คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1245/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.พ.พ. บรรพ 1 (เดิม) ไม่ได้บัญญัติวิธีการนับอายุของบุคคลไว้เป็นการเฉพาะ จึงต้องนับอายุตามเกณฑ์ในมาตรา 158 (เดิม) คือไม่นับวันแรกที่เป็นวันเกิดรวมเข้าด้วย ซึ่งคณะรัฐมนตรีก็มีมติเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2509 กำหนดวิธีนับอายุบุคคลเป็นไปตาม ป.พ.พ. ที่บังคับใช้ในขณะนั้นและจำเลยที่ 1 ปฏิบัติตาม ต่อมา พ.ร.บ.ให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 1 แห่ง ป.พ.พ. ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2535 มาตรา 3 ให้แก้ไขเพิ่มเติม ป.พ.พ. บรรพ 1 และบรรพ 3 โดย (3) ให้ใช้บทบัญญัติท้าย พ.ร.บ.นี้เป็นบรรพ 1 แห่ง ป.พ.พ. ที่ได้ตรวจชำระใหม่ มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2535 ซึ่งมาตรา 16 (ใหม่) บัญญัติวิธีการนับอายุของบุคคลไว้เป็นการเฉพาะว่า “การนับอายุของบุคคลให้เริ่มนับแต่วันเกิด” คือต้องนับวันเกิดเป็น 1 วัน เต็ม มติคณะรัฐมนตรีตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่ นร 0025/ว 42 ลงวันที่ 13 มีนาคม 2538 ให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2509 แล้วให้นับอายุของบุคคลตาม ป.พ.พ. มาตรา 16 (ใหม่) ซึ่งใช้บังคับในปัจจุบันกล่าวคือให้นับอายุของบุคคลนับแต่วันเกิด
เมื่อ ป.พ.พ. มาตรา 16 (ใหม่) บัญญัติการนับอายุบุคคลไว้โดยเฉพาะแล้วจึงต้องใช้บังคับตามมาตรา 16 (ใหม่) การเปลี่ยนแปลงการนับวิธีการนับอายุของบุคคลเกิดขึ้นจากกฏหมายที่แก้ไขเพิ่มเติมตามข้างต้นซึ่งนำมาใช้ในการวินิจฉัยตีความคุณสมบัติและการพ้นตำแหน่งของจำเลยที่ 1 ด้วย วิธีการนับอายุของบุคคลที่ปลี่ยนไปด้วยผลของกฏหมาย แม้จะมีผลกระทบต่อระยะเวลาการพ้นจากตำแหน่งและออกจากงานก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสมพันธ์ พ.ศ.2543
โจทก์เกิดวันที่ 1 ตุลาคม 2493 ต้องนับอายุโจทก์นับแต่วันเกิดคือวันที่ 1 ตุลาคม 2493 เป็น 1 วัน เต็ม โจทก์จึงมีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2553 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/5 (ใหม่) อันมีผลให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งและออกจากงานด้วยเหตุเกษียณอายุในวันที่ 1 ตุลาคม 2553 ตาม พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตราฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518 มาตรา 9 (3), 11 และข้อบังคับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ฉบับที่ 4 ข้อ 19 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2553 กรณีไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองจ่ายค่าเสียหายจากการขาดรายได้ประจำรวม 1 ปี เป็นเงิน 901,176 บาท ค่าตอบแทนความชอบ 45,830 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 75,098 บาท เงินโบนัส 433,078 บาท ค่ารักษาพยาบาล 50,000 บาท และค่าตรวจสุขภาพ 15,000 บาท รวม 1,520,182 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,520,182 บาท นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2553 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงานกลาง โจทก์ขอถอนฟ้องในส่วนของจำเลยที่ 2 ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาต และให้จำหน่ายคดีในส่วนของจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ
ศาลแรงงานพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 เป็นรัฐวิสาหกิจและเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ.2509 โจทก์เกิดวันที่ 1 ตุลาคม 2493 เข้าทำงานกับจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2520 ต่อมาจำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้โจทก์ออกจากงานด้วยเหตุเกษียณอายุมีผลวันที่ 1 ตุลาคม 2553 ข้อบังคับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ฉบับที่ 4 ว่าด้วยการบรรจุ การแต่งตั้ง การเรียกประกัน การเลื่อนเงินเดือน และการถอดถอน สำหรับพนักงานและลูกจ้าง ลงวันที่ 20 ตุลาคม 2509 ข้อ 18 กำหนดว่า “พนักงานหรือลูกจ้างคนใดมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ ให้เป็นอันออกจากงานเมื่อสิ้นปีงบประมาณซึ่งเป็นปีที่ผู้นั้นมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์..ปีงบประมาณที่กล่าวนี้หมายความว่าปีงบประมาณตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ” และต่อมามีการยกเลิกข้อบังคับดังกล่าวแล้วให้ใช้ข้อบังคับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ฉบับที่ 4 ว่าด้วยการบรรจุ การแต่งตั้ง การเรียกประกัน การเลื่อนเงินเดือนและการถอดถอน สำหรับพนักงาน ลงวันที่ 17 มีนาคม 2520 ซึ่งข้อบังคับนี้ก็ถูกยกเลิกโดยข้อบังคับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ฉบับที่ 4 ว่าด้วยการบรรจุ การแต่งตั้ง การเรียกประกัน การเลื่อนเงินเดือนและการถอดถอน สำหรับพนักงาน ลงวันที่ 7 เมษายน 2541 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2541 และมีการแก้ไขเพิ่มเติมในข้อ 19 โดยยกเลิกข้อความเดิม ให้ใช้ข้อความข้อ 19 ใหม่แทน ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2553 โดยข้อ 19 (1) กำหนดว่า “พนักงานคนใดมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ ให้ออกจากงานเมื่อสิ้นปีงบประมาณตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณของปีที่พนักงานผู้นั้นมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์” และข้อเท็จจริงได้ความตามทางนำสืบของคู่ความที่ไม่โต้แย้งกันว่า เดิมมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2509 กำหนดให้การนับระยะเวลาเพื่อคำนวณอายุของบุคคลนั้น ต้องเริ่มนับระยะเวลาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 158 คือมิให้นับวันเกิดเป็นวันแรกแห่งการคำนวณอายุ ต่อมามติคณะรัฐมนตรีตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่ นร 0205/ว 42 ลงวันที่ 13 มีนาคม 2538 ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2509 แล้วกำหนดให้ถือปฏิบัติการนับอายุของบุคคลและการพ้นจากราชการตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการตามหนังสือกระทรวงการคลังที่ กค 0513/ว 58 ลงวันที่ 6 พฤษภาคม 2537 คือให้นับอายุของบุคคลนับแต่วันเกิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 16 ซึ่งใช้บังคับในปัจจุบัน แล้ววินิจฉัยว่า เมื่อไม่มีการแก้ไขข้อบังคับที่ให้พนักงานออกจากงานด้วยเหตุมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ดังกล่าว กรณีจึงไม่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณแก่โจทก์ พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 มาตรา 4 บัญญัติว่า ปีงบประมาณ หมายความว่า ระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมของปีหนึ่งถึงวันที่ 30 กันยายนของปีถัดไป และให้ใช้ปี พ.ศ. ที่ถัดไปนั้นเป็นชื่อสำหรับปีงบประมาณนั้น และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 16 บัญญัติว่า การนับอายุของบุคคลให้เริ่มนับแต่วันเกิด โจทก์เกิดวันที่ 1 ตุลาคม 2493 ย่อมมีอายุ 60 ปีบริบูรณ์เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2553 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดปีงบประมาณ 2553 การที่จำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้โจทก์ออกจากงานด้วยเหตุเกษียณอายุตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2553 จึงไม่ขัดต่อกฎหมายและข้อบังคับของจำเลยที่ 1 กรณีไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าการที่จำเลยที่ 1 สั่งให้โจทก์ออกจากงานด้วยเหตุเกษียณอายุตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2553 ขัดต่อกฎหมายและข้อบังคับของจำเลยที่ 1 หรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 แจ้งต่อโจทก์ขณะเริ่มเข้าทำงานว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 158 ที่ใช้บังคับขณะนั้นและมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2509 กรณีเกษียณอายุ 60 ปีบริบูรณ์ ให้เริ่มนับอายุของบุคคลตั้งแต่วันถัดจากวันเกิดเป็นวันแรก มีผลให้ออกจากงานในปีงบประมาณตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ และใช้ปฏิบัติตลอดมา จึงเป็นสภาพการจ้าง ต่อมาวันที่ 31 สิงหาคม 2552 จำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งโจทก์ว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 16 ที่ใช้บังคับในปัจจุบัน และมติคณะรัฐมนตรีตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร 0205/ว 42 ลงวันที่ 13 มีนาคม 2538 กรณีเกษียณอายุให้นับอายุของบุคคลตั้งแต่วันเกิด เป็นการแก้ไขวันเริ่มนับอายุของบุคคลที่มีผลย้อนหลังไม่เป็นคุณแก่โจทก์ เป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างขัดต่อกฎหมาย เมื่อข้อบังคับของจำเลยที่ 1 กำหนดว่าพนักงานคนใดมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ให้ออกจากงานเมื่อสิ้นปีงบประมาณตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณซึ่งเป็นปีที่ผู้นั้นมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ปีงบประมาณที่กล่าวนี้หมายความว่าปีงบประมาณตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ และพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ให้นิยาม บริบูรณ์ หมายความว่า ครบถ้วน เต็มที่ หรือเต็มเปี่ยม โจทก์จึงมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2553 และมีสิทธิปฏิบัติงานถึงวันที่ 30 กันยายน 2554 อันเป็นวันสิ้นปี งบประมาณ 2554 และมีผลให้โจทก์ออกจากงานวันที่ 1 ตุลาคม 2554 กรณีไม่อาจนำการนับระยะเวลาสิ้นสุดกรณีทั่วไปมาใช้บังคับได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/5 วรรคสองนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นรัฐวิสาหกิจที่อยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 ประกอบประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2549 ที่ใช้บังคับในขณะนั้น กล่าวคือหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจ้างหรือการทำงาน กำหนดวันและเวลาทำงาน ค่าจ้าง สวัสดิการ การเลิกจ้าง หรือประโยชน์อื่นของนายจ้างหรือลูกจ้างอันเกี่ยวกับการจ้างหรือการทำงาน หรือที่เรียกว่าสภาพการจ้างนั้น จำเลยที่ 1 ต้องกำหนดให้ไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในมาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจดังกล่าว ส่วนวิธีการคำนวณนับอายุของบุคคลสำหรับพนักงานรัฐวิสาหกิจว่ามีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์แล้วเกษียณอายุเมื่อใดนั้นพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 และประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2549 ไม่ได้บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ ประกอบกับการเกษียณอายุของพนักงานรัฐวิสาหกิจต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518 มาตรา 9 ที่บัญญัติว่า “พนักงานรัฐวิสาหกิจนอกจากต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้สำหรับรัฐวิสาหกิจนั้น ๆ แล้ว ยังต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้ด้วย… (2) มีอายุไม่เกินหกสิบปีบริบูรณ์…” มาตรา 11 บัญญัติว่า “นอกจากการพ้นตำแหน่งตามที่กำหนดไว้สำหรับรัฐวิสาหกิจนั้น ๆ แล้ว พนักงานพ้นจากตำแหน่งเมื่อ… (3) เป็นผู้ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 9 หรือมาตรา 10 สำหรับการพ้นจากตำแหน่งของพนักงานซึ่งมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ ให้พ้นเมื่อสิ้นปีงบประมาณตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณของปีที่พนักงานผู้นั้นมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์” ซึ่งจำเลยที่ 1 นำไปออกเป็นข้อบังคับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ฉบับที่ 4 ว่าด้วยการบรรจุ การแต่งตั้ง การเรียกประกัน การเลื่อนเงินเดือน และการถอดถอน สำหรับพนักงานและลูกจ้าง ลงวันที่ 20 ตุลาคม 2509 ใช้บังคับขณะโจทก์เริ่มเข้าทำงานกับจำเลยที่ 1 ซึ่งข้อ 18 กำหนดว่า “พนักงานหรือลูกจ้างคนใดมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ ให้เป็นอันออกจากงานเมื่อสิ้นปีงบประมาณซึ่งเป็นปีที่ผู้นั้นมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์…ปีงบประมาณที่กล่าวนี้หมายความว่าปีงบประมาณตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ” ซึ่งข้อบังคับดังกล่าวถูกยกเลิกโดยข้อบังคับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ฉบับที่ 4 ว่าด้วยการบรรจุ การแต่งตั้ง การเรียกประกัน การเลื่อนเงินเดือน และการถอดถอน สำหรับพนักงาน ลงวันที่ 17 มีนาคม 2520 และต่อมาข้อบังคับนี้ก็ถูกยกเลิกโดยข้อบังคับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ฉบับที่ 4 ว่าด้วยการบรรจุ การแต่งตั้ง การเรียกประกัน การเลื่อนเงินเดือน และการถอดถอน สำหรับพนักงาน ลงวันที่ 7 เมษายน 2541 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2541 และมีการแก้ไขเพิ่มเติมในข้อ 19 โดยยกเลิกข้อความเดิม ให้ใช้ข้อความข้อ 19 ใหม่แทนโดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2553 อันเป็นช่วงเวลารวมถึงขณะที่โจทก์เกษียณอายุ ก็ยังคงกำหนดการเกษียณอายุไว้เช่นเดิมโดยข้อ 19 (1) กำหนดว่า “พนักงานคนใดมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ ให้ออกจากงานเมื่อสิ้นปีงบประมาณตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณของปีที่พนักงานผู้นั้นมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์” เมื่อวิธีการนับอายุของบุคคลว่าจะครบ 60 ปีบริบูรณ์ เมื่อใดนั้น จำเลยที่ 1 ไม่มีข้อบังคับกำหนดไว้เป็นประการอื่น ทั้งพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 ประกอบประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2549 และพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518 ไม่ได้บัญญัติไว้เป็นประการอื่นเช่นกัน มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2509 กำหนดวิธีการนับอายุของบุคคลว่าไม่ให้นับวันแรกที่เป็นวันเกิดรวมเข้าด้วยและจำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามก็เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่บังคับใช้ในขณะนั้นซึ่งไม่ได้บัญญัติวิธีการนับอายุของบุคคลไว้เป็นการเฉพาะจึงต้องนับอายุตามเกณฑ์ในมาตรา 158 และต่อมามีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2535 โดยมาตรา 16 บัญญัติวิธีการนับอายุของบุคคลไว้เป็นการเฉพาะว่า “การนับอายุของบุคคลให้เริ่มนับแต่วันเกิด…” คือต้องนับวันเกิดเป็น 1 วัน เต็ม มติคณะรัฐมนตรีตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่ นร 0205/ว 42 ลงวันที่ 13 มีนาคม 2538 ให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2509 เรื่อง การนับเวลาราชการของผู้ที่จะมีอายุครบ 60 ปี และหลักเกณฑ์การคำนวณเกษียณอายุราชการ แล้วกำหนดให้ถือปฏิบัติการนับอายุของบุคคลและการพ้นจากราชการตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการตามหนังสือกระทรวงการคลังที่ กค 0513/ว 58 ลงวันที่ 6 พฤษภาคม 2537 คือการนับอายุของบุคคลให้เริ่มนับแต่วันเกิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 16 ซึ่งใช้บังคับในปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงวิธีการนับอายุของบุคคลเกิดขึ้นสืบเนื่องจากบทกฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวข้างต้นซึ่งนำมาใช้ในการวินิจฉัยตีความคุณสมบัติและการพ้นจากตำแหน่งพนักงานของจำเลยที่ 1 รวมทั้งโจทก์ด้วย ดังนี้วิธีการนับอายุของบุคคลที่เปลี่ยนไปโดยผลของกฎหมายซึ่งแม้จะมีผลกระทบต่อระยะเวลาการพ้นจากตำแหน่งและออกจากงาน จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 เมื่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 16 บัญญัติเรื่องการเริ่มนับอายุของบุคคลไว้โดยเฉพาะแล้วจึงต้องใช้บังคับตามบทกฎหมายดังกล่าว โดยต้องนับอายุโจทก์นับแต่วันเกิดคือวันที่ 1 ตุลาคม 2493 เป็น 1 วัน เต็ม โจทก์จึงมีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2553 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/5 อันมีผลให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งและออกจากงานด้วยเหตุเกษียณอายุในวันที่ 1 ตุลาคม 2553 คำสั่งของจำเลยที่ 1 ให้โจทก์ออกจากงานในวันดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายและข้อบังคับแล้ว กรณีไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share