แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินพุทธศักราช 2475 มาตรา 10แก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินแก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2475 มาตรา 3 ไม่ได้วางหลักเกณฑ์ว่าโรงเรือนที่เจ้าของอยู่เอง เจ้าของจะต้องมีชื่อในทะเบียนด้วยจึงจะได้รับงดเว้นไม่ต้องเสียภาษีโรงเรือนตามกฎหมายเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โรงเรือนพิพาทเป็นของโจทก์และโจทก์อยู่เอง แม้โจทก์จะไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน โจทก์ก็ย่อมได้รับงดเว้นไม่ต้องเสียภาษีโรงเรือน
จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีในฐานะผู้ชี้ขาดคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ของโจทก์ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1แกล้งชี้ขาดและรับชำระภาษีไว้ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องร่วมกับกรุงเทพมหานครจำเลยที่ 2 คืนภาษีที่จำเลยที่ 2 รับชำระไว้ให้โจทก์.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีภูมิลำเนาตามทะเบียนบ้านที่อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร จึงไม่อาจมีภูมิลำเนาในทะเบียนบ้านเลขที่ 19/12 ซอยอารี 4 ถนนพหลโยธิน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร ของโจทก์ ซึ่งโจทก์ใช้เป็นที่พักอาศัยขณะที่มาติดต่อการค้าที่กรุงเทพมหานครได้อีกตามกฎหมาย โจทก์จึงให้นางสาวศรีนิตย์แดงทองดี บุตรโจทก์ ซึ่งเป็นผู้แทนโจทก์ในการอยู่เฝ้ารักษาและศึกษาเล่าเรียนอยู่ในกรุงเทพมหานคร มีชื่อในทะเบียนบ้านหลังนั้น เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2527 เจ้าพนักงานเก็บภาษีของจำเลยที่ 2 ได้แจ้งรายการประเมินไปให้โจทก์ชำระภาษีโรงเรือนสำหรับบ้านหลังนั้น ตั้งแต่ปี 2522 ถึงปี 2527 โจทก์เห็นว่าโจทก์ได้รับยกเว้นตามกฎหมายไม่ต้องชำระภาษีโรงเรือนสำหรับบ้านหลังนั้นจึงได้ยื่นคำร้องต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือจำเลยที่ 1 ขอให้พิจารณาการประเมินนั้นใหม่ ต่อมาจำเลยที่1 ชี้ขาดให้ยกคำร้องของโจทก์ โจทก์จึงจัดการชำระภาษีโรงเรือนให้พนักงานเจ้าหน้าที่พร้อมด้วยเงินเพิ่มตามกฎหมายขอให้เพิกถอนการประเมินข้างต้น และห้ามมิให้จำเลยทั้งสองแจ้งการประเมินภาษีโรงเรือนไปให้โจทก์ชำระภาษีอีก ตั้งแต่ปี 2528เป็นต้นไป กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงิน 10,422.50 บาทแก่โจทก์ด้วย
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์มิได้ใช้โรงเรือนตามฟ้องเป็นที่อยู่อาศัยตามปกติ แต่ใช้เป็นครั้งคราวเมื่อมาติดต่อการค้าที่กรุงเทพมหานครและให้บุตรอยู่อาศัยเพื่อการศึกษา โจทก์จึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนตามกฎหมาย การประเมินและคำชี้ขาดชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่า โจทก์มีภูมิลำเนาอยู่ที่โรงเรือนพิพาท และอาศัยอยู่ในโรงเรือนพิพาทพร้อมกับนางสาวศรีนิตย์บุตรสาวย่อมถือได้ว่าเจ้าของโรงเรือนอยู่เอง ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีโรงเรือนตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน มาตรา 10 จำเลยต้องคืนเงินค่าภาษีและเงินเพิ่มให้แก่โจทก์ พิพากษาให้เพิกถอนรายการประเมินภาษีโรงเรือนตามใบแจ้งการประเมิน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 ถึงปีพ.ศ. 2527 กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินภาษีและเงินเพิ่ม10,422.50 บาทแก่โจทก์ คำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วฟังว่า โจทก์มีภูมิลำเนาอยู่ในโรงเรือนพิพาทและอยู่ในโรงเรือนพิพาทเอง โจทก์ได้รับประโยชน์ตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินพุทธศักราช 2475 ซึ่งแก้ไขแล้ว พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาว่าโจทก์มีชื่อในทะเบียนบ้านเลขที่ 31 – 35 ตำบลตะพานหิน อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร แม้โจทก์จะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โรงเรือนพิพาท โจทก์ก็ไม่มีชื่อในทะเบียนบ้านหลังนั้นโจทก์จึงไม่ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช 2475 มาตรา 10 ที่แก้ไขแล้วนั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช 2475 มาตรา 10 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินแก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2475มาตรา 3 บัญญัติว่า ‘โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ๆ ซึ่งเจ้าของอยู่เอง หรือให้ผู้แทนอยู่เฝ้ารักษาและซึ่งมิได้ใช้เป็นที่ไว้สินค้าหรือประกอบการอุตสาหกรรม ท่านให้งดเว้นจากบทบัญญัติแห่งภาคนี้ ตั้งแต่ พ.ศ. 2475 เป็นต้นไป’ ตามบทบัญญัติของกฎหมายที่กล่าวนี้ ไม่ได้วางหลักเกณฑ์ว่าโรงเรือนที่เจ้าของอยู่เอง เจ้าของจะต้องมีชื่อในทะเบียนบ้านด้วยจึงจะได้รับงดเว้นไม่ต้องเสียภาษีโรงเรือนตามกฎหมาย เมื่อข้อเท็จจริงฟังยุติตามคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองว่าโรงเรือนพิพาทเป็นของโจทก์และโจทก์อยู่เองแม้โจทก์จะไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน โจทก์ก็ย่อมได้รับงดเว้นไม่ต้องเสียภาษีโรงเรือนตามบทบัญญัติของกฎหมายข้างต้น
จำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 คืนเงินให้โจทก์ด้วยหรือไม่ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยที่ 1 เข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีนี้ในฐานะผู้ชี้ขาดคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ของโจทก์ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น ไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 แกล้งชี้ขาดและรับชำระภาษีในคดีนี้ไว้แต่ประการใด จึงไม่มีเหตุที่จะให้จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 คืนภาษีที่จำเลยที่ 2 รับชำระไว้ให้โจทก์ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 คืนเงินค่าภาษีให้โจทก์ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ฟ้องโจทก์สำหรับคดีเฉพาะตัวจำเลยที่1 ในส่วนที่ให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 คืนเงินค่าภาษีให้โจทก์นั้น ให้ยกนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.