แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 นั้น ผู้ที่จะถูกส่งตัวไปเข้ารับการฟื้นฟู คือ บุคคลตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 19 ไม่ว่าผู้นั้นจะยินยอมเข้ารับการฟื้นฟูหรือไม่ก็ตาม โดยศาลจะมีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดก่อน และคณะอนุกรรมการฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดมีอำนาจวินิจฉัยว่าผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์ผู้ใดเป็นผู้เสพหรือติดยาเสพติดนั้นจะต้องจัดให้มีแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามมาตรา 22 ซึ่งคดีนี้จำเลยเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดแบบไม่ควบคุมตัวเป็นเวลา 120 วัน ครบถ้วนแล้ว และเข้าฟื้นฟูตามโปรแกรมปรับตัวกลับสู่สังคมเป็นเวลา 60 วัน แต่จำเลยขาดการรายงานตัว 2 ครั้ง จนคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดสุโขทัยต้องขยายระยะเวลาให้แก่จำเลยอีก 60 วัน แต่จำเลยก็ไม่มารายงานตัวและไม่ได้ทำงานบริการสังคม กรณีจึงถือว่าจำเลยยังไม่ได้เข้าสู่โปรแกรมการปรับตัวกลับสู่สังคมให้ครบถ้วนตามแผนฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดอันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 30 และมาตรา 31 พนักงานเจ้าหน้าที่จึงมีอำนาจและหน้าที่จับจำเลยเข้าไว้ในศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดเพื่อบำบัดฟื้นฟูตามแผนและให้มีอำนาจลงโทษตามมาตรา 32 ได้อีกด้วย แต่ไม่ปรากฏว่าคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดสุโขทัยได้ดำเนินการตามที่กฎหมายบัญญัติไว้แต่ประการใด การที่คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดสุโขทัยมีคำสั่งที่ 302/2554 ว่า ผลการฟื้นฟูไม่เป็นที่พอใจ และให้รายงานความเห็นไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการเพื่อประกอบการพิจารณาคดีต่อไปจึงเป็นการไม่ชอบ เนื่องจากตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 33 วรรคสอง บัญญัติให้คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดรายงานความเห็นไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการเพื่อประกอบการดำเนินคดีผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดในกรณีหากผู้นั้นเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดครบถ้วนตามกำหนดเวลาแล้ว แต่ผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดยังไม่เป็นที่พอใจ ดังนั้นเมื่อได้ตัวจำเลยกลับมาและโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ยังมิได้นำตัวจำเลยกลับไปบำบัดแก้ไขตามแผนฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามเจตนารมณ์ของกฎหมายให้ครบถ้วนตามมาตรา 25 ก่อน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 57, 91
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 57, 91 จำคุก 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกาอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2553 เวลากลางวัน เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยโดยกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนต่อมาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ส่งตัวจำเลยไปเพื่อตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด โดยคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดสุโขทัย ได้วินิจฉัยว่า จำเลยเป็นผู้ติดยาเสพติดประเภทเมทแอมเฟตามีนและให้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด แบบไม่ควบคุม และอยู่ภายใต้การดูแลของพนักงานคุมประพฤติ โดยกำหนดเงื่อนไขฟื้นฟูในโปรแกรมสำนักงานคุมประพฤติ เป็นเวลา 120 วัน และให้เข้าร่วมกิจกรรมการแก้ไขฟื้นฟูตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่เห็นสมควร ฟื้นฟูตามโปรแกรมการปรับตัวกลับสู่สังคมเป็นเวลา 60 วัน ทำงานบริการสังคมเป็นเวลา 12 ชั่วโมง และยินยอมให้ตรวจปัสสาวะหาสารเสพติด จำเลยเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดแบบไม่ควบคุมตัว เป็นเวลา 120 วัน ครบถ้วนแล้วแต่จำเลยขาดรายงานตัว 2 ครั้ง คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดสุโขทัย จึงขยายระยะเวลาการฟื้นฟูออกไปอีก 60 วัน แต่จำเลยไม่มารายงานตัวและไม่ได้ทำงานบริการสังคม เนื่องจากไปทำงานที่จังหวัดสตูลและไม่ได้กลับภูมิลำเนา คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดยาเสพติดจังหวัดสุโขทัย จึงพิจารณาผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดของจำเลยว่า ผลการฟื้นฟูไม่เป็นที่น่าพอใจ และให้รายงานความเห็นไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการเพื่อประกอบการพิจารณาคดีต่อไป ตามคำวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดสุโขทัยที่ 302/2554
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่เห็นว่า การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 นั้น ผู้ที่จะถูกส่งตัวไปเข้ารับการฟื้นฟู คือ บุคคลตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 19 ไม่ว่าผู้นั้นจะยินยอมเข้ารับการฟื้นฟูหรือไม่ก็ตาม โดยศาลจะมีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดก่อนและคณะอนุกรรมการฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดมีอำนาจวินิจฉัยว่า ผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์ผู้ใดเป็นผู้เสพหรือติดยาเสพติดจากนั้นจะต้องจัดให้มีแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามมาตรา 22 ซึ่งคดีนี้จำเลยเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดแบบไม่ควบคุมตัว เป็นเวลา 120 วัน ครบถ้วนแล้ว และเข้าฟื้นฟูตามโปรแกรมปรับตัวกลับสู่สังคมเป็นเวลา 60 วัน แต่จำเลยขาดการรายงานตัว 2 ครั้ง จนคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดสุโขทัยต้องขยายระยะเวลาให้แก่จำเลยอีก 60 วัน แต่จำเลยก็ไม่มารายงานตัวและไม่ได้ทำงานบริการสังคม กรณีจึงถือว่าจำเลยยังไม่ได้เข้าสู่โปรแกรมการปรับตัวกลับสู่สังคมให้ครบถ้วนตามแผนฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 30 และมาตรา 31 พนักงานเจ้าหน้าที่จึงมีอำนาจและหน้าที่จับจำเลยเข้าไว้ในศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดเพื่อบำบัดฟื้นฟูตามแผนและให้มีอำนาจลงโทษตามมาตรา 32 ได้อีกด้วย แต่ไม่ปรากฏว่าคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดสุโขทัยได้ดำเนินการตามที่กฎหมายบัญญัติไว้แต่ประการใด การที่คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดสุโขทัยมีคำสั่งที่ 302/2554 ว่าผลการฟื้นฟูไม่เป็นที่พอใจ และให้รายงานความเห็นไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการเพื่อประกอบการพิจารณาคดีต่อไป จึงเป็นการไม่ชอบเนื่องจากตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดรายงานความเห็นไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการเพื่อประกอบการดำเนินคดีผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดในกรณีหากผู้นั้นเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดครบถ้วนตามกำหนดเวลาแล้ว แต่ผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดยังไม่เป็นที่พอใจ ดังนั้นเมื่อได้ตัวจำเลยกลับมาและโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ยังมิได้นำตัวจำเลยกลับไปบำบัดแก้ไขตามแผนฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามเจตนารมณ์ของกฎหมายให้ครบถ้วนตามมาตรา 25 ก่อน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน