คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1245/2515

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ผู้เสียหายได้ยื่นฟ้องคดีซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัวแล้วได้ถอนฟ้องเสีย การถอนฟ้องนี้จะตัดสิทธิพนักงานอัยการที่จะยื่นฟ้องคดีนั้นใหม่ต่อเมื่อเป็นการถอนฟ้องไปเป็นการเด็ดขาดถ้าถอนฟ้องเพื่อจะเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการเมื่อพนักงานอัยการฟ้องจำเลยในคดีเรื่องเดียวกันนั้น ไม่เป็นการถอนฟ้องตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 36(3) พนักงานอัยการจึงมีอำนาจฟ้องคดีนั้นใหม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341, 83 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ.2497 มาตรา 3

จำเลยให้การปฏิเสธ และต่อสู้ว่า ผู้เสียหายได้ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลจังหวัดนครราชสีมา และได้ขอถอนฟ้องไปแล้ว พนักงานอัยการไม่มีสิทธิฟ้องคดีนี้อีก เป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 36

วันนัดสืบพยานโจทก์ ศาลชั้นต้นสอบถามโจทก์ โจทก์แถลงว่าผู้เสียหายในคดีนี้เคยฟ้องจำเลยว่ากระทำความผิดอันเดียวกันกับโจทก์ฟ้องคดีนี้ ตามสำนวนคดีอาญาแดงที่ 2685/2513 ผู้เสียหายได้ขอถอนฟ้องไปเพื่อเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการ ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลย แล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์ โดยกล่าวว่าพนักงานอัยการจะฟ้องจำเลยทั้งสองอีกไม่ได้ เป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 36(3)

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ว พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยให้ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์จำเลย แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกา

“ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาคดีแล้ว คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่า การที่ผู้เสียหายได้ยื่นฟ้องคดีอาญาซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัวไว้ ได้ถอนฟ้องไปเพื่อไปเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการเมื่อพนักงานอัยการฟ้องจำเลยเดียวกันนี้ต่อศาล เป็นการตัดสิทธิพนักงานอัยการที่จะยื่นฟ้องคดีนั้นใหม่หรือไม่ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 28 ตุลาคม 2513 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2685/2513 สำนวนเดิมที่ผู้เสียหายเป็นโจทก์ฟ้องเองนั้นว่า นัดไต่สวนวันนี้ ทนายโจทก์และทนายจำเลยมาศาล ทนายโจทก์แถลงว่า ทราบว่าพนักงานอัยการจะฟ้องจำเลยเกี่ยวกับคดีนี้ต่อศาลนี้ จึงขอถอนฟ้องคดีนี้เพื่อจะเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการเมื่อพนักงานอัยการฟ้องจำเลยเกี่ยวกับคดีนี้ต่อศาล ทนายจำเลยไม่ค้าน ศาลอนุญาต ให้จำหน่ายคดีจากสารบบความ ดังนี้เห็นว่าการถอนฟ้องของผู้เสียหายในคดีความผิดต่อส่วนตัวที่จะเป็นการตัดสิทธิพนักงานอัยการในอันที่จะฟ้องคดีนั้นขึ้นใหม่ไม่ได้นั้น จะต้องเป็นการถอนฟ้องไปเป็นการเด็ดขาดสำหรับผู้เสียหายในคดีอาญาแดงที่ 2685/2513 ที่ขอถอนฟ้องไป ก็เพื่อจะเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการ เมื่อพนักงานอัยการได้ฟ้องจำเลยคนเดียวกับจำเลยในคดีแดงที่ 2685/2513ฉะนั้น การถอนฟ้องของผู้เสียหายจึงไม่เป็นการถอนฟ้องตามความหมายแห่งบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 36(3)พนักงานอัยการจึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้”

พิพากษายืน

Share