แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยชำระเงินตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งจำเลยทำไว้กับโจทก์นอกศาล เนื่องจากจำเลยฟ้องบังคับจำนองเอาแก่สามีโจทก์ จำเลยให้การปฏิเสธ แล้วจำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายเบื้องต้นว่าสัญญานั้นสมบูรณ์ มีผลบังคับได้ตามกฎหมายหรือไม่ ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานทั้งสองฝ่ายแล้วพิพากษาว่าเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งจำเลยต้องชำระเงินให้โจทก์ตามสัญญาเมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าข้อความในสัญญายังไม่ชัดเจนพอ ยังมีข้อเท็จจริงที่ยังฟังเป็นยุติไม่ได้อยู่อีก ไม่สมควรที่ศาลชั้นต้นจะด่วนวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องต้น จึงย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานโจทก์จำเลยต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ ดังนี้ เท่ากับศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกเลิกคำร้องขอให้ชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายเสียแล้ว เพราะยังชี้ขาดไม่ได้จำเลยจะค้านว่าจำเลยขอให้ศาลชี้ขาดสัญญาที่พิพาท ศาลก็จะต้องพิจารณาแต่เฉพาะข้อความที่ปรากฏในสัญญาเท่านั้น หาถูกต้องไม่
การนำสืบพยานเพื่ออธิบายข้อความในสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งยังไม่ชัดเจนพอนั้น ไม่ถือว่าเป็นการนำสืบเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสาร
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้สมรสกับนายเติม นาครักษา โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส มีบุตรด้วยกัน ๕ คน นายเติมได้ออกจากบ้านไปไม่ทราบว่าไปอยู่แห่งใด เดิมนายเติมได้นำที่ดินโฉนดที่ ๒๘๙๔ ครึ่งหนึ่งไปจำนองไว้กับจำเลย จำเลยฟ้องบังคับจำนองต่อศาลแพ่งตามสำนวนคดีดำที่ ๕๐๔๘/๒๕๐๘ ระหว่างดำเนินคดีดังกล่าวเนื่องจากจำเลยเป็นญาติกับโจทก์ และทราบว่านายเติมสามีโจทก์ไม่อยู่ เพื่อมิให้ยุ่งยากแก่การพิจารณา และเพื่อมิให้โจทก์ต้องเข้าไปดำเนินคดีแทนนายเติมโจทก์จำเลยจึงตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันนอกศาลโดยโจทก์ยอมให้จำเลยดำเนินคดีต่อไป เมื่อจำเลยได้ที่ดินดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์แล้วให้จำเลยนำที่ดินขายแก่บุคคลอื่น ได้เงินเท่าใดก็ตามจำเลยจะต้องชำระเงินให้โจทก์ ๑๐,๐๐๐ บาท เพื่อให้โจทก์เก็บไว้เป็นทุนในการให้การศึกษาแก่บุตร จำเลยจึงได้ดำเนินคดีต่อไป และศาลได้พิพากษาให้จำเลยได้ที่ดินเฉพาะส่วนของนายเติม คือสำนวนคดีแดงที่ ๑๒๘๐/๒๕๐๙ แล้วจำเลยขายที่ดินให้บุคคลอื่นไป แต่ไม่ชำระเงินให้โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยชำระ
จำเลยให้การว่า โจทก์จะเป็นภริยาของนายเติมหรือไม่ ไม่รับรองจำเลยฟ้องบังคับจำนองนายเติมจริง ระหว่างดำเนินคดี จำเลยไม่เคยทำสัญญาประนีประนอมกับโจทก์ ทั้งโจทก์ไม่มีสิทธิคัดค้านหรือเข้ามาดำเนินคดีแทนนายเติม เพราะโจทก์และบุตรมิใช่ภริยาและบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายเติม จำเลยไม่เคยลงลายมือชื่อในสัญญาประนีประนอมยอมความ ลายมือชื่อนั้นเพียงคล้ายกับลายมือชื่อจำเลยเท่านั้น และไม่สมบูรณ์ เพราะไม่ปรากฏข้อความใดเป็นการระงับข้อพิพาทที่มีอยู่หรือจะมีขึ้นให้เสร็จไปโจทก์มิได้ลงชื่อ ไม่มีคู่สัญญา เป็นเพียงสัญญาจะให้หรือคำมั่นจะให้ทรัพย์สินเท่านั้นซึ่งจะใช้บังคับไม่ได้เพราะไม่ได้จดทะเบียน
ก่อนชี้สองสถาน จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายเบื้องต้นว่า สัญญาประนีประนอมยอมความที่โจทก์อ้างเป็นมูลฟ้องจำเลยไม่สมบูรณ์ ไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย เพราะไม่มีข้อความว่าโจทก์จำเลยจะระงับข้อพิพาทอันใดที่มีอยู่หรือจะมีขึ้นให้เสร็จไปและโจทก์ไม่ได้ลงชื่อในสัญญาด้วย
ศาลชั้นต้นเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายตามจำเลยขอและสอบถามข้อเท็จจริงที่คู่ความยังไม่รับกันก่อน โจทก์ส่งต้นฉบับสัญญาศาลหมาย จ.๑ จำเลยดูแล้วแถลงรับว่าเป็นลายเซ็นของจำเลยในช่องผู้ทำสัญญาจริง จำเลยแถลงรับอีกว่า จำเลยได้ขายที่ดินโฉนดที่ ๒๘๙๘ ไปแล้วกับรับว่าโจทก์เป็นภริยาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของนายเติมและมีบุตรกับนายเติม ๕ คนจริง โจทก์จำเลยเป็นญาติกัน ได้ความดังนี้ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้แล้ว จึงมีคำสั่งงดสืบพยานทั้งสองฝ่ายแล้ววินิจฉัยว่าสัญญามีข้อความตอนท้ายแสดงว่าจำเลยมีคดีความอยู่ในศาลซึ่งเป็นเรื่องจำเลยฟ้องบังคับจำนองนายเติม เมื่อรับกันว่าโจทก์เป็นภริยาของนายเติม มีบุตรด้วยกัน ๕ คน แม้จะไม่ได้จดทะเบียนสมรสแต่รูปการณ์พออนุมานได้ว่าจำเลยย่อมเกรงว่าโจทก์หรือบุตรอาจเข้ามาสู้คดีแทนนายเติม จำเลยจึงตกลงทำสัญญาขึ้น โดยตกลงให้เงินโจทก์จำนวนหนึ่ง พฤติการณ์เช่นนี้จำเลยทำขึ้นโดยประสงค์จะระงับข้อพิพาทระหว่างโจทก์จำเลยเพื่อประโยชน์ในคดีที่ตนกำลังดำเนินอยู่ในศาลจึงถือได้ว่าเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยต้องชำระเงินให้โจทก์ตามสัญญา พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท กับดอกเบี้ย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างถึงเหตุระงับข้อพิพาทที่เกิดสัญญาฉบับที่ฟ้อง ซึ่งโจทก์มีสิทธินำสืบพยานบุคคลอธิบายข้อความในเอกสารสัญญานั้นได้ จำเลยมิได้รับข้อเท็จจริงแห่งสาเหตุการทำสัญญานี้ศาลจำเป็นต้องฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวต่อไปยังวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายไม่ได้พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์จำเลยต่อไปแล้ว พิพากษาใหม่ตามรูปความ
จำเลยฎีกา
ที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในข้อกฎหมายซึ่งเป็นคุณแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔ แต่ศาลอุทธรณ์จะให้ศาลชั้นต้นทำการสืบพยานใหม่นั้นยังไม่ถูกต้อง จำเลยขอให้ศาลวินิจฉัยเพียงว่า ข้อความเท่าที่ปรากฏในเอกสาร จ.๑ ว่าเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความหรือไม่เท่านั้น ไม่จำเป็นต้องฟังข้อเท็จจริงอย่างอื่นอีก เพราะถ้าฟังข้อเท็จจริงอย่างอื่นอีก ก็มิใช่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้น ทั้งยังขัดกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๙๔ ด้วยนั้น
ศาลฎีกาเห็นว่า เอกสารที่โจทก์นำมาฟ้องมีข้อความว่า “ข้าพเจ้านายนิตย์ รักเรือง อายุ ๔๖ ปี ขอทำสัญญาให้ไว้แก่นางเช้า นาครักษาว่าข้าพเจ้าจะมอบเงินจำนวน ๑๐,๐๐๐ บาทให้แก่นางเช้า นาครักษาเพื่อมอบให้เป็นทุนการศึกษาของบุตรนางเช้า นาครักษา เป็นจำนวน ๕ คน เมื่อข้าพเจ้าได้บังคับจำนอง และได้ขายที่ดินที่นายเติม นาครักษาได้จำนองไว้แก่ข้าพเจ้าเรียบร้อยแล้ว ตามคดีดำหมายเลขที่ ๕๐๔๘/๒๕๐๘ ของศาลแพ่ง หากข้าพเจ้าบิดพลิ้ว ข้าพเจ้ายอมให้นางเช้า นาครักษา ฟ้องร้องข้าพเจ้าได้ทันที และข้าพเจ้าได้ลงลายมือชื่อให้ไว้ต่อหน้าพยานเป็นสำคัญ” สัญญานี้มีข้อความยังไม่ชัดเจนพอที่จะวินิจฉัยชี้ขาดได้โดยอาศัยแต่ลำพังข้อความที่ปรากฏในสัญญา ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจที่จะสอบถามข้อเท็จจริงที่คู่ความยังไม่รับกันเสียก่อนได้ ซึ่งโจทก์จำเลยก็ได้แถลงรับข้อเท็จจริงที่คู่ความยังไม่รับกันเสียก่อนได้ ซึ่งโจทก์จำเลยก็ได้แถลงรับข้อเท็จจริงดังที่ศาลชั้นต้นจดไว้แล้วศาลชั้นต้นจึงได้ชี้ขาดว่าสัญญาหมาย จ.๑ เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งไม่เป็นคุณแก่จำเลยผู้เป็นฝ่ายร้องขอ แต่ทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่อง แต่ศาลอุทธรณ์เห็นว่ายังมีข้อเท็จจริงที่ยังฟังเป็นยุติไม่ได้อยู่อีก ไม่สมควรที่ศาลชั้นต้นจะด่วนวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องต้น จึงย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานโจทก์จำเลยต่อไปแล้ว พิพากษาคดีใหม่ เช่นนี้ เท่ากับศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกเลิกคำร้อง ขอให้ชี้ขาดเบื้องต้นปัญหาข้อกฎหมายของจำเลยเสียแล้ว เพราะยังชี้ขาดไม่ได้ คดียังต้องดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์จำเลยให้สิ้นกระแสความ จำเลยจะคัดค้านว่าจำเลยขอให้ศาลชี้ขาดสัญญาที่พิพาท ศาลก็จะต้องพิจารณาแต่เฉพาะข้อความที่ปรากฏในสัญญาเท่านั้น หาถูกต้องไม่
ที่จำเลยฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า เมื่อสัญญานี้มิได้ระบุระงับข้อพิพาทจะสืบพยานอธิบายเอกสารย่อมไม่ได้ นอกจากจะเป็นการสืบพยานเพิ่มเติมอีกต่างหาก ซึ่งต้องห้ามนั้น เห็นว่าการนำสืบพยานเพื่ออธิบายข้อความในสัญญาซึ่งยังไม่ชัดเจนพอนั้น ไม่ถือว่าเป็นการนำสืบเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารแต่ประการใด จึงไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๙๔
พิพากษายืน