แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
จำเลยให้การรับสารภาพด้วยความสมัครใจ การที่จำเลยทั้งสองขอแก้คำให้การเป็นให้การปฏิเสธ โดยอ้างเหตุเพียงว่าบุคคลภายนอกที่ตกลงชดใช้ค่าเสียหายแทนจำเลยทั้งสองไม่ยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ และอ้างว่าจำเลยทั้งสองมีพยานหลักฐานที่จะแสดงได้ว่ามิได้กระทำความผิดตามฟ้อง จึงถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีมีเหตุอันควรที่จะอนุญาตให้จำเลยทั้งสองแก้คำให้การได้
โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่า จำเลยที่ 2 ในฐานะกรรมการบริษัท ช. แจ้งความเท็จต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทและเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารของบริษัทดังกล่าว ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นได้รับความเสียหาย โดยโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำความผิดหรือร่วมกระทำความผิด อันเป็นการประสงค์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดตามคำฟ้องข้อนี้ด้วย การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามคำฟ้องข้อนี้ด้วยและศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน จึงเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง อันเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 กับฐานแจ้งความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน แม้การกระทำดังกล่าวเป็นเหตุให้โจทก์ถูกถอนชื่อออกจากบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น แต่ที่โจทก์เรียกให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเท่ากับราคาหุ้นต่อหน่วยรวมเป็นเงิน 8,000,000 บาท ไม่ใช่ความเสียหายที่เป็นผลโดยตรงมาจากการกระทำอันเป็นความผิดทั้งสองฐานตามฟ้อง จึงมิใช่คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาที่โจทก์จะขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ให้ในคดีนี้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งประทับฟ้องอันเป็นการรับฟ้องในคดีส่วนแพ่งด้วยจึงเป็นการมิชอบ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 42 (1) (2) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 137 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้เงินคืนแก่โจทก์ 8,000,000 บาท ศาลชั้นต้นให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา จำเลยทั้งสองขอถอนคำให้การ และให้การใหม่เป็นรับสารภาพ ต่อมาในวันนัดฟังคำพิพากษา จำเลยทั้งสองขอถอนคำให้การเดิม โดยขอให้การใหม่เป็นปฏิเสธ ศาลชั้นต้นไม่อนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 42 (1) (2) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนฯ กับฐานแจ้งความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยทั้งสองกระทงละ 10 เดือน รวมสองกระทงจำคุกคนละ 20 เดือน จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 10 เดือน
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อแรกว่า มีเหตุอันควรอนุญาตให้จำเลยทั้งสองแก้คำให้การหรือไม่ จำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยทั้งสองดำเนินคดีโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์เพราะหลงเชื่อบุคคลภายนอกที่ตกลงชดใช้เงินให้แก่โจทก์ จึงถอนคำให้การเดิมที่ปฏิเสธเป็นรับสารภาพ ทั้งที่ไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดและจำเลยทั้งสองไม่มีเจตนาประวิงคดีนั้น ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นฉบับลงวันที่ 23 มิถุนายน 2555 ว่า ในระหว่างที่โจทก์อ้างตนเองเข้าเป็นพยานเบิกความ ศาลชั้นต้นไกล่เกลี่ยคู่ความจนจำเลยทั้งสองยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ 3,000,000 บาท แบ่งชำระเป็น 3 งวด และเมื่อจำเลยทั้งสองชำระเงินครบถ้วนแล้วโจทก์จะถอนฟ้อง โดยจำเลยทั้งสองถอนคำให้การเดิมที่ให้การปฏิเสธเป็นรับสารภาพ ต่อมาในวันนัดฟังคำพิพากษาซึ่งตรงกับวันนัดชำระเงินงวดแรก จำเลยทั้งสองกลับแถลงต่อศาลชั้นต้นว่าบุคคลภายนอกที่ตกลงเป็นผู้ชดใช้ค่าเสียหายปฏิเสธโดยผลักภาระให้จำเลยทั้งสองรับผิดชอบ และจำเลยทั้งสองมีพยานหลักฐานที่จะแสดงได้ว่ามิได้กระทำความผิดตามฟ้องนั้น การที่จำเลยทั้งสองอ้างว่ารับสารภาพโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์เพราะหลงเชื่อบุคคลภายนอกที่ตกลงชดใช้เงินให้แก่โจทก์จึงให้การรับสารภาพ เป็นข้อตกลงระหว่างจำเลยทั้งสองกับบุคคลภายนอกซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาล จำเลยทั้งสองมีทนายความเข้าว่าต่างแก้ต่างเพื่อรักษาสิทธิของจำเลยทั้งสอง และทนายจำเลยทั้งสองมาศาลด้วยในวันที่จำเลยทั้งสองขอแก้ไขคำให้การ ทั้งตามคำแถลงของคู่ความมีข้อตกลงว่า โจทก์จะถอนฟ้องต่อเมื่อจำเลยทั้งสองชำระเงินตามข้อตกลงครบถ้วน จำเลยทั้งสองควรทราบดีว่าจำเลยทั้งสองจะยังไม่หลุดพ้นจากความรับผิดทางอาญา จนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้ตามข้อตกลงครบถ้วนแล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยให้การรับสารภาพด้วยความสมัครใจ ดังนี้ การที่จำเลยทั้งสองขอแก้คำให้การเป็นให้การปฏิเสธ โดยอ้างเหตุเพียงว่าบุคคลภายนอกที่ตกลงชดใช้ค่าเสียหายแทนจำเลยทั้งสองไม่ยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ และอ้างว่าจำเลยทั้งสองมีพยานหลักฐานที่จะแสดงได้ว่ามิได้กระทำความผิดตามฟ้อง จึงถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีมีเหตุอันควรที่จะอนุญาตให้จำเลยทั้งสองแก้คำให้การได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 เห็นพ้องด้วยกับศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยทั้งสองแก้คำให้การจึงชอบด้วยเหตุผลแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามคำฟ้องข้อ 3 ด้วยนั้น เห็นว่า คำฟ้องข้อ 3 โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่า จำเลยที่ 2 ในฐานะกรรมการบริษัทชุมสินพารากอน จำกัด แจ้งความเท็จต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทและเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารของบริษัทดังกล่าว ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นได้รับความเสียหาย โดยโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำความผิดหรือร่วมกระทำความผิด อันเป็นการประสงค์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดตามคำฟ้องข้อนี้ด้วย การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามคำฟ้องข้อนี้ด้วยและศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน จึงเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง อันเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
ปัญหาต่อไปตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า มีเหตุลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษให้จำเลยทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยทั้งสองได้กำหนดระวางโทษจำคุกได้ถึงเจ็ดปีโดยไม่มีกำหนดระวางโทษขั้นต่ำ การที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองกระทงละ 10 เดือน จึงนับว่าเป็นประโยชน์แก่จำเลยทั้งสองพอสมควรและเหมาะสมแล้ว แต่เมื่อข้อเท็จจริงตามที่โจทก์อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องและชั้นพิจารณาส่วนหนึ่งได้ความว่า เดิมบริษัทชุมสินพารากอน จำกัด ใช้ชื่อว่าบริษัทธันเดธงมาร์ ตรัง (ไทยแลนด์) จำกัด มีหนี้ค้างชำระค่าสินค้าโจทก์เป็นเงิน 10,826,364.23 บาท นายเชน กรรมการบริษัทจึงตกลงยกหุ้นจำนวน 80,000 หุ้น ตีใช้หนี้ให้แก่โจทก์ตามหมายเลขใบหุ้นลงวันที่ 11 พฤษภาคม 2550 โดยโจทก์มิได้ลงทุนด้วยเงินสด ที่โจทก์กล่าวในฟ้องและยื่นคำแก้ฎีกาว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเท่ากับราคาหุ้นที่ลงทุนหุ้นละ 100 บาท จำนวน 80,000 หุ้น เป็นเงิน 8,000,000 บาท จึงมิใช่มูลค่าที่แท้จริง แต่มีมาจากจำนวนเงินที่บริษัทธันเดธงมาร์ ตรัง (ไทยแลนด์) จำกัด โดยนายเชนค้างชำระค่าสินค้าต่อโจทก์ก่อนที่จำเลยทั้งสองเข้าถือหุ้นและเป็นกรรมการบริษัท ทั้งโจทก์ยังเบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องด้วยว่า โจทก์ไม่เคยเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการบริษัท ไม่เคยได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากบริษัทและทราบว่านายเชนเคยเจรจาขอปรับโครงสร้างหนี้ที่มีต่อธนาคาร ซึ่งส่อให้เห็นได้ว่าบริษัทไม่มีผลกำไรอันจะนำไปเป็นเงินปันผลของผู้ถือหุ้นรวมทั้งโจทก์ นอกจากนี้ตามบันทึกข้อตกลงเข้าหุ้นส่วนระหว่างจำเลยที่ 2 กับนายสุพัฒน์ ปรากฏว่าขณะเกิดเหตุคดีนี้ธุรกิจของบริษัทไม่สามารถดำเนินต่อไปได้เนื่องจากติดขัดเรื่องเงินทุนหมุนเวียน ภาระหนี้สินและการบริหารจัดการ โดยมีภาระหนี้สินอยู่กับบริษัทเงินทุนสินเอเชีย จำกัด เป็นเงิน 20,000,000 บาท ไม่รวมดอกเบี้ย จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเท่ากับจำนวนเงินตามฟ้อง เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน และจำเลยที่ 1 สำเร็จการศึกษาด้านวิศวกรรมจากประเทศสหรัฐอเมริกา เคยได้รับรางวัลอันดับสองของโครงการ 10 สุดยอดนวัตกรรมไทย ประจำปี 2552 และเคยรับราชการตำแหน่งอาจารย์ระดับ 4 ภาควิชาวิศวกรรมวัสดุ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ นับว่าเคยทำคุณงามความดีมาก่อน ส่วนจำเลยที่ 2 มีอายุมากถึง 76 ปีแล้ว การต้องโทษจำคุกในระยะสั้นจะไม่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและจำเลยทั้งสอง จึงเห็นสมควรรอการลงโทษจำคุกให้จำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 แต่เพื่อให้จำเลยทั้งสองหลาบจำไม่กระทำความผิดในลักษณะเดียวกันนี้อีกต่อไป จึงให้ลงโทษปรับจำเลยทั้งสองอีกสถานหนึ่ง ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง โจทก์มีคำขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้เงิน 8,000,000 บาท แก่โจทก์ แต่ศาลล่างทั้งสองมิได้วินิจฉัยคำขอของโจทก์ดังกล่าว จึงเป็นการมิชอบ แต่เมื่อคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว จึงเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นพิจารณาอีก เห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนฯ กับฐานแจ้งความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน แม้การกระทำดังกล่าวเป็นเหตุให้โจทก์ถูกถอนชื่อออกจากบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น แต่ที่โจทก์เรียกให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเท่ากับราคาหุ้นต่อหน่วยรวมเป็นเงิน 8,000,000 บาท ไม่ใช่ความเสียหายที่เป็นผลโดยตรงมาจากการกระทำอันเป็นความผิดทั้งสองฐานตามฟ้อง จึงมิใช่คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาที่โจทก์จะขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ให้ในคดีนี้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งประทับฟ้องอันเป็นการรับฟ้องในคดีส่วนแพ่งด้วยจึงเป็นการมิชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรมีคำสั่งไม่รับฟ้องในคดีส่วนแพ่งไปเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งใหม่
พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดกระทงเดียวจำคุก 10 เดือน และปรับ 20,000 บาท การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดสองกระทง จำคุกกระทงละ 10 เดือน และปรับกระทงละ 20,000 บาท รวมสองกระทง จำคุก 20 เดือน และปรับ 40,000 บาท ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 5 เดือน และปรับ 10,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 10 เดือน และปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกสำหรับจำเลยทั้งสองให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 และไม่รับฟ้องในคดีส่วนแพ่ง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8