คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1409-1410/2512

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยซ่อมแซมรถยนต์โดยสารของบริษัทจำเลย เพื่อประโยชน์ในกิจการขนส่งของจำเลย แม้การขนส่งจะเป็นกิจการค้า จะถือว่าการซ่อมรถยนต์ที่ใช้ในการขนส่งเป็นการค้าด้วยไม่ได้ มิฉะนั้นแล้วพ่อค้าที่มีรถยนต์สำหรับส่งสินค้าก็ไม่อาจทำการซ่อมแซมรถยนต์ของตนเองได้ คำว่า “ทำเพื่อการค้า” ในมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติสาธารณสุข พ.ศ. 2484 ต้องหมายความว่าทำการค้าในธุรกิจนั้นนั้นโดยตรง

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลพิจารณาพิพากษารวมกัน
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันประกอบการค้าในกิจการประเภทซ่อมรถยนต์ พ่นสี กลึง ขัด และเจาะโลหะด้วยเครื่องจักร และเชื่อมโลหะด้วยแก๊สและไฟฟ้า โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติสาธารณสุข พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๘,๖๘ พระราชบัญญัติสาธารณสุข (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๔ (น่าจะเป็น พ.ศ. ๒๔๙๗) มาตรา ๓ เทศบัญญัติของเทศบาลนครกรุงเทพ เรื่องควบคุมการค้าซึ่งเป็นที่รังเกียจหรืออาจเป็นอันตรายแก่สุขภาพ พ.ศ. ๒๔๘๕ ข้อ ๕ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ลงวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๒ และลงวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๔๙๘ เรื่องเพิ่มเติมการค้าบางประเภทเป็นการค้าซึ่งเป็นที่รังเกียจหรืออาจเป็นอันตรายแก่สุขภาพ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
วันนัดสืบพยานโจทก์ จำเลยทั้งสองสำนวนแถลงรับว่า บริษัทยานยนต์พาณิชย์และประกันภัยจำกัด จำเลยเป็นนิติบุคคล บริษัทนี้วัตถุประสงค์เดินรถรับส่งคนโดยสารหรือเดินรถประจำทาง บริษัทมีสถานที่เก็บรถยนต์ซึ่งได้รับส่งผู้โดยสารของตนเอง มีอุปกรณ์สำหรับซ่อมแซมรถยนต์เหล่านี้ แต่ไม่ได้รับซ่อมแซมรถของบุคคลภายนอก มิได้ประกอบการค้า มิได้จดทะเบียนพาณิชย์สำหรับการซ่อมรถ นายสนิทจำเลยเป็นลูกจ้างของบริษัท ในวันเกิดเหตุนายสนิทจำเลยกำลังซ่อมรถยนต์ของบริษัทนี้อยู่ การซ่อมรถดังกล่าวนี้รวมทั้งการเจาะโลหะ การเชื่อมโลหะด้วยเครื่องไฟฟ้า และการพ่นสีรถยนต์ด้วย โจทก์แถลงว่า เมื่อจำเลยทั้งสองรับเช่นนี้ก็ไม่สืบพยานต่อไป จำเลยทั้งสองไม่ติดใจสืบพยานเช่นเดียวกัน คู่ความขอให้ศาลชี้ข้อกฎหมายไปว่า การกระทำตามที่จำเลยแถลงรับ เป็นความผิดตามกฎหมายที่โจทก์ฟ้องหรือไม่
ศาลแขวงพระนครเหนือวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยจะถือว่ากระทำเพื่อการค้ายังไม่ถนัด เพราะจำเลยมิได้รับจ้างซ่อมรถยนต์ของบุคคลภายนอก หรือซ่อมแซมรถยนต์เพื่อขาย คำว่า “ทำเพื่อการค้า” ตามความในพระราชบัญญัติสาธารณสุข พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๗ นั้น น่าจะหมายถึงกากรกระทำที่มีผลเป็นการค้าโดยตรง พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยซ่อมแซมรถยนต์โดยสารของบริษัทจำเลย เพื่อประโยชน์ในกิจการขนส่งของจำเลย แม้การขนส่งจะเป็นกิจการค้า จะถือว่าการซ่อมรถยนต์ที่ใช้ในการขนส่งเป็นการค้าด้วยไม่ได้ มิฉะนั้นแล้วพ่อค้าที่มีรถยนต์สำหรับส่งสินค้าก็ไม่อาจทำการซ่อมแซมรถยนต์ของตนเองได้ คำว่า”ทำเพื่อการค้า” ในมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติสาธารณสุข พ.ศ. ๒๔๘๔ ต้องหมายความว่าทำการค้าในธุรกิจนั้นนั้นโดยตรง
พิพากษายืน

Share