คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12338/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทำทีเป็นเก็บกระเป๋าสตางค์ได้ โดยพวกของจำเลยถามจำเลยว่าในกระเป๋ามีทองเต็มใช่หรือไม่ จำเลยเปิดกระเป๋าสตางค์ออกดู ผู้เสียหายมองเห็นทองรูปพรรณในกระเป๋า 3 ถึง 4 เส้น จำเลยพูดว่าจะให้เงินผู้เสียหาย 10,000 บาท แต่อย่าบอกผู้ใด และบอกให้ผู้เสียหายถอดสร้อยคอทองคำพร้อมพระเครื่องเอามารวมไว้ในห่อผ้าเช็ดหน้า แล้วผูกผ้าเช็ดหน้าให้ผู้เสียหายถือไว้และให้ยืนรอ โดยจำเลยจะนำเงินมาให้ ผู้เสียหายรออยู่ 1 ชั่วโมง จำเลยไม่กลับมา ผู้เสียหายแกะห่อผ้าเช็ดหน้าออกดู พบว่ามีเงินเหรียญบาท 32 เหรียญ ดังนี้จำเลยกับพวกมีเจตนาที่จะเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปตั้งแต่แรก การที่จำเลยหลอกลวงว่าจะให้เงินผู้เสียหาย 10,000 บาท และให้ถอดสร้อยคอทองคำพร้อมพระเครื่องเอามารวมไว้ ล้วนเป็นการใช้กลอุบายเพื่อให้ได้ไปซึ่งสร้อยคอทองคำพร้อมพระเครื่องของผู้เสียหาย แม้ผู้เสียหายจะหลงเชื่อ แต่ผู้เสียหายก็ไม่ได้มีเจตนาส่งมอบสร้อยคอทองคำพร้อมพระเครื่องให้แก่จำเลย สาเหตุที่จำเลยเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปได้ เชื่อว่าเกิดจากการสับเปลี่ยนห่อผ้าเช็ดหน้า ซึ่งเป็นการแย่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ของผู้เสียหาย จึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปตาม ป.อ. มาตรา 335 (7) วรรคแรก แม้ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาจะต่างกันระหว่างการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงและลักทรัพย์ก็ไม่ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญและจำเลยก็มิได้หลงต่อสู้ ศาลฎีกามีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปได้ แต่ไม่อาจลงโทษจำเลยให้เป็นไปตามอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม ประกอบมาตรา 215 และ 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 341 ริบห่อผ้าเช็ดหน้าพร้อมเงินเหรียญบาท 32 เหรียญ ของกลาง และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาสร้อยคอทองคำพร้อมพระเครื่องราคา 15,620 บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ประกอบมาตรา 83 จำคุก 6 เดือน และปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง ภายในกำหนด 1 ปี และกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควร 24 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาสร้อยคอทองคำพร้อมพระเลี่ยมทอง (ที่ถูก พระเครื่อง) ราคา 15,620 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้องมีคนร้าย 3 คน ร่วมกันหลอกลวงเอาสร้อยคอทองคำพร้อมพระเครื่อง 1 องค์ ราคารวม 15,620 บาท ของผู้เสียหายไป
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยเป็นคนร้ายที่ร่วมกับพวกกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายเป็นพยานเบิกความว่า วันเกิดเหตุ เวลาประมาณ 8 นาฬิกา ขณะผู้เสียหายกำลังเดินเลือกซื้อของที่ตลาดนัดอำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี มีหญิงคนหนึ่งเข้ามาถามผู้เสียหายว่าเห็นกระเป๋าสตางค์หรือไม่ ผู้เสียหายบอกว่าไม่เห็นและเดินซื้อของต่อไป ต่อมามีหญิงอีกคนหนึ่งเดินมาข้าง ๆ ผู้เสียหาย และจำเลยเดินเข้ามาสมทบ หญิงคนดังกล่าวถามจำเลยว่า “อ้วนเก็บกระเป๋าสตางค์ได้ ในกระเป๋ามีทองเต็มใช่หรือไม่” จำเลยเปิดกระเป๋าออกดู ผู้เสียหายมองเห็นทองรูปพรรณในกระเป๋า 3 – 4 เส้น จำเลยพูดว่าจะให้เงินผู้เสียหาย 10,000 บาท แต่อย่าบอกให้ผู้ใด จากนั้นพากันเดินมาบริเวณหน้าศาลเจ้าปู่ศรีสุทโธ จำเลยบอกให้ผู้เสียหายถอดสร้อยคอทองคำพร้อมพระเครื่องที่ห้อยอยู่เอามารวมไว้ในห่อผ้าเช็ดหน้าแล้วผูกผ้าเช็ดหน้าให้ผู้เสียหายถือไว้ และให้ยืนรออยู่บริเวณดังกล่าว โดยจำเลยจะนำเงินมาให้ แล้วจำเลยกับหญิงคนดังกล่าวเดินออกไป ผู้เสียหายรอประมาณ 1 ชั่วโมง ไม่มีผู้ใดกลับมาจึงแกะผ้าเช็ดหน้าออกดูพบว่ามีแต่เงินเหรียญบาท 32 เหรียญ ผู้เสียหายเดินไปด้านหลังบริเวณศาลเจ้าพบกับจำเลยและบอกจำเลยให้คืนสร้อยคอทองคำแก่ผู้เสียหาย และเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ขณะถูกหลอกให้ถอดสร้อยคอทองคำนำมาห่อรวมกันในผ้าเช็ดหน้านั้น ใช้เวลาประมาณ 5 นาที เห็นว่า แม้โจทก์มีผู้เสียหายเป็นประจักษ์พยานเพียงปากเดียว แต่ผู้เสียหายเบิกความยืนยันข้อเท็จจริงเป็นขั้นเป็นตอนโดยลำดับเรื่องราวได้สมเหตุผล ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางวันผู้เสียหายมีโอกาสเห็นจำเลยในระยะใกล้ชิดและเป็นเวลานานพอสมควร เนื่องจากผู้เสียหายพบจำเลยที่เต็นท์ขายเสื้อผ้าและได้พูดคุยกับจำเลยก่อนที่จะพากันเดินไปบริเวณหน้าศาลเจ้า หลังเกิดเหตุเมื่อผู้เสียหายแกะผ้าเช็ดหน้าออกดูรู้ว่าไม่มีสร้อยคอทองคำและพระเครื่อง เมื่อเห็นจำเลยผู้เสียหายก็วิ่งไปดึงเสื้อจำเลยไว้พร้อมบอกให้คืนสร้อยคอทองคำให้ในทันทีและเมื่อเห็นคนรู้จักก็ร้องขอให้ช่วยและให้ช่วยแจ้งเจ้าพนักงานตำรวจด้วย นอกจากนี้ยังได้ความจากคำให้การของนางสุพิน ซึ่งจำเลยไม่ได้นำสืบโต้แย้งว่าจำเลยมีลักษณะรูปร่างใหญ่สอดคล้องกับคำเบิกความของผู้เสียหายที่เบิกความว่า ขณะที่จำเลยกับพวกเดินมาข้าง ๆ ผู้เสียหาย พวกของจำเลยเรียกจำเลยว่า อ้วน ถือได้ว่าจำเลยมีลักษณะรูปร่างพิเศษที่ทำให้ผู้เสียหายจดจำได้ง่ายกว่าคนทั่วไป เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจมาถึงที่เกิดเหตุผู้เสียหายก็แจ้งแก่เจ้าพนักงานตำรวจในทันทีว่า จำเลยเป็นคนเอาสร้อยคอทองคำไป ทั้งยังบอกรายละเอียดตำหนิรูปพรรณคนร้ายอีกคนหนึ่งให้เจ้าพนักงานตำรวจสเก็ตซ์ภาพไว้ โดยไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน จึงไม่มีเหตุให้ต้องระแวงสงสัยว่าจะเบิกความปรักปรำจำเลยโดยไม่เป็นความจริง แม้ภายหลังเกิดเหตุจำเลยไม่ได้หลบหนีออกจากบริเวณตลาดนัดทันทีและไม่พบสร้อยคอทองคำรวมทั้งพระเครื่องของผู้เสียหายที่ตัวจำเลย แต่ก็อาจเป็นเพราะจำเลยมอบให้พวกของจำเลยนำออกไปจากบริเวณที่เกิดเหตุแล้ว ทำให้ไม่มีความจำเป็นที่จำเลยต้องรีบหลบหนีไปก็เป็นได้ พยานจำเลยที่นำสืบนอกจากจะเป็นญาติและคนรู้จักกับจำเลยแล้ว พยานแต่ละปากก็เพียงแต่เบิกความลอย ๆ จึงไม่น่าเชื่อถือ ไม่พอให้รับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ซึ่งรับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่า จำเลยเป็นคนร้ายที่ร่วมกับพวกเอาสร้อยคอทองคำพร้อมพระเครื่องของผู้เสียหายไป การที่จำเลยกับพวกมีเจตนาที่จะเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปตั้งแต่แรกและต่อมามีการหลอกลวงว่าจะให้เงินผู้เสียหาย 10,000 บาท และให้ถอดสร้อยคอทองคำพร้อมพระเครื่องมารวมไว้ ล้วนเป็นการใช้กลอุบายเพื่อให้ได้ไปซึ่งสร้อยคอทองคำพร้อมพระเครื่องของผู้เสียหาย แม้ผู้เสียหายจะหลงเชื่อ แต่ผู้เสียหายก็มิได้มีเจตนาส่งมอบสร้อยคอและพระเครื่องให้แก่จำเลย สาเหตุที่จำเลยเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปได้น่าเชื่อว่าเกิดจากการสับเปลี่ยนห่อผ้าเช็ดหน้า ซึ่งเป็นการแย่งกรรมสิทธิทรัพย์ของผู้เสียหาย จึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) วรรคแรก แม้ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาจะต่างกันระหว่างการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงและลักทรัพย์ก็ไม่ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญและจำเลยก็มิได้หลงต่อสู้ ศาลฎีกามีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปได้ แต่ไม่อาจลงโทษจำเลยให้เป็นไปตามอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสาม ประกอบมาตรา 215 และ 225 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 แต่ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share