คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1255/2546

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยอ้างว่า เงินค่าธรรมเนียมศาลมีจำนวนสูงมาก ไม่สามารถหาเงินได้ทันได้ติดต่อขอกู้ยืมเงินจากบุคคลอื่นไว้แล้ว แต่มีเหตุขัดข้องผู้ให้กู้ไม่สามารถนำเงินมาให้แก่จำเลยในขณะนี้ได้นั้น ยังถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีมีพฤติการณ์พิเศษตามความหมายของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ที่ศาลจะมีอำนาจสั่งขยายระยะเวลาการวางเงินค่าฤชาธรรมเนียมให้ได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงิน สัญญาค้ำประกัน และสัญญาจำนองเป็นเงินจำนวน 12,575,818.85บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี จากต้นเงิน 10,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ถ้าไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาด หากได้เงินไม่พอก็ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา จำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้คดีขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างการพิจารณาในวันนัดสืบพยานจำเลยที่ 2 ทนายจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีอ้างว่าติดธุระเกี่ยวกับการรังวัดที่ดิน

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า เหตุที่ทนายจำเลยที่ 2 อ้างมิใช่เหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงเสียได้ ให้ยกคำร้อง และถือว่าจำเลยที่ 2 ไม่มีพยานมาสืบ จึงให้งดสืบพยาน จำเลยที่ 2

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 12,575,818.85บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี แต่มิให้เกินอัตราสูงสุดที่โจทก์มีสิทธิเรียกได้ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย และประกาศธนาคารโจทก์ ของต้นเงิน10,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ หากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองบังคับชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี แต่จำเลยที่ 2 มิได้นำเงินค่าธรรมเนียมมาวางศาลพร้อมอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2

ก่อนครบกำหนดยื่นอุทธรณ์จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมและยื่นอุทธรณ์มาใหม่ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมได้ หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมอีก 3 ครั้ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตทุกครั้ง ต่อมาจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมอีกโดยอ้างว่าค่าธรรมเนียมศาลเป็นเงินจำนวนมาก จำเลยที่ 2 ยังไม่สามารถหาเงินมาวางต่อศาลได้ จึงขอขยายระยะเวลานับจากวันที่23 กุมภาพันธ์ 2544 จนถึงวันที่ 15 มีนาคม 2544

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ตามคำร้องมิใช่เหตุสมควรและศาลขยายระยะเวลาให้จำเลยที่ 2 มาหลายครั้งแล้ว จึงให้ยกคำร้อง

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์คำสั่ง

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน และไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ฉบับ ลงวันที่18 ธันวาคม 2543 คืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดตามอุทธรณ์ทั้งสองฉบับให้จำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 1,500 บาท แทนโจทก์

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมาสู่ศาลฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาจำเลยที่ 2ว่า กรณีที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าฤชาธรรมเนียมที่ต้องใช้ให้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษา โดยอ้างว่ามีพฤติการณ์พิเศษตามความหมายของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ที่ศาลชั้นต้นสมควรอนุญาตให้จำเลยที่ 2 ตามขอได้หรือไม่นั้น พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า การที่จำเลยที่ 2 อ้างในคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมศาลต่อศาลชั้นต้นลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2544ว่าเงินค่าธรรมเนียมศาลมีจำนวนสูงมาก ไม่สามารถหาเงินได้ทัน จำเลยที่ 2 ได้ติดต่อขอกู้ยืมเงินจากบุคคลอื่นไว้แล้ว แต่มีเหตุขัดข้องผู้ให้กู้ไม่สามารถนำเงินมาให้แก่จำเลยที่ 2 ได้ในขณะนี้นั้น พฤติการณ์ดังที่จำเลยที่ 2 อ้างนั้น ยังถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีมีพฤติการณ์พิเศษตามความหมายของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23ที่ศาลจะมีอำนาจสั่งขยายระยะเวลาการวางเงินค่าฤชาธรรมเนียมให้ได้ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาชอบแล้ว ต้องด้วยความเห็นศาลฎีกา ฎีกาจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share