คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1239/2517

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดฐานมีวัตถุระเบิดสำหรับใช้เฉพาะแต่ในการสงครามตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ นั้น เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยบังอาจมีลูกระเบิดขว้างชนิดสังหารแบบ 88 บ. 61 จำนวน 1 ลูก อันเป็นลูกระเบิดสำหรับใช้เฉพาะแต่ในการสงคราม ก็เป็นฟ้องที่ครบถ้วนองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2501มาตรา 3, 5 และกฎกระทรวง ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2501) (12) แล้วไม่จำต้องบรรยายว่าเป็นลูกระเบิดที่ใช้ขว้างและระเบิดได้
ความผิดฐานบุกรุก เมื่อศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 แล้ว ก็ไม่จำต้องยกมาตรา 362 และ 364 ขึ้นปรับบทลงโทษอีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน มีวัตถุระเบิดมีลูกระเบิดสำหรับใช้เฉพาะแต่ในการสงคราม ทำให้ผู้อื่นตกใจกลัวข่มขืนใจผู้อื่น หน่วงเหนี่ยวกักขัง บุกรุกเข้าไปในเขตปลอดภัยในราชการทหารและต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้อาวุธ ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พระราชบัญญัติว่าด้วยเขตปลอดภัยในราชการทหาร ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๘, ๓๐๙, ๓๑๐, ๓๖๒, ๓๖๔, ๓๖๕, ๓๙๒, ๙๑, ๓๒ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑
จำเลยให้การรับสารภาพทุกข้อหา
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง ให้เรียงกระทงลงโทษจำเลยสำหรับความผิดฐานบุกรุกเข้าไปในเขตปลอดภัยในราชการทหารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๒, ๓๖๔, ๓๖๕ ซึ่งผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยเขตปลอดภัยในราชการทหารด้วย ให้ลงโทษบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๕ จำคุก ๕ ปี และความผิดฐานอื่นได้กำหนดโทษแต่ละกระทงไว้รวมเป็นจำคุกจำเลย ๒๐ ปี จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลย ๑๐ ปี
จำเลยอุทธรณ์ว่าตามฟ้องของโจทก์ที่ว่าจำเลยบังอาจมีลูกระเบิดขว้างชนิดสังหารแบบ ๘๘ บ.๖๑ จำนวน ๑ ลูก อันเป็นลูกระเบิดสำหรับใช้แต่เฉพาะในการสงครามไว้ในความครอบครองนั้น โจทก์ไม่ได้บรรยายว่าลูกระเบิดดังกล่าวสามารถใช้เป็นอาวุธขว้างและระเบิดได้ เพราะลูกระเบิดนั้นอาจใช้การไม่ได้ก็ได้ แม้จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ก็ลงโทษจำเลยไม่ได้
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องในข้อหาฐานนี้ครบถ้วนองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๐๑มาตรา ๓, ๕ และกฎกระทรวง ฉบับที่ ๗ (พ.ศ. ๒๕๐๑) (๑๒) แล้ว หาจำต้องบรรยายว่าเป็นลูกระเบิดที่ใช้ขว้างและระเบิดได้ไม่ ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น แต่สำหรับความผิดฐานบุกรุกที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๒, ๓๖๔ และ ๓๖๕ นั้น ศาลฎีกายังไม่เห็นพ้องด้วย เพราะเมื่อจำเลยผิดมาตรา ๓๖๕ แล้วก็ไม่จำต้องยกมาตรา ๓๖๒ และ ๓๖๔ ขึ้นปรับบทลงโทษอีก
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนที่เกี่ยวกับความผิดฐานบุกรุก เป็นว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๕ นอกจากที่แก้นี้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share