คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1236/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ตกลงเรื่องถมดินกับโจทก์ประมาณเดือนมีนาคม 2531 แต่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2531 ดังนั้นในขณะที่จำเลยที่ 2 ไปเจรจาซื้อที่ดินจากโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงทำในฐานส่วนตัวเพราะขณะนั้นจำเลยที่ 1 ยังไม่มีตัวตน แต่เหตุที่จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการเพราะจำเลยที่ 2 รับราชการอยู่ จึงให้ส.เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ และในทางปฏิบัติจำเลยที่ 2เป็นผู้บริหารงานและดำเนินการแทนจำเลยที่ 1 และหลังจากจำเลยที่ 1 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้วจำเลยที่ 2 ได้ซื้อดินจากโจทก์ทั้งในฐานะส่วนตัวและในฐานะหุ้นส่วนจำพวกจำพวกจำกัดความรับผิดที่สอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของจำเลยที่ 1 ดังนั้น จำเลยที่ 2จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 1 ฎีกาจำเลยทั้งสองในส่วนนี้เกี่ยวกับคำขอตามฟ้องแย้งเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงซึ่งมีทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาไม่เกิน200,000 บาท ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัดมีจำเลยที่ 2 เป็นหนส่วนคนหนึ่งของห้างฯ ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน 2531 จำเลยที่ 2 ในฐานะตัวแทนเชิดของจำเลยที่ 1 และในฐานะส่วนตัวได้ร่วมกันซื้อดินจากบ่อดินของโจทก์นำไปถมที่ดินเพื่อใช้ในการก่อสร้างหมู่บ้านจัดสรร ในซอยอ่อนนุชแขวงสวนหลวง เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร โจทก์มีหน้าที่ใช้เครื่องมือกลตักดินใส่รถบรรทุกสิบล้อ บรรทุกไปถมในสถานที่ตามที่จำเลยทั้งสองเป็นผู้กำหนดและจำเลยทั้งสองจะเป็นผู้จ่ายค่าจ้างรถบรรทุก โดยคิดค่าดินกัน 400 บาท ต่อ 1 เที่ยวบรรทุกของรถบรรทุกสิบล้อ และจะชำระค่าดินให้แก่โจทก์ภายในกำหนด 1 เดือนนับแต่วันที่ได้ส่งมอบดิน โจทก์ขายดินให้จำเลยทั้งสองประมาณ 3,500เที่ยว แต่จำเลยทั้งสองชำระเงินให้แก่โจทก์เพียงบางส่วนคงค้างอยู่จำนวน 1,523 เที่ยว เป็นเงินจำนวน 609,200 บาท ซึ่งจำเลยทั้งสองจะต้องชำระให้แก่โจทก์ภายใน วันที่ 31 กรกฎาคม 2531 แต่จำเลยทั้งสองผิดนัด ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 609,200 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 1สิงหาคม 2531 จนถึงวันชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่าจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว เพราะกระทำการแทนจำเลยที่ 1 เมื่อระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนพฤศจิกายน 2531 จำเลยที่ 2 ได้ว่าจ้างโจทก์ให้ถมดินที่หมู่บ้านพรไพลิน เขตพระโขนง เนื้อที่ 20 ไร่เศษตกลงคิดค่าถมดินเป็นไร่ ไร่ละ 180,000 บาท โดยโจทก์เป็นฝ่ายจัดหารถบรรทุกและเครื่องมือกลตัดดักดิน จำเลยที่ 2 ตกลงออกเงินค่ารถบรรทุกไปก่อนแล้วจึงมาคิดหักกับเงินค่าถมดินของโจทก์ในภายหลังโจทก์ถมดินแล้ว 10 ไร่ คิดเป็นเงิน 1,800,000 บาท แต่ระหว่างว่าจ้างโจทก์ได้เบิกเงินจากจำเลยจำเลย 360,000 บาท และจำเลยได้ทดรองจ่ายเงินค่ารถบรรทุก 3,181 เที่ยว เป็นเงิน 1,495,070 บาทรวมเป็นเงิน 1,855,070 บาท เมื่อหักค่าถมดิน 1,800,000 บาท แล้วโจทก์ต้องคืนเงินให้จำเลย 55,070 บาท ขอให้ยกฟ้องและบังคับให้โจทก์ชำระเงินจำนวน 55,070 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับถัดจากวันฟ้องแย้งไปจนถึงวันชำระเสร็จ
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ยืนยันตามคำฟ้องเดิม ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน609,200 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2531 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยทั้งสองว่าจ้างโจทก์รับเหมาถมดินไม่ใช่เป็นเรื่องจำเลยทั้งสองซื้อดินจากโจทก์นั้นศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองซื้อดินของโจทก์ หาใช่จำเลยทั้งสองว่าจ้างเหมาให้โจทก์ถมดินไม่
ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 2 ตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า จำเลยที่ 2ตกลงเรื่องถมดินกับโจทก์ประมาณเดือนมีนาคม 2531 แต่จำเลยที่ 1จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2531 ปรากฎตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.7 ดังนั้นในขณะที่จำเลยที่ 2 ไปเจรจาซื้อดินจากโจทก์จำเลยที่ 2 จึงกระทำในฐานะส่วนตัว เพราะขณะนั้นจำเลยที่ 1 ยังไม่มีตัวตน ทั้งยังได้ความจากพันตำรวจเอกวราสิทธิ์สุมน หุ้นส่วนคนหนึ่งของจำเลยที่ 1 ตอบทนายโจทก์ถามค้านว่าเหตุที่พยานและจำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เพราะต่างก็รับราชการจึงให้นางสาวสุจิตรา สิทธิโชค เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการแต่ในทางปฏิบัติและพยานกับจำเลยที่ 2 เป็นผู้บริหารงานและดำเนินการแทนจำเลยที่ 1 จากข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าหลังจากจำเลยที่ 1 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้วจำเลยที่ 2 ได้ซื้อดินจากโจทก์ทั้งในฐานะส่วนตัวและในฐานะหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดที่สอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 1
ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาขอให้บังคับโจทก์ชำระเงินตามฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองจำนวน 55,070 บาท นั้น ศาลฎีกาได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้นว่า ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ดังที่จำเลยทั้งสองฎีกา ดังนั้นฎีกาจำเลยทั้งสองในส่วนที่เกี่ยวกับคำขอตามฟ้องแย้ง จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงซึ่งมีทุนทรัพย์ ในชั้นฎีกาไม่เกิน 200,000 บาทต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืนในส่วนที่เกี่ยวกับฟ้องโจทก์ ยกฎีกาจำเลยทั้งสองในส่วนที่เกี่ยวกับฟ้องแย้ง คืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นฎีกาทั้งหมดในส่วนที่เกี่ยวกับฟ้องแย้งแก่จำเลยทั้งสอง และให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 5,000 บาท แทนโจทก์

Share