คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1269/2497

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คู่ความย่อมนำสืบเจตนาอันแท้จริงเรื่องนิติกรรมอำพรางได้ ไม่เป็นการนำสืบพยานบุคคลเพื่อเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลแก้ไขข้อความในเอกสาร
โจทย์ฟ้องขอให้บังคับให้ขาย เมื่อทางพิจารณาปรากฎว่าเป็นเรื่องแลกเปลี่ยน โจทก์จะขอให้ศาลบังคับให้แลกเปลี่ยน โดยอ้าง ป.พ.พ.ม. 519 ไม่ได้ เพราะโจทก์มิได้ฟ้องขอให้บังคับเช่นนั้น

ย่อยาว

โจทย์ฟ้องว่า จำเลยได้ตกลงจะขายที่นาให้โจทก์ ๑ แปลงราคา ๑,๐๐๐ บาท ต่อมาจำเลยกลับไม่ยอมขายจึงขอให้บังคับให้ขายให้โจทก์
จำเลยให้การว่า ความจริงโจทก์จำเลยตกลงแลกเปลี่นที่นากัน แต่อำเภอแจ้งว่าการทำสัญญาแลกเปลี่ยนไม่สดวกไม่เคยทำ ให้ทำเป็นทำนองขายที่นาให้ซึ่งกันและกัน อันเป็นการอำพรางเจตนาอันแท้จริง คือเจตนาแลกเปลี่ยน ครั้นถึงเมื่อจะทำสัญญากับที่อำเภอเจ้าพนักงานแจ้งว่านาโจทก์ติดภาระจำนอง ทำนิติกรรมให้ไม่ได้จนกว่าจะได้ไถ่ถอนเสียก่อน โจทก์ไม่ยอมไถ่เจ้าพนักงานงานไม่ทำนิติกรรมให้ ถ้าจำเลยทราบมาก่อนว่าที่โจทก์ ติดภาระจำนองอยู่ จำเลยก็ไม่ตกลงแลกเปลี่ยนด้วย จำเลยจึงไม่ยอมขายที่นาของจำเลยให้โจทก์ และบอกเลิกการแลกเปลี่ยนแล้ว
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาต้องกันให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายของโจทก์ว่า (๑) การที่จำเลยนำสืบพยานบุคคลเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารซึ่งมีข้อความชัดเจนว่า จำเลยตกลงจะขายที่พิพาทให้แก่โจทก์นั้น ขัดต่อ ป.วิ.แพ่ง ม.๙๔, ข้อนี้เห็นว่าเป็นเรื่องนิติกรรมอำพราง ตาม ป.พ.พ.ม. ๑๑๘ วรรค ๒ ให้บังคับตามเจตนาอันแท้จริง ฉะนั้นคู่สัญญาจึงนำสืบถึงเจตนาอันแท้จริงได้ ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.แพ่ง ม. ๙๔ (๒) ที่โจทก์อ้างว่า ป.พ.พ.ม. ๕๑๙ ว่า ให้นำบทบัญญัติในลักษณะซื้อขายมาใช้ถึงการแลกเปลี่ยนด้วย ฉะนั้นแม้จะฟังว่าแลกเปลี่ยนกัน จำเลยก็ต้องยอมแลกเปลี่ยนกับโจทก์ ข้อนี้เห็นว่าตามฟ้องโจทก์ไม่ได้ขอบังคับให้แลกเปลี่ยน จึงบังคับให้ไม่ได้ ฉะนั้นจึงพิพากษายืน

Share