วย ฉะนั้นศาลฎีกาเห็นว่า นางสาวอีนาเยอร์ เก็นเซ่น มีอำนาจดำเนินคดีฟ้องร้องผู้ละเมิดสิทธิของบริษัทโจทก์ต่อศาลได้ โดยกรณีไม่อยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 801 เพราะได้มีการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีโดยตรงแล้ว ซึ่งหาใช่เป็นการมอบอำนาจทั่วไปไม่ระบุกิจการไม่

ข้อ 3 (ก) ที่จำเลยฎีกาว่า เครื่องหมาย “ฟอร์วิล” เป็นของบริษัทโจทก์ แต่โจทก์มิได้อ้างใบจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า”ฟอร์วิล” ในประเทศฝรั่งเศสมาพิสูจน์ คงสืบแต่พยานบุคคล ซึ่งเท่ากับพยานบอกเล่านั้น ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้พยานโจทก์มีนายจังเยโรนีมีทูตการค้า สถานทูตฝรั่งเศสเบิกความว่า บริษัทโจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า “ฟอร์วิล” ไว้ในประเทศฝรั่งเศสด้วย ใช้เครื่องหมายการค้าว่า “ฟอร์วิล” มากว่า 30 ปีเศษ และยังคงใช้อยู่จนบัดนี้ ทั้งจำเลยก็ไม่มีพยานมาสืบหักล้างในข้อนี้ ฉะนั้นศาลฎีกาเชื่อว่าเครื่องหมาย “ฟอร์วิล” เป็นของโจทก์

(ข) ที่จำเลยฎีกาว่า ที่ศาลล่างฟังว่าสินค้าเครื่องหมายการค้า “ฟอร์วิล” ได้ส่งเข้ามาในประเทศไทยก่อนนายเตียงฮวดจดทะเบียน”ฟอร์วิล” ไม่น้อยกว่า 10 ปี แต่มีพยานเดี่ยว ๆ ลอย ๆ น่าจะอ้างใบส่งสินค้าบ้างก็ไม่มี นั้น ได้ความจากนายจังเยโรนีมี ทูตการค้าสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส พยานโจทก์ว่า บริษัทโจทก์ตั้งอยู่ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ผลิตเครื่องหอมใช้เครื่องหมายการค้าตามที่ได้จดทะเบียนไว้ในประเทศนั้น ว่า “ฟอร์วิล” มากว่า 30 ปีเศษและส่งออกจำหน่ายทั้งในและนอกประเทศเป็นที่นิยมแพร่หลาย สำหรับประเทศไทยทราบจากสถิติในสำนักงานของรัฐบาลฝรั่งเศส ซึ่งพยานทำงานอยู่ว่า ได้ส่งเข้ามาจำหน่ายตั้งแต่ ค.ศ. 1937 หรือ พ.ศ. 2480 และมาทราบตามทะเบียนของสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสในประเทศไทยอีกว่าห้างขายยาตรางูเป็นผู้สั่ง และได้ความจากนายแสง พยานโจทก์ ซึ่งเป็นคนทำงานห้างขายยาอังกฤษตรางูนานกว่า 20 ปี ตั้งแต่หน้าที่ขายสินค้าหน้าร้านจนเวลานี้อยู่ในแผนกอำนวยการห้าง ว่า ห้างขายยาอังกฤษตรางูขายเครื่องสำอางค์ “ฟอร์วิล” ซึ่งทำในประเทศฝรั่งเศสตั้งแต่ก่อนสงคราม (โลกครั้งที่ 2) ขายปลีกและขายส่ง ทั้งนายย่ามเซ็นคนขายของหน้าห้างใต้ฟ้าพระนคร นาน 12-13 ปีก็เบิกความว่า พยานขายสินค้าเครื่องหอมของห้างนี้ซึ่งมีอยู่ราวสองสามร้อยชนิด เฉพาะเครื่องหอม “ฟอร์วิล” ขายแต่ที่ทำมาจากประเทศฝรั่งเศส เช่น น้ำมันใส่ผมบรรจุกล่องหมาย จ.16 กับ จ.19 (ของโจทก์) ส่วนหมาย จ.17 และ จ.20(ของจำเลย) เป็นน้ำมันใส่ผม “ฟอร์วิล” ทำในประเทศไทยไม่ได้ขายและสำหรับเครื่องสำอางค์ “ฟอร์วิล” ที่ทำในประเทศไทย นั้นพยานเพิ่งเริ่มเห็นเมื่อ 2 ปี นี้เอง นอกจากนั้นยังได้ความจากนางสาวอีนาเยอร์ เก็นเซ่น นายเอี่ยมเค้งเจ้าของบริษัทแมรี่ จำกัดนายหมุยเซ้งคนทำงานในบริษัทแมรี่ จำกัด และนายประจงค์คนทำงานในบริษัทเยอร์เก็นเซ่น พยานโจทก์ว่า เครื่องหอม “ฟอร์วิล” ที่ทำในประเทศฝรั่งเศสได้ส่งเข้ามาจำหน่ายแพร่หลายในประเทศไทยตั้งแต่สมัยก่อนสงคราม ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีเครื่องหอม “ฟอร์วิล” ทำในประเทศไทย ที่ตัวจำเลยนำสืบว่า เครื่องหมายการค้า “ฟอร์วิล”นี้ นายเตียงฮวดผู้จดทะเบียนเป็นคนคิดขึ้นเอง นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยไม่มีหลักฐานอันใดประกอบ แม้แต่จะนำตัวนายเตียงฮวดมาสืบก็ไม่ได้คำว่า “ฟอร์วิล” เป็นชื่อเฉพาะของบริษัทโจทก์ และการที่นายเตียงฮวดได้ประดิษฐ์เครื่องหมาย “ฟอร์วิล” มีลักษณะรูปพรรณเป็นอย่างเดียวกับเครื่องหมาย “ฟอร์วิล” ของบริษัทโจทก์ นั้นจำเลยไม่มีพยานหลักฐานหักล้างฝ่ายโจทก์ว่าเครื่องหมาย “ฟอร์วิล”ของนายเตียงฮวด จะได้เคยมีขายมาก่อนหรือใกล้ชิดเวลาที่เครื่องหอม”ฟอร์วิล” ของโจทก์ได้ส่งเข้ามาขายในตลาดประเทศไทย ฉะนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า แม้โจทก์จะไม่มีพยานเอกสาร เช่น ใบขนสินค้ามาอ้างข้อเท็จจริงก็ฟังได้ว่า นายเตียงฮวดได้เอา “ฟอร์วิล” ของโจทก์ไปจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าของตนหาใช่โจทก์เป็นผู้เลียนแบบนายเตียงฮวดไม่

ข้อ 4 (ก) เรื่องที่จำเลยฎีกาว่า เครื่องหมายการค้าของนายเตียงฮวดรายพิพาทนี้ เจ้าพนักงานจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า”ฟอร์วิล” ให้นายเตียงฮวด ได้ประกาศในหนังสือจดหมายเหตุแสดงเครื่องหมายการค้า เล่มที่ 336 ฉบับวันที่ 18 พฤษภาคม 2493 เมื่อโจทก์มิได้คัดค้านภายในกำหนด 3 เดือน จนเจ้าพนักงานรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าลงในทะเบียนแล้ว เครื่องหมายการค้า”ฟอร์วิล” นี้ก็ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของนายเตียงฮวด นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าการที่เจ้าพนักงานรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของนายเตียงฮวดนั้น ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า มาตรา 27 ก็ให้สิทธินายเตียงฮวดเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า “ฟอร์วิล” อยู่แล้วแต่ผู้มีส่วนได้เสียอาจร้องขอให้เพิกถอน การจดทะเบียนได้ ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 41 ซึ่งโจทก์ได้ขอให้บังคับตามฟ้องแล้ว ทั้งจำเลยก็ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่านายเตียงฮวดได้คิดประดิษฐ์เครื่องหมาย “ฟอร์วิล” นี้ขึ้นเองแม้นายเตียงฮวดก็ไม่ได้มาเบิกความเป็นพยานให้ เห็นความสุจริตของนายเตียงฮวด

(ข) จำเลยฎีกาว่า เมื่อนายเตียงฮวดโอนเครื่องหมายการค้านี้ผู้รับโอนย่อมมีสิทธิดีกว่านายเตียงฮวด โดยอาศัยสิทธิแห่งเครื่องหมายการค้านั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ผู้รับโอนย่อมไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน ถ้ากรณีใดกฎหมายประสงค์จะคุ้มครองสิทธิของผู้รับโอนเพื่อใช้ยันเจ้าของก็ต้องบัญญัติไว้โดยชัดแจ้ง เช่น สิทธิของบุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินโดยสุจริตตามคำสั่งศาลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1330 ฯลฯ ฉะนั้น จำเลยผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน คือ นายเตียงฮวด

(ค) จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่ได้กล่าวในฟ้องว่าจำเลยลวงขายสินค้าของจำเลยว่าเป็นสินค้าของผู้อื่น (คือ โจทก์) จะฟ้องเพิกถอนเครื่องหมายการค้าไม่ได้ ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 29 นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องในข้อ 5 แล้วว่า”เพื่อแสดงว่า จำเลยหรือนายเตียงฮวดไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เครื่องหมายการค้ารายพิพาทนี้ จำเลยจึงทำหีบห่อเครื่องหมายการค้าเลียนแบบของโจทก์อย่างคล้ายคลึงกันมากที่สุด จนลวงตาคนซื้อให้หลงเชื่อว่าเป็นสินค้าของโจทก์” ทั้งตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 29 วรรค 2 ซึ่งได้ไขความวรรคหนึ่งที่ห้ามมิให้ผู้ใดนำคดีสู่ศาลเพื่อป้องกันหรือเรียกค่าเสียหายในการล่วงสิทธิเครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนไว้ว่าข้อความในพระราชบัญญัตินี้ไม่กระทบถึงสิทธิในการฟ้องคดี ซึ่งจำเลยเอาสินค้าของจำเลยไปลวงขายว่าเป็นสินค้าของผู้อื่น และไม่ตัดสิทธิทางแก้อันผู้เสียหายจะพึงมี

(ง) จำเลยฎีกาว่า ศาลล่างพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี โดยอาศัยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 41 ไม่ถูก เพราะกรณีต้องด้วย มาตรา 29 นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า มาตรา 27 บัญญัติว่า”ภายในบังคับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ บุคคลผู้ใดจดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น ท่านให้ถือว่าเป็นเจ้าของมีสิทธิผู้เดียวเพื่อใช้เครื่องหมายสำหรับสินค้าทั้งหมดในจำพวกหนึ่งหรือหลายจำพวกที่ได้จดทะเบียนไว้” และมาตรา 29 บัญญัติว่า”เมื่อได้ใช้พระราชบัญญัตินี้ห้าปีแล้ว ท่านว่าผู้ใดจะนำคดีสู่ศาลเพื่อป้องกัน หรือเรียกค่าเสียหายในการล่วงสิทธิเครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนนั้นไม่ได้” เห็นได้ว่า แม้มาตรา 27 ให้ความเป็นเจ้าของแก่ผู้ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าแล้วก็ดีแต่ก็ไม่เด็ดขาด ยังรับรองว่า เครื่องหมายการค้านั้นบุคคลอื่นอาจมีสิทธิดีกว่า โดยทางใดทางหนึ่งก็ได้อยู่อีก จึงได้บัญญัติมาตรา 41 คุ้มครองไว้ ที่โจทก์ฟ้องคดีตั้งข้อพิพาทมาตาม มาตรา 41(ฟ้องข้อ 6) ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เห็นว่าโจทก์สืบสมและพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีตาม มาตรา 41 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย

(จ) จำเลยฎีกาว่า เมื่อจำเลยเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า “ฟอร์วิล” แล้ว จำเลยย่อมมีสิทธิจะแก้ไขเพิ่มเติมสิ่งอุปกรณ์แห่งเครื่องหมายนี้ และขอจดทะเบียนดังที่ได้ยื่นไว้แล้วได้ด้วย นั้นทางพิจารณาได้ความว่า เมื่อบริษัทแมรี่ จำกัด เป็นผู้แทนโจทก์แล้วและได้มีเครื่องหอมในเครื่องหมายการค้า “ฟอร์วิล” ทำในประเทศไทยจำหน่ายอยู่ตามร้านค้าดาดดื่น บริษัทแมรี่ จำกัด จึงรายงานให้บริษัทโจทก์ทราบบริษัทโจทก์จึงทำสลากเพิ่มพิเศษกันปลอม ปิดคาดกล่องบรรจุกระปุกครีมหรือน้ำมันใส่ผม หมาย จ.16 ของบริษัทโจทก์มีตัวอักษรโรมันสีแดงชื่อบริษัทแมรี่ จำกัด แสดงเด่นอยู่ในสลากขึ้นต่อมาอีก 3 เดือน ทางฝ่ายเครื่องหอม “ฟอร์วิล” ที่ทำในประเทศไทยก็มีสลากรูปพรรณสีอย่างเดียวกันปิดคาดกล่องบรรจุกระปุกครีมใส่ผมบ้าง คือ หมาย จ.17 แม้ฝาเกลียวทองเหลืองของกระปุกครีมนี้ซึ่งเดิมบริษัทโจทก์พิมพ์อักษรโรมันตัวนูนขนาดเขื่องว่า “ฟอร์วิล”เฉย ๆ ไว้ตรงกลาง แล้วเพิ่มอักษรโรมันตัวนูนขนาดเล็กว่า “เมด อิน ฟรานซ์” (“Made in France”) ภายใต้คำว่า “ฟอร์วิล” เพื่อให้เป็นที่สังเกตแตกต่างออกไปแล้วฝากระปุกครีมใส่ผมที่ทำในประเทศไทยก็เลียนแบบโดยพิมพ์อักษรโรมันขนาดและลักษณะอย่างเดียวกันว่า”เพรส์ อ๊อฟ ฟรานซ์” (Pres of France) ภายใต้คำว่า “ฟอร์วิล”อีก ผู้แข่งกับโจทก์จำเลยซึ่งได้รับโอนเครื่องหมายการค้า “ฟอร์วิล”จากนายเตียงฮวดผู้ขอจดทะเบียนมาเป็นช่วงที่ 4 ตามลำดับบุคคลและวัน เดือนปี ตามฟ้องข้อ 3 ด้วยเหตุนี้จึงทำให้บริษัทโจทก์โดยบริษัทแมรี่ จำกัด ตัวแทนตั้งนางสาวอีนาเยอร์ เก็นเซ่น เป็นตัวแทนช่วงให้ดำเนินการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้า”ฟอร์วิล” ของบริษัทโจทก์ ซึ่งนางสาวอีนาเยอร์ เก็นเซ่น ก็ได้ยื่นคำขอจดทะเบียน 3 รายการ คือ

ฉบับหมายเลขที่ 20417 ขอจดคำ “ฟอร์วิล” เป็นเครื่องหมายการค้าเครื่องหอมจำพวกที่ 48 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ

ฉบับหมายเลขที่ 20416 ขอจดแผ่นป้ายตามตัวอย่างท้ายฟ้องหมายเลข 4 สำหรับปิดหีบห่อสินค้า “ฟอร์วิล”

และฉบับเลขที่ 20643 ขอจดกระดาษเครื่องหมายตามตัวอย่างท้ายฟ้องหมายเลข 5 สำหรับปิดคาดทับภายนอกหีบห่ออีกชั้นหนึ่ง

จำเลยก็ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนสิ่งอันเป็นอุปกรณ์สำหรับสินค้า “ฟอร์วิล” ทำนองเดียวกับที่โจทก์ขอจด 2 รายการหลัง แต่เพิ่มเป็น5 รายการ นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเห็นว่าสิ่งที่ทั้งสองฝ่ายขอจดเหมือนและคล้ายคลึงกันมากที่สุด ยังไม่ยอมรับจดทางฝ่ายใดโจทก์จึงฟ้องคดีให้ศาลชี้ขาด

ศาลฎีกาเชื่อว่า จำเลยมีเจตนาลวงขายสินค้าของตนเป็นสินค้าของโจทก์ โดยพฤติการณ์ที่จำเลยติดตามเลียนแบบโจทก์ตลอดมา เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่านายเตียงฮวดได้นำเอาคำ “ฟอร์วิล” ซึ่งบริษัทโจทก์ใช้เป็นเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าจำพวกที่ 48 ของบริษัทโจทก์อยู่ก่อนแล้วไป จดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าจำพวกเดียวกับของตน ประดิษฐ์เหมือนกันไม่ผิดเพี้ยนเช่นนี้ เห็นได้ว่าจำเลยมีเจตนาแย่งขายสินค้าแทนที่บริษัทโจทก์จึงเป็นการกระทำในการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5 โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้า “ฟอร์วิล”ดีกว่าจำเลย ฉะนั้น โจทก์ผู้มีส่วนได้เสียอาจร้องขอให้ศาลเพิกถอนการจดทะเบียนเสียได้ ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯมาตรา 41(1) ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้วฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น

จึงพิพากษายืน และให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นศาลฎีกา 800 บาทแทนโจทก์ด้วย

Share