แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ได้แสดงป้ายโฆษณาผลิตภัณฑ์สินค้าบนหลังคาตึก รวม 4 ป้ายโดยติดตั้งในลักษณะกล่องสี่เหลี่ยม มีอักษรภาษาไทยกับอักษรภาษาต่างประเทศปนกันอยู่ 3 ด้านส่วนอีกด้านหนึ่งมีแต่อักษรภาษาต่างประเทศ ไม่มีอักษรภาษาไทย ดังนี้ ป้ายทั้งสี่แม้จะติดต่อกัน แต่อยู่คนละด้าน เครื่องหมายหรืออักษรในแต่ละด้านเป็นอิสระจากกัน หานับเป็นป้ายเดียวกันไม่ ป้ายด้านที่ไม่อักษรภาษาไทยจึงเป็นป้ายประเภท (3) ตามบัญชีอัตราภาษีป้าย ท้ายพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้แสดงป้ายโฆษณาผลิตภัณฑ์เนชั่นแนลบนหลังคาตึก ๓ ชั้น รวม ๔ ป้าย จำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ได้มีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีป้ายถึงโจทก์ว่า โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีป้ายดังกล่าวในพ.ศ. ๒๕๑๑ ถึง ๒๕๑๕ ไว้ไม่ถูกต้อง โจทก์แจ้งว่าป้ายทั้งสี่มีความสูงป้ายละ ๘๘๐ เซนติเมตร แต่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการว่าสูง ๘๐๐ เซนติเมตร และป้ายที่ ๓ เป็นป้ายประเภท (๓) ตามบัญชีอัตราภาษีป้าย แต่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีป้ายเป็นประเภท (๒) จึงเรียกเก็บภาษีและเงินเพิ่มอีก ๖๖,๗๐๔ บาท โจทก์เห็นว่าการประเมินภาษีของจำเลยที่ ๓ ไม่ถูกต้อง จึงได้อุทธรณ์ต่อจำเลยที่ ๑ ซึ่งมีจำเลยที่ ๒ เป็นผู้รับผิดชอบตามบริหารงาน จำเลยที่ ๑ ยกอุทธรณ์ของโจทก์ คำสั่งของจำเลยทั้งสามไม่ถูกต้อง เพราะเมื่อโจทก์ได้รับอนุญาตให้ติดตั้งป้ายโฆษณา โจทก์ได้ติดตั้งป้ายมีความกว้าง(สูง) ขนาด ๘๐๐ เซนติเมตรตามใบอนุญาต ทั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำการประเมินให้โจทก์เสียหายภาษเป็นรายปี แต่ละป้ายเป็นป้ายประเภท (๒) มีความกว้าง ๘๐๐ เซนติเมตร โจทก์ได้ชำระภาษีไว้ถูกต้องตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินตลอดมา การที่จำเลยเห็นว่าป้ายทั้งสี่มีความกว้าง(สูง) ป้ายละ ๘๘๐ เซนติเมตรนั้นไม่ถูกต้อง เพราะส่วนที่เป็นป้ายปรากฏชัดเฉพาะที่ได้ทำรูปเครื่องหมายไว้ นอกนั้นเป็นพื้นป้ายที่ทำไว้ให้เห็นลักษณะเด่นของป้ายพื้นของป้ายเป็นเพียงส่วนประกอบที่จะให้ป้ายคงอยู่ ดังนั้น ป้ายทั้งสี่จึงมีความกว้างไม่เกิน ๘๐๐ เซนติเมตร ป้ายที่ ๓ เป็นป้ายประเภท (๒) เช่นเดียวกับป้ายอื่น คือมีทั้งอักษรภาษาไทยและภาษาต่างประเทศปนกัน แต่อักษรภาษาไทยเขียนด้วยสีธรรมดาและมีขนาดเล็ก เมื่อถูกแดดฝนจึงเลือนไป พนักงานเจ้าหน้าที่เพิ่มไปตรวจสอบไม่อาจมองเห็นได้ชัดความจริงป้ายทั้งสี่เป็นป้ายประเภท (๒) ทั้งสิ้น เพราะนำมาประกอบเป็นรูปสี่เหลี่อม แต่ละมุมป้ายมีข้อความแตกต่างกันไป ถือว่ามีลักษณะเป็นป้ายแผ่นเดียวกันติดต่อกัน แม้จะไม่ปรากฏภาษาไทยในป้ายที่ ๓ แต่ป้ายอื่น ๆ เป็นป้ายประเภท (๒) ก็ย่อมถือว่าป้ายทั้งสี่เป็นป้ายประเภท(๒) ด้วย การประเมินภาษีของจำเลยจึงไม่ถูกต้อง ขอให้พิพากษายกเลิกคำสั่งของจำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๓ และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๑และพิพากษาว่าป้ายโฆษณาที่โจทก์ติดตั้งตามฟ้องมีเนื้อที่ต้องคิดคำนวณภาษีป้ายมีความกว้าง ๘๐๐ เซนติเมตร และป้ายด้านหลังของถนนเพลินจิตเป็นป้ายที่จะต้องเสียภาษีตามบัญชีอัตราภาษีป้ายประเภท (๒)
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ ๓ ได้ประเมินภาษีโดยเชื่อว่าโจทก์แจ้งรายการตามความจริง แต่เมื่อตรวจสอบแล้ว การที่โจทก์ขออนุญาตติดตั้งป้ายโฆษณาโดยแสดงแบบแปลนนั้น เป็นไปตามพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร หามีผลผูกพันเจ้าพนักงานในกาประเมินภาษีป้ายไม่ ป้ายทั้งสี่มีความกว้างประมาณ ๘๘๐ เซนติเมตร การที่ทำตัวอักษรและเครื่องหมายไม่เต็มเนื้อที่ก็เพื่อให้ตัวอักษรเด่นชัด เมื่อโจทก์ได้ประโยชน์จากพื้นที่ทั้งหมดของโครงสร้างก็ต้องเสียภาษีเต็มพื้นที่นั้น มิใช่เฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่ง ส่วนป้าย ๓ ด้านหลังถนนเพลินจิตนั้นไม่มีอักษรภาษาไทยปนอยู่ แม้จะมีจริงโจทก์คงไม่ประสงค์จะให้อักษรภาษาไทยนั้นคงอยู่หรือมองเห็นได้ อักษรภาษาไทยจึงเลือนหายไปรวดเร็วกว่าภาษาต่างประเทศ ป้ายแต่ละป้ายไม่ได้อยู่ในแนวเดียวกัน ทุกป้ายมีข้อความและเครื่องหมายแยกจากกันเป็นอิสระ ไม่ถือว่าเป็นป้ายเดียวกัน โจทก์จึงต้องเสียภาษีป้ายนี้ในประเภท(๓)
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า ป้ายที่ ๓ เป็นป้ายที่ไม่มีอักษรภาษาไทย และวินิจฉัยข้อกฎหมายต่อไปว่า โจทก์ฎีกาว่าป้ายทั้งสี่ที่เจ้าพนักงานประเมินมีลักษณะเป็นป้ายแผ่นเดียวกัน โจทก์ติดตั้งในลักษณะกล่องสี่เหลี่ยม ป้ายดังกล่าวมีภาษาไทยสลับกับอักษรภาษาต่างประเทศ แม้จะไม่ปรากฏภาษาไทยในป้ายด้านหลังถนนเพลินจิตก็ถือว่าป้ายทั้งสี่เป็นป้ายฝืนเดียวกัน จึงไม่ใช่ป้ายประเภท(๓) ข้อนี้ศาลล่างได้กล่าวไว้ถูกต้องแล้วว่าป้ายทั้งสี่แม้จะติดต่อกันแต่อยู่คนละด้าน เครื่องหมายหรืออักษรในแต่ละด้านเป็นอิสระจากกัน หานับว่าเป็นป้ายเดียวกันไม่ ป้ายที่ ๓ ด้างหลังถนนเพลินจิตไม่มีอักษร จึงเป็นป้ายประเภท (๓)
พิพากษายืน