แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยพรากผู้เสียหายไปเพื่อเป็นภริยา มิใช่เพื่อการอนาจารนั้น เห็นว่า เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และจำเลยไม่เคยยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอ้างและนำสืบในศาลชั้นต้น เพิ่งยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นฎีกา ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ไม่อาจอนุญาตให้ฎีกาได้ แม้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และศาลชั้นต้นรับฎีกาข้อนี้มาศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัย
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกระทำชำเราเด็กหญิง ว. อายุ 14 ปี 8 เดือน อายุยังไม่เกิน 15 ปี ผู้เสียหาย โดยใช้กำลังประทุษร้ายจับตัวผู้เสียหายบังคับถอดเสื้อและกางเกงออก แล้วจับตัวนอนลงที่เตียง และใช้มืออุดปากผู้เสียหายไว้ไม่ให้ขัดขืน โดยผู้เสียหายอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ แล้วขึ้นคร่อมนอนทับตัวและกระทำชำเราจนสำเร็จความใคร่ แม้ฟ้องมิได้ระบุว่าผู้เสียหายมิใช่ภริยาจำเลย แต่ได้บรรยายตัวบุคคลที่ถูกกระทำชำเราว่าเป็นเด็กหญิง และเมื่อพิจารณาประกอบข้อหาพรากผู้เยาว์ที่ระบุว่า จำเลยพรากผู้เสียหายไปจาก ส. ผู้ปกครองและผู้ดูแลโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจารแล้ว ฟ้องแสดงอยู่ในตัวว่าผู้เสียหายยังเป็นผู้เยาว์และอยู่ในความปกครองของ ส. ผู้เสียหายจึงเป็นผู้ที่ยังไม่สมรสและมิใช่ภริยาของจำเลย จึงเป็นฟ้องที่ครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคหนึ่งเดิม และเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายจริง ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ก็มีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคหนึ่ง (เดิม) ได้
ส่วนที่ผู้เสียหายยื่นคำร้องว่า จำเลยกับผู้เสียหายสมรสและอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาแล้ว ผู้เสียหายไม่ประสงค์จะดำเนินคดีแก่จำเลยอีกต่อไป จึงขอถอนคำร้องทุกข์ นั้น ความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีและพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ปกครองเพื่อการอนาจาร ไม่ใช่ความผิดอันยอมความได้ แม้ผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของพนักงานอัยการและโจทก์ร่วมก็ไม่ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) และการกระทำที่จะทำให้ผู้กระทำความผิดได้รับยกเว้นโทษ ตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคท้าย (เดิม) จะต้องเป็นการกระทำชำเราเด็กหญิงอายุกว่าสิบสามปี แต่ยังไม่เกินสิบห้าปี โดยเด็กหญิงยินยอมและภายหลังศาลอนุญาตให้ชายและเด็กหญิงนั้นสมรสกัน แต่จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายโดยผู้เสียหายไม่ยินยอมแม้จำเลยและผู้เสียหายสมรสกัน การกระทำของจำเลยก็ไม่ได้รับยกเว้นโทษ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 91, 277, 317 ริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางอนงค์ มารดาผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม จำคุก 5 ปี ข้อหาและคำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคหนึ่ง อีกกระทงหนึ่ง จำคุก 4 ปี เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว เป็นจำคุก 9 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติได้ว่า เด็กหญิง ว. ผู้เสียหายเป็นบุตรของนายไพศาลกับโจทก์ร่วม ผู้เสียหายเกิดวันที่ 15 กันยายน 2527 ขณะเกิดเหตุอายุ 14 ปี 8 เดือน พักอาศัยอยู่กับนายสร้างและนางพินซึ่งเป็นปู่และย่าที่บ้านเลขที่ 37 หมู่ที่ 6 ตำบลตลิ่งชัน อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา ผู้เสียหายเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียน ส. เดือนเมษายน 2542 โรงเรียนปิดภาคเรียน ผู้เสียหายไปช่วยนางทุ้ยซึ่งเป็นยายขายอาหารที่บ้านอยู่ตรงกันข้ามกับธนาคาร ก. จำเลยเป็นพนักงานการเงินและบัญชีประจำอยู่ที่ธนาคารดังกล่าว เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2542 เวลาประมาณ 9 นาฬิกา ผู้เสียหายไปช่วยนางสาวรุ่งรัตน์ซึ่งเป็นญาติรับจ้างทำความสะอาดที่บ้านพักของนายแพทย์สุริยะอยู่ในโรงพยาบาลบันนังสตา จนกระทั่งเวลาประมาณ 12 นาฬิกา นางสาวรุ่งรัตน์และผู้เสียหายออกไปรับประทานอาหาร หลังจากรับประทานอาหารเสร็จแล้วนางสาวรุ่งรัตน์และผู้เสียหายกลับไปที่บ้านพักของนายแพทย์สุริยะ ขณะนั้นเป็นเวลาพักเที่ยงนายแพทย์สุริยะกลับมาที่บ้านพัก นางสาวรุ่งรัตน์เข้าไปทำความสะอาดต่อ ส่วนผู้เสียหายเกรงใจและไม่คุ้นเคยกับเจ้าของบ้านจึงบอกนางสาวรุ่งรัตน์ว่าจะออกไปเดินเล่นแล้วจะกลับไปที่บ้านยาย ต่อมาเวลาประมาณ 13 นาฬิกา ขณะที่ผู้เสียหายนั่งอยู่ที่ศาลาที่พักคนโดยสารหน้าโรงพยาบาล จำเลยขับรถกระบะของธนาคารผ่านผู้เสียหายไปประมาณ 30 เมตร แล้วเลี้ยวรถกลับมาจอดที่หน้าศาลา จากนั้นจำเลยก็พาผู้เสียหายไปกระทำชำเราที่บ้านของจำเลย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีและฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ปกครองเพื่อการอนาจารตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 หรือไม่ จำเลยฎีกาว่า ผู้เสียหายมีรูปร่างหน้าตาตลอดจนสรีระโตกว่าเด็กในวัยเดียวกัน จำเลยจึงสำคัญผิดว่าผู้เสียหายมีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดนั้น ได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายว่า ผู้เสียหายสูง 152 เซนติเมตร น้ำหนัก 40 กิโลกรัมเศษ นับว่าผู้เสียหายมีรูปร่างโตกว่าเด็กทั่วไปในวัยเดียวกันไม่มากนัก และจากภาพถ่ายของผู้เสียหายที่นำชี้สถานที่เกิดเหตุ ใบหน้าของผู้เสียหายยังเยาว์วัยทั้งรูปร่างและลักษณะของผู้เสียหายที่ปรากฏมิได้มีข้อบ่งชี้ว่าจะมีอายุไม่น้อยกว่า 20 ปี ตามที่จำเลยฎีกาแต่อย่างใด ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายไปช่วยนางทุ้ยขายอาหารในช่วงปิดภาคเรียน จำเลยก็ไปรับประทานอาหารที่บ้านนางทุ้ยเป็นประจำ และผู้เสียหายเรียกจำเลยว่าอาตุ้ม ดังนั้นจำเลยย่อมทราบว่าผู้เสียหายยังเป็นนักเรียนและอายุไม่เกิน 15 ปี ฎีกาของจำเลยข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยพรากผู้เสียหายไปก็ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อต้องการพาผู้เสียหายไปเป็นภริยาของตน มิใช่เพื่อการอนาจารนั้น เห็นว่าเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และจำเลยไม่เคยยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอ้างและนำสืบในศาลชั้นต้น จำเลยเพิ่งยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นฎีกา จึงเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ซึ่งไม่อาจอนุญาตให้ฎีกาได้ แม้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยในข้อนี้มา ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัย
ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยในข้อหาพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ปกครองเพื่อการอนาจาร ไม่ได้ฟ้องจำเลยข้อหากระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ซึ่งมิใช่ภริยาของตน ศาลอุทธรณ์ภาค 9 จึงไม่มีอำนาจลงโทษจำเลยฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตนนั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องใน (ข) ว่าจำเลยได้บังอาจกระทำชำเราเด็กหญิง ว. อายุ 14 ปี 8 เดือน อายุยังไม่เกิน 15 ปี ผู้เสียหาย โดยใช้กำลังประทุษร้ายจับตัวผู้เสียหายบังคับถอดเสื้อและกางเกงออก แล้วจับผู้เสียหายนอนลงที่เตียง และใช้มืออุดปากผู้เสียหายไว้ไม่ให้ขัดขืนโดยผู้เสียหายอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ แล้วขึ้นคร่อมนอนทับตัวผู้เสียหายและกระทำชำเราผู้เสียหายจนสำเร็จความใคร่ แม้ฟ้องดังกล่าวมิได้ระบุว่าผู้เสียหายมิใช่ภริยาของจำเลย แต่ฟ้องโจทก์ได้บรรยายระบุตัวบุคคลที่ถูกกระทำชำเราว่าเป็นเด็กหญิงและเมื่อพิจารณาประกอบฟ้องใน (ก) ข้อหาพรากผู้เยาว์ที่ระบุว่า จำเลยพรากผู้เสียหายไปจากนายสร้างซึ่งเป็นผู้ปกครองและผู้ดูแลโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจารแล้ว ฟ้องดังกล่าวแสดงอยู่ในตัวว่าผู้เสียหายยังเป็นผู้เยาว์และอยู่ในความปกครองของนายสร้าง ผู้เสียหายจึงเป็นผู้ที่ยังไม่ได้สมรสและมิใช่ภริยาของจำเลย ฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคหนึ่งเดิม และเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) แล้ว เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีแล้ว ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ก็มีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ได้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่ผู้เสียหายยื่นคำร้องว่าจำเลยกับผู้เสียหายได้ทำการสมรสและอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาแล้ว ผู้เสียหายไม่ประสงค์จะดำเนินคดีแก่จำเลยอีกต่อไปจึงขอถอนคำร้องทุกข์ตามคำร้องของผู้เสียหาย ลงวันที่ 14 กันยายน 2550 นั้น เห็นว่า ความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีและฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ปกครองเพื่อการอนาจารนั้น ไม่ใช่ความผิดอันยอมความได้ แม้ผู้เสียหายขอถอนคำร้องทุกข์ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของพนักงานอัยการโจทก์และโจทก์ร่วมก็ไม่ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) และการกระทำที่จะทำให้ผู้กระทำความผิดได้รับยกเว้นโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคท้ายเดิม จะต้องเป็นกระทำชำเราเด็กหญิงอายุกว่าสิบสามปีแต่ยังไม่เกินสิบห้าปีโดยเด็กหญิงยินยอมและภายหลังศาลอนุญาตให้ชายและเด็กหญิงนั้นสมรสกัน คดีนี้แม้ภายหลังการกระทำความผิด จำเลยกับผู้เสียหายจดทะเบียนสมรสกัน แต่จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายโดยผู้เสียหายไม่ยินยอม แม้จำเลยและผู้เสียหายสมรสกัน การกระทำของจำเลยจึงไม่ได้รับยกเว้นโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคท้ายเดิม
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ปกครองเพื่อการอนาจาร ลดโทษให้จำเลยสองในห้า ส่วนความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว ความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ปกครองเพื่อการอนาจาร จำคุก 3 ปี และปรับ 9,000 บาท ความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปี จำคุก 2 ปี 8 เดือน และปรับ 6,000บาท รวมจำคุก 5 ปี 8 เดือน และปรับ 15,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง และคุมความประพฤติของจำเลย โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 4 เดือน จนกว่าจะพ้นระยะเวลาที่รอการลงโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9