คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1252/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ในคดีอาญาแม้ศาลชั้นต้นเพียงแต่ วินิจฉัยว่า จำเลยไม่มีเจตนาบุกรุกจึงไม่มีความผิด แต่ ศาลชั้นต้นก็ได้ วินิจฉัยข้อเท็จจริงก่อนว่าโจทก์ได้ ทำหนังสือรับรองเอกสารหมาย ล.1ว่าบิดาโจทก์ได้ มอบสวนและที่นาพิพาทให้โจทก์เป็นผู้รับรักษาทำกินโดย ไม่ยึดถือเป็นของตน ผู้เดียว แล้วจึงอาศัยข้อความวินิจฉัยถึง เจตนาของจำเลย ถือ ได้ ว่าข้อเท็จจริงที่ว่าโจทก์ได้ ทำหนังสือรับรองเอกสารหมาย ล.1 ไว้จริงหรือไม่ เป็นประเด็นโดยตรงในคดีอาญา เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3 ซึ่ง ต่าง เป็นคู่ความเดียว กันในคดีอาญาเป็นคดีนี้อีก และมีประเด็นโต้เถียง อย่างเดียวกันว่าเอกสารหมาย ล.1 ในคดีอาญานั้นปลอมหรือไม่ ศาลฎีกาจึงต้องถือ ตาม ข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาแล้ว โจทก์จะโต้เถียงว่าเอกสารหมาย ล.1 เป็นเอกสารปลอมหาได้ไม่ โจทก์ทำสัญญาไว้กับบิดาโจทก์ว่า บิดาโจทก์ได้ มอบที่สวนและที่นา ซึ่ง เป็นที่พิพาทกับทรัพย์อื่นให้โจทก์เป็นผู้รับรักษาทำกินโดย จะไม่ยึดถือเป็นของตน แต่ ผู้เดียว และจะยอมแบ่งให้น้องทุกคน ดังนี้ ถือ ได้ ว่าเป็นการรับรองสิทธิของบิดาโจทก์ในทรัพย์ดังกล่าว การที่โจทก์ครอบครองที่พิพาท จึงเป็นการครอบครองแทนบิดาโจทก์เพื่อแบ่งให้น้อง ๆ ต่อไป เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ แสดงเจตนาเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือเป็นการยึดถือเพื่อตน ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1381 แม้โจทก์จะครอบครองนานเท่าใดก็ไม่ได้สิทธิครอบครอง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดิน 3 แปลง โดยเป็นที่นา2 แปลง และที่ดินปลูกบ้านอีก 1 แปลง ได้มาโดยการซื้อจากการขายทอดตลาดของศาลชั้นต้น เมื่อประมาณ 20 ปีมาแล้ว โจทก์ได้ครอบครองที่ดินทั้งสามแปลงตลอดมา ทั้งได้ขอออก น.ส.3 ที่ดินทั้งสามแปลงในปี พ.ศ. 2520 เมื่อเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนกรกฎาคม2527 จำเลยทั้งสามได้บุกรุกเข้าไปไถนาและปักดำในที่ดินของโจทก์ทั้งสามแปลง โจทก์ห้ามปรามแล้ว จำเลยทั้งสามเพิกเฉยโดยอ้างว่าที่นาดังกล่าวเป็นของจำเลยทั้งสามและจำเลยที่ 1 ที่ 2 ซึ่งเป็นสามีภรรยากันได้ขออาศัยที่ดินของโจทก์ปลูกบ้านอยู่อาศัยโจทก์บอกกล่าวให้รื้อถอน แต่จำเลยที่ 1 ที่ 2 คงเพิกเฉย ขอให้ศาลพิพากษาขับไล่จำเลยทั้งสามและบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์ทั้งสองแปลง กับให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 รื้อบ้านออกไปจากที่ดินของโจทก์หากไม่รื้อถอนให้โจทก์รื้อถอนเอง โดยจำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ และก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาโจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ให้การใจความเดียวกันว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3และโจทก์เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน โจทก์ไม่ใช่เจ้าของที่ดินทั้งสามแปลง ที่ดินพิพาททั้งสามแปลงเป็นของนายทองพูนเมืองจันทร์ บิดาโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งปัจจุบันได้บวชเป็นพระภิกษุ ตอนที่พระทองพูนยังไม่ได้บวชได้พาบุตรทุกคนเข้าไปทำประโยชน์และครอบครองที่ดินพิพาทนั้น หลังจากบวชเป็นพระภิกษุแล้วก็ได้ให้โจทก์ซึ่งเป็นบุตรคนโตเป็นผู้พาน้องทุกคนทำประโยชน์และครอบครองที่ดินทุกแปลงตลอดมา จนถึงปี พ.ศ. 2520 ทางราชการได้เดินสำรวจออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ พระภิกษุทองพูนจึงได้มอบให้โจทก์เป็นตัวแทนนำเจ้าหน้าที่มาออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ แล้วให้ใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ถือสิทธิครอบครองไว้แทนก่อนโจทก์กับพี่น้องทุกคนรวมทั้งจำเลยที่ 2 ที่ 3 ได้ร่วมกันทำประโยชน์ในที่ดินพิพาททุกแปลงตลอดมา และปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่ดินส่วนของพระภิกษุทองพูนร่วมกันตลอดมา ที่โจทก์อ้างว่าซื้อที่ดินทั้งสามแปลงได้จากการขายทอดตลาดของศาลชั้นต้นนั้นไม่เป็นความจริงโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้เพราะโจทก์ไม่ใช่เจ้าของที่ดินที่แท้จริงจำเลยเข้าทำนาและปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่พิพาทมาหลายปีแล้วฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงคงฟังได้เบื้องต้นว่า โจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นบุตรพระภิกษุทองพูนเมืองจันทร์ กับนางสูญซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว ที่ดินพิพาททั้งสามแปลงเดิมเป็นของพระภิกษุทองพูน ต่อมาโจทก์ได้ขอออก น.ส.3 เป็นชื่อของโจทก์แต่ผู้เดียว มีปัญหาวินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิขับไล่จำเลยทั้งสามออกจากที่ดินพิพาทหรือไม่ โจทก์ฎีกาสรุปความสำคัญได้ว่าเอกสารหมาย ล.1 ที่มีข้อความให้โจทก์ครอบครองที่ดินพิพาททั้งสามแปลงเพื่อแบ่งให้น้อง ๆ ต่อไปนั้นเป็นเอกสารที่ทำปลอมขึ้นเห็นว่า ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 754/2528 ของศาลชั้นต้นซึ่งพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ในคดีนี้เป็นจำเลยในข้อหาบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ในที่นาของโจทก์คดีนี้ตาม น.ส.3 ก. เลขที่ 1242 เอกสารหมาย จ.1 จำเลยทั้งสองต่อสู้ว่าโจทก์เป็นเพียงผู้ครอบครองที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองที่โจทก์ทำไว้กับพระภิกษุทองพูน เมืองจันทร์ บิดาโจทก์ ตามภาพภ่ายเอกสารหมาย ล.1 ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ได้ทำหนังสือตามภาพถ่ายเอกสารหมาย ล.1 จริง จำเลยทั้งสองเข้าไปทำนาในที่ดินพิพาทโดยเชื่อว่ามีสิทธิเข้าไปทำได้โดยสุจริต จึงไม่มีเจตนาบุกรุก พิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์มาฟ้องขับไล่จำเลยที่ 2 และที่ 3 หาว่าร่วมกับจำเลยที่ 1 บุกรุกที่ดินพิพาทแปลงเดียวกันรวมทั้งที่ดินแปลงอื่นในคดีนี้อีก พิจารณาแผนที่สังเขปแสดงที่เกิดเหตุตามเอกสารหมาย จ.2 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่754/2528 กับที่ดินพิพาทตามภาพถ่าย น.ส.3 ก.เอกสารหมาย จ.1คดีนี้ ซึ่งเป็นที่ดินแปลงเดียวกัน ประกอบกับคำเบิกความของโจทก์ว่าฝ่ายจำเลยบุกรุกเข้าไปทำนาทางทิศตะวันออกเป็นเนื้อที่ครึ่งหนึ่ง เห็นว่าบริเวณที่หาว่าบุกรุกเป็นบริเวณเดียวกัน เพียงแต่คดีนี้มีเนื้อที่เพิ่มขึ้นจนเต็มเนื้อที่ทางทิศตะวันออก ทั้งตามฟ้องในคดีอาญาดังกล่าวกับคดีนี้ก็เป็นการบุกรุกในช่วงเวลาเดียวกันจึงเชื่อว่าเป็นการบุกรุกในคราวเดียวกัน การฟ้องคดีนี้ส่วนที่เกี่ยวกับที่ดินพิพาทบริเวณเดียวกันกับในคดีอาญาจึงเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาดังกล่าว แม้ในคดีอาญาศาลชั้นต้นเพียงแต่วินิจฉัยว่า จำเลยไม่มีเจตนาบุกรุกจึงไม่มีความผิดตามฟ้อง แต่ศาลชั้นต้นก็ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงก่อนว่าโจทก์ได้ทำหนังสือรับรองตามภาพถ่ายเอกสารหมาย ล.1 ไว้จริง แล้วจึงอาศัยข้อความในเอกสารดังกล่าวมาเป็นข้อวินิจฉัยถึงเจตนาของจำเลยในการกระทำความผิดทางอาญา ถือได้ว่าข้อเท็จจริงที่ว่าโจทก์ได้ทำหนังสือตามภาพถ่ายเอกสารหมาย ล.1 ไว้จริงหรือไม่ เป็นประเด็นโดยตรงในคดีอาญา เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3 ซึ่งต่างเป็นคู่ความเดียวกันในคดีอาญาเป็นคดีนี้อีก และมีประเด็นโต้เถียงอย่างเดียวกันว่า เอกสารหมาย ล.1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 754/2528 นั้นปลอมหรือไม่ ศาลฎีกาจึงต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาแล้วในคดีอาญาดังกล่าวว่าโจทก์ได้ทำหนังสือไว้ตามภาพถ่ายเอกสารหมาย ล.1 จริง โจทก์จะโต้เถียงว่าเป็นเอกสารปลอมหาได้ไม่และการรับฟังเอกสารดังกล่าวก็ต้องรับฟังทั้งฉบับเพราะมีข้อความกล่าวรวมถึงทรัพย์สินอื่นของบิดาโจทก์หลายอย่าง มิได้หมายถึงเฉพาะทรัพย์ที่พิพาทกันในคดีอาญาเท่านั้น ดังนั้นเมื่อตามภาพถ่ายเอกสารหมาย ล.1 มีใจความสำคัญว่าบิดาโจทก์ได้มอบที่สวนและที่นาซึ่งก็คือที่ดินพิพาททั้งสามแปลงในคดีนี้ กับทรัพย์อื่นให้โจทก์เป็นผู้รับรักษาทำกินโดยจะไม่ยึดถือเป็นของตนแต่ผู้เดียว และจะยอมแบ่งให้น้องทุกคน ดังนี้ถือได้ว่าเป็นการรับรองสิทธิของบิดาโจทก์ในทรัพย์ดังกล่าว การที่โจทก์ครอบครองที่ดินพิพาททั้งสามแปลงต่อมาจึงเป็นเพียงการครอบครองแทนบิดาโจทก์เพื่อแบ่งให้น้อง ๆ ต่อไปเท่านั้น ที่โจทก์ฎีกาว่า การที่บิดาโจทก์เรียกโจทก์ไปทำหนังสือตามภาพถ่ายเอกสารหมาย ล.1 แสดงว่าโจทก์ได้อ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ และเมื่อครอบครองเกิน 1 ปี โจทก์ย่อมได้สิทธิครอบครองนั้น เห็นว่าเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า การที่โจทก์ครอบครองที่ดินพิพาททั้งสามแปลงหลังจากทำหนังสือตามภาพถ่ายเอกสารหมาย ล.1 เป็นเพียงการครอบครองแทน ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้แสดงเจตนาเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือ เป็นการยึดถือเพื่อตนตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 ตั้งแต่เมื่อใดแม้โจทก์จะครอบครองนานเท่าใดก็ไม่ได้สิทธิครอบครอง จำเลยที่ 2 ที่ 3 ย่อมมีสิทธิ์เข้าทำกินในที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิของพระภิกษุทองพูน ผู้เป็นบิดาด้วย โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยที่ 2 ที่ 3 คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์ต่อไปคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share