คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1246-1247/2499

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีสองเรื่องพิพาทเกี่ยวกับทรัพย์รายเดียวกัน สำนวนแรก+ทุนทรัพย์มาเกิน 2,000 บ.ส่วนสำนวนหหลังตั้งทุนทรัพย์มาไม่เกิน 2,000 บ. (คือ 2000 บ.) ดังนั้นฉะเพาะคดีหลังย่อมต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.แพ่ง ม.248 (อ้างฎีกาที่ 79,80/94)
กล่าวฟ้องว่าโจทก์และผู้มีชื่อในโฉนดปกครองร่วมกันมาทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่าเมื่อซื้อแล้วก็ใส่ชื่อผู้ซื้อในโฉนดแล้วโจทก์และผู้มีชื่ออีกคนหนึ่งมอบหมายให้จำเลยเป็นผู้ดูแลปกครองที่ดินดังนี้ย่อมถือว่าเป็นการสืบถูกต้องตามประเด็นในฟ้องแล้ว
เมื่อปรากฎว่าจำเลยครอบครองแทนผู้มีชื่อในโฉนดอื่นแล้วอายุความฟ้องคดีเพื่อเอาคืนการครอบครองตาม ม.1375 ก็ไม่ตั้งต้นจนกว่าจะได้บอกกล่าวไปยังผู้ครอบครองว่าตนไม่เจตนาจะยึดถือทรัพย์สินแทนผู้ครอบครองคือเจ้าของอีกต่อไปตาม ม.1381
เจ้าของรวมคนหนึ่งในโฉนดมีสิทธิจำหน่ายส่วนที่ตนมีสิทธิได้ ตาม ม.1361 วรรค 1 เพราะไม่ใช่เป็นการจำหน่ายตัวทรัพย์สินทั้งหมดตามในวรรค 2

ย่อยาว

สองคดีนี้ศาลรวมพิจารณาสำนวนแรกนายแพ โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยแบ่งที่ตามหน้าโฉนดให้ ๑ ใน ๓ โดยโจทก์ซื้อจากนายหล่อผู้ถือกรรมสิทธิร่วมจำเลยให้การว่านายหล่อสละให้จำเลยเพื่อหักกลบลบหนี้ ส่วนสำนวนหลังนายผูกฟ้องจำเลยขอแบ่งแยกที่ดินแปลงเดียวกัน จำเลยให้การว่านายผูกขายให้แล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้แบ่งที่ดินเป็น ๓ ส่วน ให้นายแพ นายผูกจำเลยคนละส่วนไม่ตกลงให้ขายทอดตลาดแบ่งเงินกัน
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาทั้งสองสำนวนรวมกัน
ศาลฎีกาปรึกษาแล้วคดีแรกที่นายแพเป็นโจทก์มีทุนทรัพย์ ๓,๐๐๐ บ.คดีหลังนายผูกเป็นโจทก์มีทุนทรัพย์ ๒,๐๐๐ บ.จำเลยจึงฎีกาในข้อเท็จจริงไม่ได้ต้องห้ามตาม ป.วิ.แพ่ง ม.๒๔๘ เฉพาะคดีหลังจำเลยฎีกาได้แต่+ ก.ม.ตามนับฎีกาที่ ๗๙ ,๘๐/๒๔๙๔
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าการมีชื่อในโฉนด ก.ม.สันนิษฐานว่าเป็นผู้มีกรรมสิทธิกล่าวคือเป็นผู้ครอบครองด้วย นอกจากนั้นฟ้องทั้งสองสำนวนยังกล่าวย้ำอีกว่าผู้มีชื่อในโฉนดทั้งสามนั้นได้ปกครองร่วมกันมาด้วยฉะนั้นตามที่นายแพและนายผูกโจทก์นำสืบว่าเมื่อได้ซื้อที่พิพาทแล้วได้ใส่ชื่อผู้ซื้อทั้งสามคนคือนายหล่อ นายผูก (โจทก์) ได้มอบหมายให้นายเฮงจำเลยเป็นผู้ดูแลปกครองที่ดินจึงเป็นการสืบถูกต้องตามประเด็นในฟ้อง ชอบด้วย ป.วิ แพ่ง ม.๑๔๒
เมื่อจำเลยครอบครองในฐานะแทนนายหล่อและนายผูก โจทก์แล้วอายุความได้ตั้งต้นจนกว่าจำเลยจะได้ปฏิบัติตาม ป.พ.พ.ม.๑๓๘๑ โดยบอกกล่าวไปยังผู้ครอบครองว่าตนไม่เจตนาจะยึดถือทรัพย์สินแทนผู้ครอบครองคือเจ้าของเดิมอีกต่อไป
ศาลฎีกาเห็นว่านายหล่อมีสิทธิจำหน่ายส่วนของตนได้ตาม ม.๑๓๖๑ วรรค ๑ กรณีไม่ต้องตาม ม.๑๓๖๑ วรรค ๒ เพราะเป็นการจำหน่ายแต่ส่วนที่ตนมีสิทธิไม่ใช่เป็นการจำหน่ายตัวทรัพย์สินทั้งหมด
พิพากษายืน

Share