แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยทราบดีว่าอ้อยที่จำเลยสั่งให้คนงานตัดเป็นของผู้อื่นที่มาไถพืชผลของจำเลยที่ปลูกไว้ในที่ดินที่เกิดเหตุซึ่งโจทก์ร่วมและจำเลยพิพาทแย่งสิทธิครอบครองกันอยู่แล้วปลูกอ้อยขึ้นแทน แม้จำเลยจะไม่ทราบว่าโจทก์ร่วมเป็นเจ้าของอ้อยและก่อนตัดอ้อยจำเลยจะได้แจ้งความให้เจ้าพนักงานตำรวจรับทราบไว้ล่วงหน้าก็ตาม จำเลยก็ไม่มีอำนาจที่จะตัดอ้อยดังกล่าว การที่จำเลยสั่งให้ตัดอ้อยของโจทก์ร่วมจึงมีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 359(4).
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองกับพวกตัดอ้อยในไร่ของผู้เสียหายซึ่งมีอาชีพกสิกร อันเป็นการทำให้เสียทรัพย์ แล้วลักอ้อยดังกล่าวไป ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 359 (4),335 (7),(12)
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ในระหว่างการสืบพยานจำเลย ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 359 (4), 83 จำคุกคนละ 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองทราบดีอยู่แล้วว่า อ้อยที่จำเลยทั้งสองสั่งให้หคนงานตัดเป้นอ้อยของผู้อื่นที่มาไพพืชผลของจำเลยที่ปลูกไว้ในที่ดินที่เกิดเหตุแล้วปลูกอ้อยขึ้นแทน แม้จำเลยทั้งสองจะไม่ทราบว่าใครเป็นเจ้าของอ้อยที่ปลูกไว้หลังจากสืบหาตัวเจ้าของแล้วก็ตาม แต่จำเลยทั้งสองก็ไม่มีอำนาจที่จะตัดอ้อยดังกล่าวได้ เพราะไม่ใช่อ้อยของจำเลยทั้งสอง การที่จำเลยสั่งให้คนงานตัดอ้อยของโจทก์ร่วมจึงเป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ แม้ก่อนทำการตัดอ้อยจำเลยทั้งสองจะได้แจ้งความให้เจ้าพนักงานตำรวจรับทราบไว้ล่วงหน้าก็ไม่มีผลทำให้การกระทำของจำเลยทั้งสองไม่เป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ไปได้ จำเลยทั้งสองจะอ้างว่ากระทำไปเพื่อป้องกันสิทธิในทรัพย์สินของตนโดยไม่มีเจตนาทำให้เสียทรัพย์หาได้ไม่ ทั้งโจทก์ร่วมพยานโจทก์ก็เบิกความโต้เถียงสิทธิครอบครองในที่ดินที่เกิดเหตุว่าเป็นของตนด้วยที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์มานั้นชอบแล้วฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น แต่จำเลยทั้งสองอายุมากแล้ว ประกอบกับไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นสมควรรอการลงโทษให้จำเลยเพื่อให้โอกาสกลับตัวแต่ให้ลงโทษปรับด้วยอีกโสดหนึ่ง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 6 เดือนและปรับคนละ 2,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนดคนละ2 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.