คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1260/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์จะต้องมีคำสั่งเกี่ยวกับคำร้อง ของ โจทก์ว่าเห็นด้วยกับคำสั่งของศาลชั้นต้นหรือจะสั่งแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งศาลชั้นต้น การที่ศาลอุทธรณ์สั่งว่า”รวม” จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 131(1) เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแล้ว การที่จะเพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งให้โจทก์นำส่งสำเนาอุทธรณ์แก่จำเลย ย่อมจะไม่เป็นประโยชน์แก่คดีของโจทก์ เพราะไม่มีผลทำให้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เปลี่ยนแปลง ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้จึงเป็นฎีกาที่ไม่เป็นสาระแก่คดี ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้พิจารณา ต่อมาในชั้นพิจารณาและพิพากษาคดีศาลอุทธรณ์เห็นว่าอุทธรณ์ของโจทก์ไม่เป็นสาระแก่คดี ก็ชอบที่จะพิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ได้ตามป.วิ.พ. มาตรา 225 รายงานกระบวนพิจารณาที่ศาลชั้นต้นจดไว้ในวันทำคำพิพากษาตามยอมมีถ้อยคำที่แตกต่างไปจากสัญญาประนีประนอมยอมความ ก็ไม่มีผลให้สัญญาประนีประนอมยอมความตลอดจนคำพิพากษาตามยอมเปลี่ยนแปลงไปดังนั้น ที่โจทก์ฎีกาว่าข้อความที่ศาลชั้นต้นบันทึกในรายงานกระบวนพิจารณาไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนนั้นจึงเป็นฎีกาที่ไม่เป็นสาระแก่คดี.

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ผู้ให้เช่าฟ้องขับไล่จำเลยผู้เช่าออกจากที่ดินและอาคารที่เช่า จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลเรียกนายประสงค์วีระกุล เข้ามาเป็นจำเลยร่วม และศาลชั้นต้นได้เรียกนายประสงค์ให้เข้ามาเป็นจำเลยร่วมตามที่จำเลยร้องขอ ต่อมาโจทก์จำเลยและจำเลยร่วมตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งศาลชั้นต้นได้พิพากษาให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่คู่ความยื่นต่อศาลแล้วแต่ศาลชั้นต้นจดรายงานกระบวนพิจารณาว่า “ในสัญญายอมข้อ 2 ซึ่งกำหนดว่า เมื่อครบกำหนดการเช่าแล้ว จำเลยร่วมไม่ยอมส่งมอบการครอบครองที่ดินพร้อมอาคารให้แก่โจทก์ ให้ถือว่าผิดสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ศาลเห็นว่า สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยร่วมเป็นสัญญาฉบับใหม่ เมื่อครบกำหนดการเช่าจำเลยร่วมไม่ปฏิบัติตามสัญญาฉบับใหม่อย่างใดก็เป็นเรื่องใหม่ซึ่งต้องว่ากล่าวกันต่างหากโจทก์ขอให้คงไว้ จึงให้คงไว้ตามเดิม”
โจทก์อุทธรณ์ว่า ข้อความที่ศาลชั้นต้นจดบันทึกไว้ดังกล่าวข้างต้น ศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะจดบันทึกไว้ได้และเป็นเรื่องนอกประเด็นทำให้โจทก์เข้าใจว่าสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมไม่มีผลบังคับ ขอให้ศาลอุทธรณ์เพิกถอนข้อความนั้นเสีย และให้คู่ความบังคับคดีได้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความต่อไป
ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับอุทธรณ์
โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้ดำเนินการต่อไปศาลชั้นต้นจึงสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ ให้โจทก์นำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยและทนายจำเลยร่วมภายใน 7 วัน
ระหว่างที่คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์ยื่นคำร้องลงวันที่ 1 กันยายน 2532 ต่อศาลอุทธรณ์ว่าคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้โจทก์นำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะโจทก์ประสงค์จะอุทธรณ์ในประเด็นที่เกี่ยวกับจำเลยร่วมเท่านั้นขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวและมีคำสั่งว่าไม่ต้องส่งสำเนาอุทธรณ์หรือสำเนาคำร้องใด ๆ แก่จำเลย
ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกอุทธรณ์โจทก์ ส่วนคำร้องของโจทก์ที่ขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งให้โจทก์นำส่งสำเนาอุทธรณ์แก่จำเลยนั้น ศาลอุทธรณ์เพียงสั่ง “รวม” ไว้
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า ศาลอุทธรณ์จะต้องสั่งคำร้องของโจทก์ฉบับลงวันที่ 1 กันยายน 2532 นอกจากสั่ง”รวม” หรือไม่ ปัญหาที่สองคือคำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งให้โจทก์นำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยชอบหรือไม่ และปัญหาสุดท้ายคือ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบหรือไม่ ในปัญหาแรกนั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งให้โจทก์นำส่งสำเนาอุทธรณ์แก่จำเลยนั้น ศาลอุทธรณ์จะต้องมีคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องของโจทก์ว่าโจทก์มีสิทธิยื่นคำร้องนั้นหรือไม่ศาลอุทธรณ์เห็นด้วยกับคำสั่งของศาลชั้นต้นหรือจะสั่งแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งศาลชั้นต้นอย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์สั่งเพียงว่า”รวม” จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 131(1)ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้นอย่างไรก็ดีเนื่องจากปัญหาข้อนี้เกี่ยวเนื่องกับปัญหาที่สอง ซึ่งศาลฎีกาจะต้องมีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวอยู่ด้วยแล้ว จึงไม่จำต้องเพิกถอนคำสั่งที่ศาลอุทธรณ์สั่งในคำร้องของโจทก์ตามที่โจทก์ฎีกาขอมา
ในปัญหาที่สอง เห็นว่าเมื่อคดีปรากฏว่าศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาเสร็จไปแล้ว การที่จะเพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งให้โจทก์นำส่งสำเนาอุทธรณ์แก่จำเลย ย่อมจะไม่เป็นประโยชน์แก่คดีของโจทก์แต่อย่างใด เพราะไม่มีผลทำให้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เปลี่ยนแปลงฎีกาของโจทก์ในข้อนี้จึงเป็นฎีกาที่ไม่เป็นสาระแก่คดี ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ในปัญหาสุดท้ายนั้น เห็นว่า แม้ศาลอุทธรณ์จะมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้พิจารณาแล้วก็ตาม หากต่อมาในชั้นพิจารณาและพิพากษาคดี ศาลอุทธรณ์เห็นว่าอุทธรณ์ของโจทก์ไม่เป็นสาระแก่คดีก็ชอบที่จะพิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์เสียได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 และในข้อนี้ศาลฎีกาได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การบังคับคดีนั้นจะต้องเป็นไปตามคำพิพากษารายงานกระบวนพิจารณาที่ศาลชั้นต้นจดไว้ในวันทำคำพิพากษาตามยอมให้โจทก์จำเลยและจำเลยร่วมนั้น แม้จะมีถ้อยคำที่แตกต่างไปจากสัญญาประนีประนอมยอมความก็ไม่มีผลให้สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์จำเลยและจำเลยร่วมตลอดจนคำพิพากษาตามยอมเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใดดังนั้นที่โจทก์ฎีกาว่าข้อความที่ศาลชั้นต้นบันทึกในรายงานกระบวนพิจารณาไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนนั้นจึงเป็นฎีกาที่ไม่เป็นสาระแก่คดี ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์นั้นชอบแล้ว…”
พิพากษายืน.

Share