คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1254/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำว่า ‘ที่ดินรกร้างว่างเปล่า’ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1304(1) ตรงกับคำว่า ‘ที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน’ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. 2478 การดำเนินการจัดหาที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินทำเป็นที่สาธารณะประจำตำบลและหมู่บ้านตามหนังสือของกระทรวงมหาดไทยถึงคณะกรรมการจังหวัดทุกจังหวัดนั้น จะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติดังกล่าว กล่าวคือต้องออกเป็นพระราชกฤษฎีกาและประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อไม่ปรากฏว่า ได้มีการดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งมีผลบังคับอยู่ในขณะนั้นแม้จะได้มีการขึ้นทะเบียนที่พิพาทเป็นที่สาธารณะประจำหมู่บ้าน ก็ไม่มีผลให้ที่พิพาทเป็นที่สาธารณะประจำหมู่บ้านไปได้ โจทก์เข้าครอบครองที่พิพาทก่อนประกาศใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน ทางราชการได้ออกใบเหยียบย่ำให้ เมื่อประกาศใช้ประมวลกฎหมายที่ดินโจทก์ได้แจ้งการครอบครองไว้แล้ว ทั้งยังครอบครองตลอดมา ที่พิพาทจึงเป็นสิทธิของโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตามใบเหยียบย่ำและเข้าครอบครองทำประโยชน์ตั้งแต่ พ.ศ. 2491 ตลอดมา ทั้งได้แจ้งการครอบครองแบบส.ค.1 ไว้ มีอาณาเขตตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้องเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2523 จำเลยซึ่งเป็นกำนันตำบลบ่อนอกได้นำเจ้าพนักงานที่ดินไปรังวัดสอบเขตที่ดินของโจทก์ อ้างว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่สาธารณะประโยชน์ประจำหมู่บ้านสำหรับประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันอันเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์หลังจากมีการรังวัดแล้วจำเลยบังอาจทำหลักหิน 2 หลักและป้ายประกาศแสดงว่าเป็นที่สาธารณะมาปักไว้ อันเป็นการที่มิได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. 2478 ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินตามฟ้องเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยเข้ารบกวนการครอบครองให้จำเลยรื้อถอนหลักหิน 2 หลัก และป้ายที่ปักไว้ออกไปมิฉะนั้นให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาและให้จำเลยชดใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์ 100,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ที่ดินตามฟ้องเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินสาธารณประโยชน์สำหรับประชาชนใช้ร่วมกันซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้สงวนหวงห้ามไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2486 ที่ดินดังกล่าวยังไม่มีการเพิกถอนสภาพ แม้โจทก์จะได้ครอบครองทำประโยชน์ก็ไม่อาจยกอายุความการได้สิทธิในที่ดินมาเป็นข้อกล่าวอ้างได้โจทก์ไม่เป็นเจ้าของที่ดินจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยนำเจ้าพนักงานไปรังวัดแนวเขตที่ดินปักเสาหินและป้ายประกาศโดยได้รับมอบจากนายอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิด คดีโจทก์ขาดอายุความจากมูลละเมิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่กระทรวงมหาดไทยมีหนังสือถึงคณะกรรมการจังหวัดทุกจังหวัดให้จัดหาที่ดินทำเป็นที่สาธารณะประจำตำบลและหมู่บ้านจากที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินแล้วรีบรายงานมายังกระทรวงมหาดไทยเพื่อจะได้ออกกฎหมายหวงห้ามไว้นั้น คำว่า ‘ที่ดินรกร้างว่างเปล่า’ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 (1) ตรงกับคำว่า’ที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน’ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. 2478 ซึ่งในขณะดำเนินในเรื่องนี้ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 5 บัญญัติวิธีการในการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าคือให้ออกเป็นพระราชกฤษฎีกาและประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อไม่ปรากฏว่าได้มีการดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ซึ่งมีผลบังคับอยู่และมิได้ปฏิบัติตามหนังสือกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวแต่อย่างใด เหตุนี้แม้จะได้มีการขึ้นทะเบียนที่พิพาทเป็นที่สาธารณะประจำหมู่บ้านก็ไม่เป็นผลให้ที่พิพาทเป็นที่สาธารณะประจำหมู่บ้านไปได้ เนื่องจากมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติที่กฎหมายกำหนดไว้ โจทก์เข้าครอบครองที่พิพาทเมื่อ พ.ศ. 2491 ก่อนประกาศใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 ทางราชการออกใบเหยียบย่ำให้ในปีที่โจทก์เข้าครอบครอง โจทก์ก็ได้ไปแจ้งการครอบครองแบบ ส.ค.1 ไว้ทั้งยังครอบครองตลอดมาจนบัดนี้ ที่พิพาทจึงเป็นสิทธิของโจทก์
พิพากษากลับเป็นว่า ที่พิพาทเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยรบกวนการครอบครองของโจทก์ ให้จำเลยรื้อถอนหลักหิน 2 หลัก และป้ายประกาศที่แสดงว่าที่พิพาทเป็นที่สาธารณะออกไป.

Share