แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จังหวัดอุทัยธานีไม่เคยมีโครงการจัดซื้อรถจักรยานยนต์ เพื่อมอบแก่เจ้าพนักงานตำรวจสายตรวจ และไม่มีข้อเท็จจริงเกิดขึ้นตามที่กลุ่มคนร้ายโทรศัพท์มาหลอกลวงโจทก์ร่วม ทั้งการที่โจทก์ร่วมมอบเงินแก่คนร้ายไปนั้น ก็หาได้ประสงค์เพื่อนำไปให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน แต่มอบเงินแก่คนร้ายก็ด้วยเหตุที่โจทก์ร่วมหลงเชื่อการหลอกลวงของกลุ่มคนร้ายด้วยข้อความอันเป็นเท็จ จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ร่วมได้ร่วมกับกลุ่มคนร้ายนำสินบนไปให้เจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทำการโดยมิชอบด้วยหน้าที่ เมื่อโจทก์ร่วมมอบเงินแก่คนร้ายไป โจทก์ร่วมย่อมได้รับความเสียหายจากการกระทำของกลุ่มคนร้ายโดยตรงและเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 83 และให้จำเลยคืนหรือใช้เงินที่ฉ้อโกงไปจำนวน 2,500,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณาร้อยตรีสุทินหรือณัฏฐนัย ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 83 จำคุก 3 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินที่ฉ้อโกงไปจำนวน 2,500,000 บาท แก่โจทก์ร่วม
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบและไม่ได้โต้เถียงกันฟังได้ในเบื้องต้นว่า วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2541 เวลา 10 นาฬิกาเศษ มีผู้ชายโทรศัพท์มาหาโจทก์ร่วมบอกว่าชื่อพงษ์ศักดิ์เป็นผู้จัดการฝ่ายขายบริษัทเอส พี ซูซูกิ จำกัด (มหาชน) ซึ่งร้านกอบกัยกิจพานิช ของโจทก์ร่วมเป็นตัวแทนจำหน่ายรถจักรยานยนต์ยี่ห้อ ซูซูกิ โจทก์ร่วมรู้จักนายพงษ์ศักดิ์ แต่ไม่เคยพูดคุยกัน บุคคลดังกล่าวพูดว่าได้รับการติดต่อจากผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานีจะซื้อรถจักรยานยนต์จำนวน 250 คัน มอบให้สายตรวจไว้ใช้ในการปฏิบัติราชการ จากนั้นให้โจทก์ร่วมพูดกับบุคคลที่อ้างว่าคือนายชุมพล ประธานบริษัท โจทก์ร่วมพูดคุยกับบุคคลดังกล่าวมีการสอบถามกิจการค้าขาย รายละเอียดเกี่ยวกับธุรกิจ เครดิตที่มีกับบริษัท แล้วให้โจทก์ร่วมรอเนื่องจากกำลังส่งพนักงานไปเจรจากับผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี แล้วบุคคลดังกล่าวให้คุยกับนายพงษ์ศักดิ์ต่อ ผู้ที่อ้างว่าชื่อนายพงษ์ศักดิ์พูดว่าบริษัท เอ.พี.ฮอนด้า จำกัด ส่งพนักงานไปเจรจากับผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานีด้วยในลักษณะการแข่งขันทางธุรกิจ สักพักผู้นั้นพูดว่านายชุมพลได้ข้อมูลมาแล้วให้โจทก์ร่วมพูดกับนายชุมพล ผู้ที่อ้างว่าคือนายชุมพลบอกว่าพนักงานพูดคุยกับผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานีแล้ว ได้รับแจ้งว่า นางยี กรรมการบริษัทนครสวรรค์ไทยจักรยานยนต์ จำกัด ตัวแทนจำหน่ายรถจักรยานยนต์ ยี่ห้อ ซูซูกิ เจรจาต่อรองเสนอเงินให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี จำนวน 3,000,000 บาท โจทก์ร่วมเชื่อตามนั้น บุคคลดังกล่าวบอกว่าเมื่อนางยีเสนอเงินให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี เขาติดต่อประสานงานไปยังผู้ใหญ่ในกระทรวงเพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานีอนุมัติซื้อรถจักรยานยนต์จากบริษัท เอส พี ซูซูกิ จำกัด (มหาชน) แต่ต้องการเงินจำนวน 2,500,000 บาท เพื่อใช้ในการทำสัญญา โจทก์ร่วมสามารถหาเงินให้ได้หรือไม่ โจทก์ร่วมจึงสอบถามธนาคารที่โจทก์ร่วมมีบัญชีเงินฝาก ธนาคารแจ้งว่ามีเงินเหลือ บุคคลนั้นบอกให้โจทก์ร่วมไปธนาคารเพื่อถอนเงิน โจทก์ร่วมไปธนาคารทหารไทย จำกัด สาขาอุทัยธานี ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารบอกว่ามีผู้ชายชื่อศิริชัยโทรศัพท์มาจากบริษัทเอส พี ซูซูกิ จำกัด (มหาชน) พูดว่า ตระกูลพรประภาจะโอนเงินเข้าบัญชีโจทก์ร่วมจำนวน 2,500,000 บาท กำลังตรวจสอบหมายเลขบัญชี โจทก์ร่วมจึงมอบหมายเลขบัญชีให้ผู้ช่วยผู้จัดการ ขณะโจทก์ร่วมดำเนินการถอนเงินมีผู้ชายโทรศัพท์มายังโทรศัพท์เคลื่อนที่ของโจทก์ร่วมพูดจาโวยวายว่าเป็นเจ้าหน้าที่หน้าห้องผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี ให้โจทก์ร่วมรีบเดินทางไปศาลากลางจังหวัดอุทัยธานีเพื่อนำเงินไปมอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัดโดยเร็ว และสอบถามว่าจะขับรถอะไรไป ไปกี่คน ให้ขับรถไปจอดบริเวณโรงจอดรถด้านหลังศาลากลางจังหวัด เวลาประมาณ 12 นาฬิกา โจทก์ร่วมขับรถยนต์เลี้ยวไปด้านหลังศาลากลางจังหวัด มีผู้ชายโทรศัพท์มาพูดว่า เห็นรถยนต์ของโจทก์ร่วมแล้วให้จอดรถบริเวณด้านหลัง ให้ดูว่ามีใครอยู่แถวนั้นบ้าง ให้นำเงินไปวางไว้ข้างกระถางปูนใบที่ 3 ซึ่งอยู่ติดรั้วโจทก์ร่วมนำเป้บรรจุเงินจำนวน 2,500,000 บาท ไปวางข้างกระถางแต่ไม่เห็นผู้ใด ผู้ชายคนนั้นบอกให้โจทก์ร่วมขับรถออกไป โจทก์ร่วมขับรถยนต์ไปจอดข้างอาคารศาลจังหวัดอุทัยธานีหลังเก่าห่างจากจุดวางเป้ประมาณ 15 เมตร เห็นรถยนต์เก๋งสีแดงมีผู้ชาย 2 คน นั่งมา ขับไปจอดบริเวณโรงจอดรถด้านหลังศาลากลางจังหวัด ผู้ชายคนหนึ่งลงไปหยิบเป้ขึ้นรถ รถยนต์เก๋งแล่นออกประตูด้านหลังศาลจังหวัดทันที สักครู่มีผู้ชายโทรศัพท์มาถามว่าเอาเป้คืนหรือไม่ โจทก์ร่วมบอกว่าไม่เอา หลังจากนั้นมีผู้ชายโทรศัพท์มาอ้างว่าชื่อชุมพล ยกเลิกการพักค้างคืนที่โรงแรมห้วยขาแข้งที่ให้โจทก์ร่วมเตรียมเงินไว้ 2,500,000 บาท เพื่อไปทำสัญญากับผู้ว่าราชการจังหวัดที่โรงแรมดังกล่าวเวลา 15 นาฬิกา แต่จะเดินทางไปพักที่จังหวัดลพบุรี อย่าให้โจทก์ร่วมบอกเจ้าของโรงแรม โจทก์ร่วมแปลกใจจึงขึ้นไปบนศาลากลางจังหวัดสอบถามเจ้าหน้าที่ว่าจังหวัดมีโครงการจะจัดซื้อจักรยานยนต์หรือไม่ เจ้าหน้าที่ตอบว่าไม่มี โจทก์ร่วมจึงไปแจ้งความร้องทุกข์
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมว่า โจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยมีอำนาจไปร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบที่ฟังได้ในเบื้องต้นปรากฏว่า จังหวัดอุทัยธานี โดยผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานีไม่เคยมีโครงการจัดซื้อรถจักรยานยนต์จำนวน 250 คัน เพื่อนำไปมอบให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจสายตรวจ และไม่มีข้อเท็จจริงเกิดขึ้นตามที่กลุ่มคนร้ายโทรศัพท์มาหลอกลวงโจทก์ร่วม ทั้งการที่โจทก์ร่วมมอบเงินให้แก่คนร้ายไปนั้น ก็หาได้ประสงค์เพื่อนำไปให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน แต่มอบเงินให้แก่คนร้ายก็ด้วยเหตุที่โจทก์ร่วมหลงเชื่อการหลอกลวงของกลุ่มคนร้ายด้วยข้อความอันเป็นเท็จ กรณีจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ร่วมได้ร่วมกับกลุ่มคนร้ายนำสินบนไปให้เจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทำการโดยมิชอบด้วยหน้าที่ ดังนั้น เมื่อโจทก์ร่วมมอบเงินให้แก่คนร้ายไป โจทก์ร่วมย่อมได้รับความเสียหายจากการกระทำของกลุ่มคนร้ายโดยตรงและเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย จึงมีสิทธิร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีในความผิดฐานฉ้อโกงเป็นคดีนี้ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาว่า โจทก์ร่วมไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยไม่มีสิทธิร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีนี้อันเป็นคดีความผิดอันยอมความได้ ทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องและพิพากษายกฟ้องนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมฟังขึ้น
พิพากษายกคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 6 และให้ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ทำการพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี