คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1236/2492

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติว่าด้วยการทำพินัยกรรม พ.ศ.2475 มีข้อความอย่างเดียวกับ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 มาตรา 1658
พินัยกรรมทำเมื่อ พ.ศ.2489 เป็นแบบเอกสารฝ่ายเมืองโดยมีบันทึกท้ายพินัยกรรมเขียนไว้ว่าพินัยกรรมนี้ได้ทำถูกต้องตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยการทำพินัยกรรม 2475 มาตรา 7 อนุมาตรา1 ถึง 3 นั้น แปลความหมายได้ว่า พินัยกรรมได้ทำถูกต้องตามความในอนุมาตรา 1 ถึง 3 ของมาตรา 1658นั่นเอง จึงเป็นพินัยกรรมที่สมบูรณ์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยแบ่งทรัพย์มรดกของนางเปรี่ยมให้โจทก์ครึ่งหนึ่ง เป็นเงิน 2,160 บาท จำเลยให้การต่อสู้ในข้อเท็จจริงและว่าที่ดินและทรัพย์อื่นที่โจทก์ฟ้อง นอกจากนั้น นางเปรี่ยมได้เอารวมเข้าทำพินัยกรรมยกให้แก่จำเลยและนายหงอมบุตรโจทก์แล้วในการพิจารณาจำเลยส่งพินัยกรรมของนางเปรี่ยม ซึ่งทำเป็นเอกสารฝ่ายเมือง โจทก์คัดค้านว่าจำเลยทำปลอมขึ้น และพินัยกรรมมีรอยขีดฆ่าไม่ถูกต้องตามแบบพินัยกรรม พินัยกรรมจึงตกเป็นโมฆะ ต่อมานายรวยได้ร้องสอดขอเป็นจำเลยร่วม ศาลอนุญาต ศาลชั้นต้นฟังว่า พินัยกรรมนางเปรี่ยมชอบด้วยกฎหมาย ทรัพย์ที่โจทก์ฟ้องนอกจากที่ดิน 2 แปลงและเรือพายม้าตกเป็นของจำเลยตามพินัยกรรม พิพากษาให้เอาที่ดิน 2 แปลงและเรือพายม้าที่เป็นมรดกแบ่งให้โจทก์จำเลยคนละครึ่ง

ศาลอุทธรณ์ฟังว่า พินัยกรรมของนางเปรี่ยมชอบด้วยกฎหมายแต่เรือพายม้าตกเป็นของจำเลย ส่วนที่ดินนั้นนางเปรี่ยมได้สละการครอบครองแล้ว จะเอามาเป็นมรดกไม่ได้ พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ในข้อที่จำเลยคัดค้านว่า บันทึกท้ายพินัยกรรมซึ่งเขียนไว้ว่า ได้ทำถูกต้องตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการทำพินัยกรรม พ.ศ. 2475 มาตรา 7 อนุมาตรา 1 ถึง 3 พระราชบัญญัติดังกล่าวประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 มีความทับเสียแล้วนั้นบันทึกนี้ก็หาทำให้พินัยกรรมเสียไปไม่ เพราะตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการทำพินัยกรรม พ.ศ. 2475 มาตรา 7 คงมีข้อความอย่างเดียวกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 มาตรา 1658 บันทึกนั้นจึงแปลความหมายได้ว่า พินัยกรรมได้ทำถูกต้องตามความในอนุมาตรา 1 ถึง 3 ของมาตรา 1658 นั่นเอง ส่วนข้อเท็จจริงคงฟังว่าที่สวน 1 ไร่เศษกับเรือพายม้าเป็นมรดกของนางเปรี่ยม ให้แบ่งปันระหว่างโจทก์จำเลยตามส่วนที่ศาลชั้นต้นพิพากษามา นอกจากนั้นคงยืน

Share