คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1242/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1ได้สำแดงข้อความอันเป็นเท็จไว้ในใบขนสินค้าขาออกและแบบแสดงรายการการค้าว่าส่งสินค้าออกไปนอกราชอาณาจักรแล้วจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้ยื่นคำขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรสำหรับสินค้าที่ส่งออกนั้น ต่อมากรมศุลกากรโจทก์ได้จ่ายเงินชดเชยเป็นบัตรภาษีให้แก่จำเลยที่ 3 และที่ 4ซึ่งเป็นผู้รับโอนบัตรภาษีจากจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่หลอกลวงโจทก์จนเป็นเหตุให้โจทก์จ่ายเงินชดเชยเป็นบัตรภาษีจึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์เมื่อมูลหนี้ที่โจทก์ฟ้องเรียกบัตรภาษีคืนจากจำเลยทั้งสี่เป็นมูลหนี้ละเมิด จำเลยทั้งสี่จึงต้องตกเป็นผู้ผิดนัดชำระดอกเบี้ยให้โจทก์นับแต่วันที่ทำละเมิดคือวันที่รับบัตรภาษีหาใช่นับแต่วันที่จำเลยทั้งสี่ได้รับหนังสือแจ้งให้คืนหรือชดใช้ราคาบัตรภาษีไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันคืนหรือชดใช้ราคาบัตรภาษีจำนวน 340,508.93 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 129,264.94 บาท นับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2530 ต้นเงิน 153,202.89 บาท นับแต่วันที่1 พฤษภาคม 2530 และต้นเงิน 58,041.10 บาท นับแต่วันที่27 ตุลาคม 2530 และให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ร่วมกันคืนหรือชดใช้ราคาบัตรภาษีจำนวน 199,498.78 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 90,253.45 บาท นับแต่วันที่26 มีนาคม 2530 และต้นเงิน 109,245.33 บาท นับแต่วันที่6 มีนาคม 2530 แก่โจทก์
จำเลยที่ 4 ให้การว่า เหตุตามคำฟ้องเกิดในขณะที่จำเลยที่ 4ใช้ชื่อว่าบริษัทไทยสรรพ์รับเบอร์เอ็กซ์ปอร์ต จำกัดโดยกรรมการผู้มีอำนาจชุดเก่า ซึ่งกรรมการชุดใหม่ของจำเลยที่ 4ไม่ต้องรับผิดชอบด้วย จำเลยที่ 4 ไม่เคยได้รับบัตรภาษีจากจำเลยที่ 1 และไม่เคยใช้บัตรภาษีตามฟ้อง โจทก์ไม่เคยบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยที่ 4 คืนหรือใช้ราคาบัตรภาษี โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 4 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2และที่ 3 คืนบัตรภาษีให้แก่โจทก์มูลค่า 340,508.93 บาทหากคืนไม่ได้ให้ร่วมกันชดใช้ราคาเป็นเงินจำนวน 340,508.93 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี โดยจำเลยที่ 1และที่ 2 ต้องรับผิดสำหรับดอกเบี้ยดังกล่าวนับแต่วันที่ 14กุมภาพันธ์ 2540 ส่วนจำเลยที่ 3 นับแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2537เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2และที่ 4 คืนบัตรภาษีให้แก่โจทก์มูลค่า 199,498.93 บาทหากคืนไม่ได้ให้ชดใช้ราคาเป็นเงินจำนวน 199,498.93 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปีโดยจำเลยที่ 1 และที่ 2ต้องรับผิดสำหรับดอกเบี้ยดังกล่าวนับแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2540ส่วนจำเลยที่ 4 นับแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2537 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลโดยเป็นกรมในรัฐบาล สังกัดกระทรวงการคลังมีอำนาจหน้าที่จัดเก็บภาษีอากรและจ่ายบัตรภาษีให้แก่ผู้ส่งสินค้าออกที่มีสิทธิได้รับเงินชดเชยตามพระราชบัญญัติชดเชยค่าภาษีอากรสินค้าส่งออกที่ผลิตในราชอาณาจักร พ.ศ. 2524มาตรา 18 จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัดมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เดิมจำเลยที่ 4 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดใช้ชื่อว่า บริษัทไทยสรรพ์รับเบอร์ จำกัด ต่อมาจดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน จำกัด ระหว่างเดือนธันวาคม 2529 ถึงเดือนกันยายน2530 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการได้ยื่นใบขนสินค้าขาออกและแบบแสดงรายการการค้าต่อโจทก์ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ส่งออก ซึ่งสินค้าที่ผลิตในราชอาณาจักรต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรสำหรับสินค้าส่งออกตามใบขนสินค้าขาออกและแบบแสดงรายการการค้าดังกล่าวต่อโจทก์ โดยระบุให้โอนสิทธิในบัตรภาษีสำหรับสินค้าตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 192 และ 199 ให้แก่จำเลยที่ 4และให้โอนสิทธิในบัตรสำหรับสินค้าตามเอกสารหมาย จ.1แผ่นที่ 205, 211, 219 และ 217 ให้แก่จำเลยที่ 3 โจทก์ได้จ่ายบัตรภาษีให้แก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 แล้ว เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม2530 วันที่ 27 ตุลาคม 2530 วันที่ 26 มีนาคม 2530 และวันที่6 มีนาคม 2530 คิดเป็นมูลค่าบัตรภาษีที่โจทก์จ่ายให้แก่จำเลยที่ 3จำนวน 340,508.93 บาท และจ่ายให้แก่จำเลยที่ 4 จำนวน 199,498.78 บาท ต่อมาโจทก์ตรวจสอบพบว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ส่งสินค้าออกนอกราชอาณาจักรตามสำแดง ศาลภาษีอากรกลางจึงให้จำเลยทั้งสี่คืนหรือชดใช้ราคาบัตรภาษีให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่จำเลยทั้งสี่ผิดนัดไม่คืนหรือชดใช้ราคาบัตรภาษี ตามวันเวลาที่โจทก์แจ้งให้ทราบ คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสี่ต้องชำระดอกเบี้ยให้โจทก์ตั้งแต่เมื่อใด เห็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งสี่ตามที่โจทก์ฟ้องและตามทางนำสืบของโจทก์เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ได้บังอาจสำแดงข้อความอันเป็นเท็จไว้ในใบขนสินค้าขาออกและแบบแสดงรายการการค้าเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 192, 199, 205, 211, 219 และ 217ว่า ส่งสินค้าออกไปนอกราชอาณาจักรแล้วจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2ได้ยื่นคำขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากร สำหรับสินค้าที่ส่งออกนั้น ต่อมาโจทก์ได้จ่ายเงินชดเชยเป็นบัตรภาษีให้แก่จำเลยที่ 3และที่ 4 ซึ่งเป็นผู้รับโอนบัตรภาษีจากจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่หลอกลวงโจทก์จนเป็นเหตุให้โจทก์จ่ายเงินชดเชยเป็นบัตรภาษีจึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์เมื่อมูลหนี้ที่โจทก์ฟ้องเรียกบัตรภาษีคืนจากจำเลยทั้งสี่เป็นมูลหนี้ละเมิด จำเลยทั้งสี่จึงต้องตกเป็นผู้ผิดนัดชำระดอกเบี้ยให้โจทก์นับแต่วันที่ทำละเมิด (วันที่รับบัตรภาษี)ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่รับผิดชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่จำเลยทั้งสี่ได้รับหนังสือแจ้งให้คืนหรือชดใช้ราคาบัตรภาษี ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันรับผิดในดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 129,264.94 บาทและ 153,202.89 บาท นับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2530 และต้นเงิน58,041.10 บาท นับแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2530 และให้จำเลยที่ 1ที่ 2 ที่ 4 ร่วมกันรับผิดในดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงิน 90,253.45 บาท นับแต่วันที่ 26 มีนาคม 2530 และในต้นเงิน 109,245.33 บาท นับแต่วันที่ 6 มีนาคม 2530 จนกว่าจำเลยทั้งสี่จะชำระเสร็จ ในกรณีที่ไม่คืนบัตรภาษีให้โจทก์นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง

Share