แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ผู้แทนโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างกับผู้แทนฝ่ายลูกจ้างได้ทำความตกลงกันทำขึ้นมิได้กำหนดระยะเวลาไว้ จึงมีผลใช้บังคับหนึ่งปีนับแต่ที่ตกลงกัน
การที่นายจ้างเลิกกิจการไม่ทำให้ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างสิ้นสุดลง เมื่อข้อตกลงระบุว่าในกรณีนายจ้างจำเป็นต้องยุบหรือเลิกกิจการแผนกใด นายจ้างรับจะพิจารณาหาตำแหน่งอื่นที่เหมาะสมให้ลูกจ้างแล้วนายจ้างยุบเลิกแผนกโดยไม่หาตำแหน่งใหม่ให้ลูกจ้าง จึงเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 123 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ และเมื่อมีพฤติการณ์ฟังได้ว่า นายจ้างยุบเลิกแผนกส่งของเพื่อเลิกจ้างเนื่องจากลูกจ้างในแผนกนี้หลายคนเป็นผู้นำในการยื่นข้อเรียกร้องให้ปรับปรุงค่าจ้างและสวัสดิการก่อให้เกิดความยุ่งยากแก่นายจ้าง จึงเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 121(1)อีกด้วย ดังนี้ ถือได้ว่าการกระทำของนายจ้างเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ย่อมมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดคำร้องของลูกจ้างและสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าเสียหายได้
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 40,41 เป็นบทบัญญัติว่าด้วยการประชุมและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์โดยเฉพาะ ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของคณะอนุกรรมการแรงงานสัมพันธ์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเยทุกคนเป็นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ โจทก์ประกอบการค้านำเข้าและส่งออกสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภค แบ่งงานเป็น10 แผนก โจทก์เห็นว่ารายจ่ายของแผนกส่งของสูงมาก สามารถให้บุคคลภายนอกรับเหมาทำได้โดยเสียค่าใช้จ่ายถูกกว่าดำเนินการเอง โจทก์จึงได้ยุบแผนกนี้ พนักงานในแผนกดังกล่าวโจทก์หาทางบรรจุเข้าทำงานในตำแหน่งอื่น แต่จำเป็นต้องปลดพนักงานแผนกส่งของออก 21 คน เพราะไม่มีตำแหน่งเหมาะสมกับความสามารถ ต่อมาโจทก์ได้รับคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ชี้ขาดว่าการที่โจทก์เลิกจ้างลูกจ้างดังกล่าวเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม มีคำสั่งให้โจทก์จ่ายค่าเสียหายแก่ลูกจ้างเป็นเงินเท่ากับค่าจ้างเดือนสุดท้าย 9 เดือน 8 วัน โจทก์เห็นว่าจำเลยไม่มีอำนาจพิจารณาคำร้องของลูกจ้าง เพราะโจทก์มิได้เลิกจ้างลูกจ้างเพราะเหตุตามที่ระบุในมาตรา 121(1)พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ และกรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 123 เพราะถึงแม้โจทก์จะได้ทำความตกลงกับพนักงานแผนกส่งของมาก่อน แต่เมื่อโจทก์ยุบหรือเลิกกิจการแผนกส่งของข้อตกลงที่ทำไว้ย่อมสิ้นผลบังคับขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลย
จำเลยให้การว่า คำสั่งของจำเลยตามฟ้องเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายความจริงมีว่า ลูกจ้างของโจทก์ที่ประจำอยู่ที่คลังสินค้าซึ่งรวมทั้งแผนกส่งของได้ยื่นข้อเรียกร้องและเจรจาขอให้โจทก์ปรับปรุงเงินเดือนและสวัสดิการ ผลที่สุดโจทก์ยอมทำบันทึกข้อตกลงอันเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง โดยโจทก์ต้องจ่ายเงินค่าจ้างและค่าล่วงเวลาเพิ่มขึ้น โจทก์จึงหาทางกลั่นแกล้งลูกจ้างแผนกส่งของซึ่งเป็นผู้นำในการยื่นข้อเรียกร้องด้วยการเลิกจ้างลูกจ้างแผนกส่งของรวม 21 คน อ้างว่าเพื่อลดค่าใช้จ่ายซึ่งไม่เป็นความจริง เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 121(1) ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างโจทก์กับลูกจ้างมิได้กำหนดระยะเวลาไว้ ต้องถือว่ามีผลใช้บังคับ 1 ปี โจทก์ไม่มีสิทธิเลิกจ้างก่อนกำหนด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คำสั่งของจำเลยชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า ลูกจ้างของโจทก์ได้ยื่นข้อเรียกร้องให้ปรับปรุงค่าจ้างและสวัสดิการ ผลที่สุดผู้แทนฝ่ายโจทก์กับผู้แทนฝ่ายลูกจ้างทำความตกลงกันได้ โดยทำบันทึกข้อตกลงกันไว้บันทึกนี้เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง มีผลใช้บังคับในระยะเวลาที่นายจ้างและลูกจ้างได้ตกลงกันแต่เนื่องจากข้อตกลงนี้มิได้กำหนดระยะเวลาไว้จึงมีผลใช้บังคับหนึ่งปีนับแต่วันที่นายจ้างและลูกจ้างได้ตกลงกัน ทั้งนี้ตามบทบัญญัติมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ ที่โจทก์อ้างว่าพระราชบัญญัติดังกล่าวมิได้ห้ามนายจ้างเลิกกิจการของตน เมื่อโจทก์เลิกกิจการแผนกส่งของและบอกเลิกการจ้างสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับลูกจ้างอันเป็นสัญญาประธานสิ้นสุดลง ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างอันเป็นสัญญาอุปกรณ์ย่อมสิ้นผลบังคับโดยปริยายนั้น เห็นว่า เมื่อการจ้างลูกจ้างของโจทก์ตกอยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ โจทก์กับลูกจ้างย่อมมีความผูกพันต้องปฏิบัติต่อกันตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหาใช่เป็นเพียงสัญญาอุปกรณ์ของสัญญาจ้างแรงงานดังที่โจทก์อ้างไม่ ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระบุไว้ว่าในกรณีจำเป็นต้องยุบหรือเลิกกิจการแผนกใด นายจ้างรับจะพิจารณาหาตำแหน่งอื่นที่เหมาะสมให้ ยกเว้นกรณีที่ลูกจ้างมีความผิดตามข้อบังคับของบริษัทหรือกฎหมายแรงงาน ดังนั้นในระหว่างข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลบังคับและลูกจ้างมิได้มีความผิดตามที่ระบุไว้ โจทก์จะยุบเลิกแผนกส่งของเลิกจ้างลูกจ้างที่ทำงานอยู่แผนกนี้โดยไม่หาตำแหน่งอื่นให้ลูกจ้างหาได้ไม่ การกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 123 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ นอกจากนี้พฤติการณ์มีเหตุผลให้รับฟังได้ว่า โจทก์ยุบเลิกแผนกส่งของเลิกจ้างลูกจ้างก็เนื่องจากลูกจ้างยื่นข้อเรียกร้องให้ปรับปรุงค่าจ้างและสวัสดิการ ทั้งนี้เพราะลูกจ้างแผนกส่งของหลายคนเป็นผู้นำในการเรียกร้องก่อให้เกิดความยุ่งยากแก่โจทก์การเลิกจ้างลูกจ้างของโจทก์ในกรณีนี้ จึงฝ่าฝืนมาตรา 121(1) แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ อีกด้วย บทบัญญัติมาตรา 123 และ 121(1) อยู่ในหมวด 9 เรื่องการกระทำอันไม่เป็นธรรม เมื่อโจทก์กระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวจึงถือได้ว่า การกระทำของโจทก์เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม จำเลยในฐานะคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ย่อมมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดคำร้องของลูกจ้าง และสั่งให้โจทก์จ่ายค่าเสียหายได้ตามมาตรา 41(4) ประกอบด้วยมาตรา 125
สำหรับปัญหาว่าคณะอนุกรรมการแรงงานสัมพันธ์เชิญนายสมรัตน์ลูกจ้างคนหนึ่งที่โจทก์เลิกจ้างมาทราบข้อเสนอขอประนีประนอม ตัวแทนลูกจ้างผู้ร้องเรียน 4 คนมิได้รับเชิญมานั้น เห็นว่ามาตรา 40,41 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ เป็นบทบัญญัติว่าด้วยการประชุมและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์โดยเฉพาะ ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ กรณีดังกล่าวจะถือว่าจำเลยในฐานะคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มิได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ตามกฎหมายหาได้ไม่
พิพากษายืน