แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาขายที่ดินพิพาทให้โจทก์แล้ว แต่ยังไม่ได้ไปทำสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพราะการผัดผ่อนของจำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยที่ 1 ที่ 2 สมคบกันยินยอมใส่ชื่อจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4,5,6,7 ซึ่งเป็นบุตรของจำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่พิพาทแม้การยอมให้จำเลยที่ 2,4,5,6,7 ลงชื่อในโฉนดที่พิพาทนั้น เพราะจำเลยที่ 1 ได้ยกที่พิพาทให้ก็ดี แต่การที่จำเลยได้จดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์ที่พิพาทเป็นทางเสียเปรียบแก่โจทก์ผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อนแล้ว โจทก์อาจเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนนั้นได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1300
ย่อยาว
เรื่องผิดสัญญาซื้อขายที่ดิน เพิกถอนนิติกรรม
ได้ความว่าเมื่อวันที่ ๑๐ เม.ย.๒๔๙๒ จำเลยที่ได้ทำสัญญาขายที่พิพาทให้โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.๑ แต่ยังมิได้ไปทำสัญญาซื้อขาย ให้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยจำเลยที่ ๑ ขอผัดเรื่อย ๆ มา
ต่อมาเดือน ก.พ.๒๔๙๕ จำเลยที่ ๒ ไปขอรังวัดออกตราจองในที่พิพาทเป็นของจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๑ ไปคัดค้าน
ต่อมาอีกปีเศษเจ้าพนักงานจึงออกโฉนดที่ ๓๘๘๐ ให้โดยจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ สมคบกันยินยอมใส่ชื่อจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔,๕,๖,๗ บุตรจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ถือกรรมสิทธิในที่พิพาทโฉนดที่ ๓๘๘๐
จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า เอกสารหมาย จ.๑ เป็นสัญญาเอาเปรียบ โจทก์จึงไม่เป็นบุคคลอันอยู่ในฐานะอันจะได้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน คดีไม่เข้าตาม ป.พ.พ.มาตรา ๑๓๐๐
ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลล่างทั้งสอง ให้เพิกถอนโฉนดที่ ๓๘๘๐ ซึ่งมีชื่อจำเลยที่ ๑,๒,๔,๕,๖ และ ๗ เสีย และให้จำเลยที่ ๑ ทำสัญญาซื้อขายที่พิพาทให้โจทก์ โดยให้โจทก์ชำระราคาที่พิพาทที่ยังค้างชำระอีก ๑๐๐๐ บาท ให้จำเลยที่ ๑ ก่อน
ทั้งนี้โดยศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยที่ ๑ ได้ทำสัญญาขายที่พิพาทให้โจทก์เมื่อวันที่ ๑๐ เม.ย.๒๔๙๒ แต่ยังไม่ไปทำสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพราะการผัดผ่อนของจำเลยที่ ๑ ต่อมาจำเลยที่ ๑,๒ กลับยินยอมตกลงใส่ชื่อจำเลยที่ ๑,๒ ร่วมกับจำเลยที่ ๔,๕,๖ และ ๗ บุตรจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ถือกรรมสิทธิในที่ดินพิพาทโฉนดที่ ๓๘๘๐ แม้การยอมให้จำเลยที่ ๒,๔,๕,๖,๗ ลงชื่อในที่พิพาทนั้น เพราะจำเลยที่ ๑ ได้ยกที่พิพาทให้ก็ดี แต่การที่จำเลยได้จดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์ที่พิพาทเป็นทางเสียเปรียบแก่โจทก์ผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อนแล้ว โจทก์อาจเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนนั้นได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา ๑๓๐๐