คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1237/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ขณะที่จำเลยจดทะเบียนสมรสกับ ส. ในวันที่ 10 สิงหาคม 2531 จำเลยไม่มีคู่สมรสเพราะจำเลยจดทะเบียนหย่ากัน ค. ไปก่อนแล้วจึงไม่เป็นการฝ่าฝืนเงื่อนไขการสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1452
จำเลยไม่มีคู่สมรสอยู่ในขณะที่จดทะเบียนสมรส แม้จำเลยจะแจ้งว่าจำเลยเคยสมรสแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสก็มีผลอย่างเดียวกัน การที่นายทะเบียนจดทะเบียนสมรสให้จำเลยกับ ส. โดยเชื่อว่า จำเลยไม่เคยสมรสมาก่อน จึงไม่อาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย และไม่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน จำเลยจึงไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137 และมาตรา 267

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 137, 267
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางนริสา ศรีวะรมย์ ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ โดยอัยการพิเศษประจำเขต 3 ซึ่งอัยการสูงสุดได้มอบหมายรับรองให้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติโดยที่คู่ความไม่ได้ฎีกาโต้แย้งว่า เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2514 จำเลยจดทะเบียนสมรสกับนายคำหล้าหรือสิทธิชัย ศิลาเกษ และได้จดทะเบียนหย่ากันเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2515 ตามสำเนาทะเบียนหย่าเอกสารหมาย จ.3 ต่อมาวันที่ 10 สิงหาคม 2531 จำเลยได้จดทะเบียนสมรสกับนายสา บุญจูง โดยแจ้งต่อนายทะเบียนซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้กระทำตามหน้าที่ให้จดข้อความอันเป็นเท็จในเอกสารราชการ ซึ่งมี วัตถุประสงค์ใช้เป็นพยานหลักฐานว่าเคยสมรสแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยว่า การที่จำเลยแจ้งต่อนายทะเบียนว่าเคยสมรสแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้วจำเลยได้จดทะเบียนสมรสกับนายคำหล้าแต่ได้จดทะเบียนหย่ากันแล้วเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2515 นั้น เป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ความผิดฐานแจ้งความเท็จตาม ป.อ. มาตรา 137 จะต้องปรากฏว่าการแจ้งความเท็จนั้น อาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ส่วนการแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จตาม ป.อ. มาตรา 267 จะต้องปรากฏว่าการแจ้งให้ เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จนั้น ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน แต่ปรากฏว่าขณะที่จำเลยจดทะเบียนสมรสกับนายสาเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2531 นั้น จำเลยไม่มีคู่สมรสอยู่ในขณะจดทะเบียนสมรส เพราะจำเลยจดทะเบียนหย่ากับนายคำหล้าแล้วตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2515 การจดทะเบียนสมรสของจำเลยกับนายสาจึงไม่เป็นการฝ่าฝืนเงื่อนไขการสมรส ตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 1452 บัญญัติไว้ ดังนั้น เมื่อจำเลยไม่มีคู่สมรสอยู่ในขณะที่จดทะเบียนสมรส แม้จำเลยจะแจ้งต่อนายทะเบียนว่าจำเลยเคยสมรสแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสก็มีผลอย่างเดียวกันว่าจำเลยไม่มีคู่สมรสในขณะที่จำเลยจดทะเบียนสมรสกับนายสานั่นเอง การที่นายทะเบียนจดทะเบียนสมรสให้จำเลยกับนายสาโดยเชื่อว่าจำเลยไม่เคยสมรสมาก่อนจึงไม่อาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหายและไม่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
พิพากษายืน.

Share