แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
นอกจากคำฟ้องอุทธรณ์คำสั่งของลูกหนี้ที่ 1 มี ป. ลงลายมือชื่อเป็นผู้อุทธรณ์ โดยไม่ปรากฏว่า ป. เป็นทนายความของลูกหนี้ที่ 1 หรือเป็นผู้ได้รับมอบอำนาจจากลูกหนี้ที่ 1 ให้มีสิทธิดำเนินกระบวนพิจารณาแทนในศาล ทั้งไม่ปรากฏว่าในสำนวนคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้ ลูกหนี้ที่ 1 ได้อ้างส่งหนังสือมอบอำนาจที่มีระบุให้ ป. มีอำนาจยื่นอุทธรณ์แทนลูกหนี้ที่ 1 และหนังสือมอบอำนาจปิดอากรแสตมป์ครบถ้วน ที่อยู่ในฐานะคู่ความซึ่งมีอำนาจยื่นคำฟ้องอุทธรณ์ต่อศาลได้แล้ว ป. ยังลงลายมือชื่อเป็นผู้เรียงคำฟ้องอุทธรณ์ซึ่งตาม พ.ร.บ.ทนายความ พ.ศ.2528 มาตรา 33 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ซึ่งไม่ได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาต หรือผู้ซึ่งขาดจากการเป็นทนายความหรือต้องห้ามทำการเป็นทนายความว่าความในศาล หรือแต่งฟ้อง คำให้การ ฟ้องอุทธรณ์ แก้อุทธรณ์ ฟ้องฎีกา แก้ฎีกา คำร้องหรือคำแถลงอันเกี่ยวแก่การพิจารณาคดีในศาลให้แก่บุคคลอื่น ทั้งนี้ เว้นแต่จะได้กระทำในฐานะเป็นข้าราชการผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่หรือเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ องค์การของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่ หรือมีอำนาจหน้าที่กระทำได้โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความหรือกฎหมายอื่น” และการฝ่าฝืนมาตรา 33 นี้ มีโทษทางอาญาตามมาตรา 82 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว เมื่อไม่ปรากฏว่า ป. เป็นผู้ซึ่งได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นทนายความหรือเป็นบุคคลซึ่งอยู่ในข้อยกเว้นตามมาตรา 33 การที่ ป. เรียงคำฟ้องอุทธรณ์คำสั่งให้ลูกหนี้ที่ 1 จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติดังกล่าวด้วย ดังนั้น คำฟ้องอุทธรณ์คำสั่งของลูกหนี้ที่ 1 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้(จำเลย) ทั้งสองเด็ดขาดเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2552
เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ตามคำพิพากษา จำนวนเงิน 8,182,684.09 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสองในฐานะเจ้าหนี้ไม่มีประกันตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 94
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 104 แล้ว ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วมีความเห็นว่า ลูกหนี้ทั้งสองเป็นหนี้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดสมุทรปราการ คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ย.49/2547 ลูกหนี้ทั้งสองมิได้ชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่เจ้าหนี้และหนี้ตามคำพิพากษายังไม่ขาดอายุความจึงเห็นควรให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาเป็นจำนวนเงิน 5,867,571.94 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 4,336,749.13 บาท นับแต่วันที่ 27เมษายน 2549 (วันถัดจากวันขายทอดตลาด) ถึงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2552 (วันพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด) และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 6,728.98 บาท นับแต่วันที่ 27 เมษายน 2549 (วันถัดจากวันขายทอดตลาด) ถึงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2552 (วันพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด) แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินจำนวนเงินที่เจ้าหนี้ขอมาจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสอง ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 130 (7) ส่วนที่ขอเกินมาให้ยกเสีย
ศาลล้มละลายกลางพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
ลูกหนี้ที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า นอกจากคำฟ้องอุทธรณ์คำสั่งของลูกหนี้ที่ 1 มีนางสาวปทิตตา ลงลายมือชื่อเป็นผู้อุทธรณ์โดยไม่ปรากฏว่านางสาวปทิตตาเป็นทนายความของลูกหนี้ที่ 1 หรือเป็นผู้ได้รับมอบอำนาจจากลูกหนี้ที่ 1 ให้มีสิทธิดำเนินกระบวนพิจารณาแทนในศาล ทั้งไม่ปรากฏว่าในสำนวนคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้ ลูกหนี้ที่ 1 ได้อ้างส่งหนังสือมอบอำนาจที่มีระบุให้นางสาวปทิตตามีอำนาจยื่นอุทธรณ์แทนลูกหนี้ที่ 1 และหนังสือมอบอำนาจปิดอากรแสตมป์ครบถ้วนที่อยู่ในฐานะคู่ความซึ่งมีอำนาจยื่นคำฟ้องอุทธรณ์ต่อศาลได้แล้ว นางสาวปทิตตายังลงลายมือชื่อเป็นผู้เรียงคำฟ้องอุทธรณ์ ซึ่งตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2528 มาตรา 33 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ซึ่งไม่ได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาต หรือผู้ซึ่งขาดจากการเป็นทนายความหรือต้องห้ามทำการเป็นทนายความว่าความในศาล หรือแต่งฟ้อง คำให้การ ฟ้องอุทธรณ์ แก้อุทธรณ์ ฟ้องฎีกาแก้ฎีกา คำร้องหรือคำแถลงอันเกี่ยวแก่การพิจารณาคดีในศาลให้แก่บุคคลอื่น ทั้งนี้เว้นแต่จะได้กระทำในฐานะเป็นข้าราชการผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่หรือเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ องค์การของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่ หรือมีอำนาจหน้าที่กระทำได้โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความหรือกฎหมายอื่น” และการฝ่าฝืนมาตรา 33 นี้ มีโทษทางอาญาตามมาตรา 82 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว เมื่อไม่ปรากฏว่านางสาวปทิตตาเป็นผู้ซึ่งได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นทนายความ หรือเป็นบุคคลซึ่งอยู่ในข้อยกเว้นตามมาตรา 33 การที่นางสาวปทิตตา เรียงคำฟ้องอุทธรณ์คำสั่งให้ลูกหนี้ที่ 1 จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติดังกล่าวด้วย ดังนั้น คำฟ้องอุทธรณ์คำสั่งของลูกหนี้ที่ 1 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายกอุทธรณ์ของลูกหนี้ที่ 1 ให้คืนค่าขึ้นศาลทั้งหมดในชั้นนี้แก่ลูกหนี้ที่ 1ค่าฤชาธรรมเนียมนอกจากนี้ให้เป็นพับ