แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การยึดถือทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 278 นั้นหมายถึงการเข้าควบคุมหรือครอบครองทรัพย์สิน ซึ่ง เจ้าพนักงานบังคับคดีจะระวังรักษาทรัพย์สินนั้นเสียเองหรือจะตั้งให้ผู้ใดเป็นผู้จัดการทรัพย์สินนั้นก็ได้
เจ้าพนักงานบังคับคดียึดอาคารของลูกหนี้ตามคำพิพากษา แล้วทำสัญญามอบหมายให้โจทก์ร่วมเป็นผู้รักษา โดยโจทก์ร่วมให้สัญญาว่าจะรักษาด้วยความระมัดระวังมิให้เสียหายหรือเสื่อมคุณภาพ และจะไม่เอาออกใช้สอย ถ้าเกิดความเสียหายหรือสูญหายจะชดใช้ราคาให้ แล้วโจทก์ร่วมใส่กุญแจห้องล่ามโซ่ใส่กุญแจอาคาร แม้มิได้เข้าไปอยู่ในตัวอาคารก็เป็นการครอบครองรักษาทรัพย์ตามสัญญาแล้ว เมื่อจำเลยเข้าไปรื้อห้องตกแต่งอาคารใหม่ และเปิดทำการค้าในอาคารนั้น จึงเป็นการเข้าไปกระทำการอันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ซึ่งโจทก์ร่วมครอบครองอยู่โดยปกติสุขและทำให้เสียทรัพย์ โจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหาย มีอำนาจร้องทุกข์กล่าวโทษจำเลย และมีอำนาจฟ้องฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้บุกรุกเข้าไปงัดกุญแจประตู และกุญแจที่ร้อยโซ่ประตูเลื่อนและเข้าไปในบาร์สมานมิตร ซึ่งนายสมศักดิ์ สิงหกันต์ ผู้เสียหายเป็นผู้ดูแลรักษาตามสัญญารักษาทรัพย์ที่ผู้เสียหายทำไว้ต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีศาลจังหวัดชลบุรี และจำเลยรื้อห้องกระจก ห้องพักต่าง ๆ และเวทีดนตรีซึ่งสร้างไว้ภายในได้รับความเสียหาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358, 362
จำเลยให้การปฏิเสธ
นายสมศักดิ์ สิงหกันต์ ผู้เสียหายขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง ให้ลงโทษกระทงหนัก ตามมาตรา 358 กระทงเดียว จำคุก 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ฟังว่า การกระทำของจำเลยไม่เข้าลักษณะกระทำผิดฐานบุกรุก โจทก์ร่วมไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะร้องทุกข์กล่าวโทษในข้อหาบุกรุก ส่วนความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ โจทก์ร่วมไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย ผู้ว่าคดีโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า อาคารเลขที่ 688/21 เป็นของนางสุวรรณา โจทก์ร่วมซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของนางสุวรรณาได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดอาคารเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดอาคารและสั่งปิดการค้า ซึ่งจำเลยทำอยู่ในอาคารนั้น แล้วมอบให้โจทก์ร่วมรับรักษาทรัพย์สินที่ยึด ได้ทำหนังสือสัญญารับรักษาทรัพย์ไว้ โจทก์ร่วมได้ปิดห้องล่ามโซ่ใส่กุญแจตัวอาคาร แต่เปิดห้องให้จำเลยอาศัยหลับนอนห้องหนึ่งตามที่จำเลยขอ การประกอบกิจการภัตตาคารและไนท์คลับของจำเลยได้หยุดลง ต่อมาจำเลยได้รื้อห้องในอาคาร ตกแต่งอาคารแล้วประกอบกิจการค้าทำไนท์คลับโดยพลการ
ปัญหามีว่า โจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้รับรักษาทรัพย์สินที่ยึดจากเจ้าพนักงานบังคับคดี เป็นผู้เสียหายที่จะร้องทุกข์ว่ากล่าวให้เจ้าพนักงานดำเนินคดีแก่จำเลย และเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดดังฟ้องได้หรือไม่
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 278 ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจที่จะยึดหรืออายัดและยึดถือทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาไว้ได้นั้น การยึดถือทรัพย์สินก็คือการเข้าควบคุมหรือครอบครองทรัพย์สินนั่นเอง ซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีจะระวังรักษาทรัพย์สินนั้นเสียเอง หรือจะตั้งให้ผู้ใดเป็นผู้รักษาทรัพย์สินนั้นก็ได้ ตามมาตรา 305(2) การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดอาคารแล้วมอบหมายให้โจทก์ร่วมเป็นผู้รักษาอาคารไว้ ในหนังสือสัญญารับรักษาทรัพย์ก็มีความว่า โจทก์ร่วมขอให้สัญญาว่า ทรัพย์สินที่ได้รับมอบหมายไว้นี้จะรักษาไว้ ณ สถานที่ได้ทำการรักษา และจะรักษาด้วยความระมัดระวังมิให้เกิดความเสียหายหรือเสื่อมคุณภาพและจะไม่นำออกใช้สอย และถ้าปรากฏว่าทรัพย์สินนั้นเกิดความเสียหายหรือสูญหาย โจทก์ร่วมยินดีรับผิดชอบชดใช้ราคาทรัพย์สินให้ทั้งสิ้น เห็นได้ว่าที่โจทก์ร่วมรับสัญญาจะควบคุมดูแลทรัพย์สินที่รับรักษาไว้นั้นความรับผิดชอบในการดูแลรักษาจึงตกอยู่แก่โจทก์ร่วม การที่โจทก์ร่วม การที่โจทก์ร่วมใส่กุญแจห้องล่ามโซ่ใส่กุญแจประตูอาคารที่รับรักษาไว้ แม้จะไม่ได้เข้าไปอยู่ในตัวอาคารเอง ก็เป็นการครอบครองรักษาทรัพย์ตามที่ทำหนังสือสัญญาไว้กับเจ้าพนักงานแล้ว การที่จำเลยเข้าไปรื้อห้อง ตกแต่งอาคารใหม่ และเปิดทำการค้าในอาคารนั้น เป็นการเข้าไปกระทำการอันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ซึ่งโจทก์ร่วมครอบครองอยู่โดยปกติสุข และทำให้เสียทรัพย์โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหาย มีอำนาจร้องทุกข์กล่าวโทษจำเลย และมีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีลงโทษจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น