คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1271/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่บิดากับบุตรเป็นทายาทและมีสิทธิรับมรดกซึ่งกันและกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 นั้น หมายถึงเป็นบิดาและบุตรต่อกันตามกฎหมาย มาตรา 1627 เป็นบทยกเว้นให้บุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่บิดาได้รับรองแล้วมีสิทธิได้รับมรดกของบิดา จึงต้องตีความโดยเคร่งครัดมาตรานี้ให้ถือว่าบุตรนั้นเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายย่อมจะถือว่าบิดานั้นเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายไม่ได้ บิดาจึงไม่มีสิทธิรับมรดกของบุตรที่ตนได้รับรองนั้น (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 14/2506)

ย่อยาว

ได้ความว่า โจทก์เป็นบิดาของนางสำอางค์ ๆ เป็นเจ้าของที่ดินร่วมกับผู้อื่นอยู่ 1 ใน 4 ของที่ดินโฉนดที่ 867 ราคา 5,000 บาทจำเลยได้นางสำอางค์เป็นภรรยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส ต่อมานางสำอางค์คลอดบุตรคนหนึ่งชื่อเด็กหญิงเตือนจิต เป็นบุตรที่เกิดแต่จำเลย แต่อยู่ได้ 27 วันก็ตาย ส่วนนางสำอางค์นั้นได้ตายไปเสียก่อนบุตรประมาณ 10 วัน มีหลักฐานทางทะเบียนสำมะโนครัวและสูติบัตรว่า เด็กหญิงเตือนจิตเป็นบุตรจำเลย และมีพฤติการณ์ที่จำเลยแสดงออกหลายประการเป็นการรับรองเด็กหญิงเตือนจิต

ศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยรับรองว่าบุตรนางสำอางค์ที่เกิดกับจำเลยเป็นบุตรของตนบุตรนี้จึงมีสิทธิรับมรดกจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1627 และ 1629(1) ฉะนั้น โดยนัยที่กลับกันจำเลยผู้เป็นบิดาก็มีสิทธิรับมรดกของบุตร จำเลยจึงเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินรายนี้ด้วยในฐานะเป็นผู้รับมรดกของเด็กหญิงเตือนจิตทายาทผู้รับมรดกของนางสำอางค์อีกต่อหนึ่ง

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหาข้อนี้ว่า โจทก์อุทธรณ์ว่าไม่ปรากฏว่าจำเลยได้จดทะเบียนรับรองบุตรตามมาตรา 1526 จำเลยจึงไม่มีสิทธิรับมรดกแทนบุตรนั้น เห็นว่า นอกจากการจดทะเบียนรับรองแล้ว ยังมีการรับรองโดยความประพฤติระหว่างบิดากับบุตรนอกกฎหมายตามมาตรา 1627 และตามฎีกาที่ 826/2492, 446/2493 คดีนี้มีทะเบียนสำมะโนครัวและสูติบัตร คำขอโอนมรดกและมรณบัตรลงว่า เด็กหญิงเตือนจิตเป็นบุตรของจำเลย และจำเลยได้ดูแลเลี้ยงรักษาและทำศพเด็กหญิงเตือนจิตการปฏิบัติของจำเลยเป็นการรับรองบุตรนอกกฎหมาย ซึ่งมีผลให้จำเลยกับเด็กหญิงเตือนจิตรับมรดกจากกันและกันได้

ศาลฎีกาเห็นว่า แม้จำเลยเป็นผู้ให้กำเนิดแก่บุตรนางสำอางค์จำเลยกับเด็กนั้น ก็ไม่มีฐานะเป็นบิดาและบุตรต่อกันตามกฎหมายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 ซึ่งบัญญัติถึงบิดากับบุตรว่าเป็นทายาทซึ่งกันและกันนั้น หมายถึงเป็นบิดาและบุตรต่อกันตามกฎหมายถ้ามิใช่ก็ไม่เป็นทายาท ไม่มีสิทธิรับมรดกซึ่งกันและกัน และที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเห็นว่ามาตรา 1627 เป็นบทบัญญัติวางข้อยกเว้นให้บุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่บิดาได้รับรองแล้วให้มีสิทธิได้รับมรดกของบิดา จึงต้องตีความโดยเคร่งครัด มาตรานี้บัญญัติแต่ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายนี้ มิได้บัญญัติให้ถือว่าเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายด้วย หากกฎหมายมุ่งหมายให้ถือว่าเป็นบิดาและบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งกันและกัน ก็คงจะระบุไว้เช่นนั้น จำเลยจึงไม่มีสิทธิรับมรดกบุตรที่เกิดจากนางสำอางค์ ส่วนโจทก์เป็นบิดาของนางสำอางค์และเป็นตาของบุตรนางสำอางค์ จึงมีสิทธิรับมรดกของนางสำอางค์และบุตรนางสำอางค์แต่ผู้เดียวตามมาตรา 1629

Share