คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 125/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในศาลชั้นต้นไม่ได้ต่อสู้ว่าวัตถุประสงค์ของห้างหุ้นส่วนผิดกฎหมาย แต่ครั้นแพ้คดีจึงยกขึ้น เช่นนี้ เป็นการใช้สิทธิแห่งตนไม่สุจริต
พระราชบัญญัติควบคุมการได้มาซึ่งที่ดินโดยห้างหุ้นส่วน ฯลฯ พ.ศ. 2485 และประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 นั้น เป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน เพราะมีข้อห้ามกำหนดโทษเป็นความผิดทางอาญาไว้ แต่คำว่า “ห้างหุ้นส่วน” ในพระราชบัญญัติดังกล่าวนี้ หมายถึงห้างหุ้นส่วนที่จดทะเบียน อันถือว่าเป็นนิติบุคคล เพราะห้างหุ้นส่วนที่ไม่ได้จดทะเบียนย่อมไม่อาจได้มาซึ่งที่ดินและไม่อยู่ในฐานะที่จะถูกลงโทษทางอาญา ดังนั้น หุ้นส่วนรายนี้จึงไม่อยู่ในบังคับพระราชบัญญัติฉบับนี้ และตามความในประมวลกฎหมายที่ดินนั้น ห้างหุ้นส่วนนั้นต้องเป็นห้างหุ้นส่วนที่จดทะเบียนแล้ว การที่ทนายความแถลงรับข้อเท็จจริงนั้น ถือว่าเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาตามรูปความ มิใช่จำหน่ายสิทธิ ดังนั้นตัวความจะคัดค้านมิได้ เมื่อไม่ยกประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1055 (5) ขึ้นต่อสู้ในศาลชั้นต้น การที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยจึงชอบแล้ว เพราะไม่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน

ย่อยาว

คดีนี้ โจทก์ฟ้องขอให้สั่งกำจัดจำเลย (ผู้เป็นหุ้นส่วน) ออกไปเสียจากห้างหุ้นส่วนสามัญบริษัทสวนหมาก และถอนชื่อจำเลยออกเสียจากหน้าโฉนดที่ดินโดยอ้างว่าจำเลยทำการขัดขวางต่อวัตถุประสงค์ของห้างหุ้นส่วนนี้
จำเลยให้การต่อสู้และว่าโจทก์ไม่มีอำนาจจะฟ้องให้ทำเช่นนั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชนะตามขอ
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยมิได้อ้างถึงวัตถุประสงค์ของห้างหุ้นส่วนผิดกฎหมายขึ้นต่อสู้ในศาลชั้นต้นอย่างใดเลย ต่อเมื่อแพ้คดีในศาลชั้นต้นจึงยกความข้อนี้เป็นข้อต่อสู้ จึงเป็นการใช้สิทธิแห่งตนไม่สุจริต และพระราชบัญญัติควบคุมการได้มาซึ่งที่ดินโดยห้างหุ้นส่วนและบริษัทจำกัดเพื่อค้ากำไร พ.ศ. ๒๔๘๕ และประมวลกฎหมายที่ดินที่ออกบังคับใช้ใน พ.ศ. ๒๔๙๗ ซึ่งจำเลยยกขึ้นต่อสู้นั้น แม้จะมีข้อห้ามอันกำหนดโทษเป็นความผิดทางอาญาซึ่งอาจถือเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนก็ดี แต่ข้อห้ามนั้น ๆ จะนำมาปรับกับคดีนี้ไม่ได้ เพราะคำว่า “ห้างหุ้นส่วนในมาตรา ๓,๖ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวน่าจะหมายถึงห้างหุ้นส่วนสามัญที่จดทะเบียนอันถือได้ว่าเป็นนิติบุคคลต่างหากจากผู้เป็นหุ้นส่วนเช่นเดียวกับห้างหุ้นส่วนจำกัด และบริษัทจำกัด ที่บัญญัติไว้ด้วยกันนั้น เพราะห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิได้จดทะเบียนย่อมไม่อยู่ในสภาพที่จะได้มาซึ่งที่ดินได้ และไม่อยู่ในสภาพที่จะถูกลงโทษทางอาญาได้ด้วย ห้างหุ้นส่วนรายนี้เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิได้จดทะเบียน จึงไม่อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัตินี้ ส่วนประมวลกฎหมายที่ดินที่บัญญัติถึงคนต่างด้าวถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนก็ดี ให้บุคคลใดที่ประสงค์จะทำการค้าที่ดินต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีก่อนก็ดี ก็ต้องเป็นห้างหุ้นส่วนสามัาญที่จดทะเบียนเป็นิติบุคคลเช่นเดียวกัน ทั้งประมวลกฎหมายที่ดินนี้เพิ่งประกาศใช้บังคับภายหลังที่ได้ก่อตั้งห้างหุ้นส่วนนี้ การเข้ากันเป็นหุ้นส่วนค้าที่ดินหาเป็นการผิดกฎหมายไม่ ส่วนเมื่อเกิดหุ้นส่วนขึ้นแล้วห้างหุ้นส่วนนั้นจะปฏิบัติการค้าที่ดินฝ่าฝืนกฎหมายหรือไม่ เป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหาก จึงกล่าวไม่ได้ถนัดว่า สัญญาเข้าหุ้นส่วนรายนี้มีวัตถุประสงค์ผิดกฎหมาย ศาลฎีกาจึงเห็นว่าจำเลยจะยกพระราชบัญญัติควบคุมการได้มาซึ่งที่ดินโดยห้างหุ้นส่วนและบริษัทจำกัด เพื่อค้ากำไร พ.ศ. ๒๔๘๕ และประมวลกฎหมายที่ดินขึ้นตัดอำนาจฟ้องของโจทก์ตามที่อุทธรณ์ฎีกามานั้นหาได้ไม่
ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ว่า การที่ทนายของจำเลยแถลงรับข้อเท็จจริง ถือได้ว่าเป็นการว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาแทนจำเลยตามรูปความ หาใช่เป็นไปในทางจำหน่ายสิทธิของคู่ความไม่ จำเลยจะมาคัดค้านการกระทำของทนายความตนเช่นนี้ไม่ได้
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ว่า เมื่อนายประชา รัตสาร ตายแล้ว ห้างหุ้นส่วนย่อมเลิกไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๐๕๕ (๕) โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยมิได้ยกปัญหาข้อนี้ขึ้นว่ากันในศาลชั้นต้น ทั้งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์ไม่ยกขึ้นวินิจฉัยชอบแล้ว
พิพากษายืน ยกฎีกาจำเลย

Share