คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12328/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้โจทก์ไม่มีพยานรู้เห็นว่าจำเลยทั้งสามเป็นคนตัดสายคอนโทรลเคเบิล แต่จุดที่มีการติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 อยู่ภายในบริเวณรั้วของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นการยากที่บุคคลภายนอกที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องจะเข้าไปตัดสายคอนโทรลเคเบิลในที่เกิดเหตุได้ และการที่สายคอนโทรลเคเบิลถูกตัด มีผลทำให้มิเตอร์ไฟฟ้าคิดค่าไฟฟ้าต่ำกว่าความจริง ทั้งยังพบว่ามีสายไฟฟ้าซึ่งต่อกับสายคอนโทรลเคเบิลถูกลากไปที่โรงเก็บของจำเลยที่ 1 แม้สายไฟฟ้าดังกล่าวถูกตัดไปและไม่พบสวิตช์ควบคุมในโรงเก็บของจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่จำเลยทั้งสามไม่ได้นำสืบปฏิเสธว่าสายคอนโทรลเคเบิลไม่ได้ถูกตัด ประกอบกับจำเลยที่ 1 ยอมชำระค่าปรับกรณีละเมิดการใช้ไฟฟ้าและตกลงยอมชำระค่าไฟฟ้าที่มีการปรับปรุงเพิ่ม ตามหนังสือรับสภาพหนี้ ซึ่งเป็นจำนวนเงินค่ากระแสไฟฟ้าที่สูงมาก หากจำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำผิดจริงก็ไม่มีเหตุผลใดที่จำเลยที่ 1 จะยอมเสียค่าปรับและทำหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าว พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาจึงมีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ลักกระแสไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคผู้เสียหาย ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 1 อยู่ในขณะเกิดเหตุ จึงเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินกิจการของจำเลยที่ 1 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิด ต้องถือว่าเป็นการกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 335 ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่ากระแสไฟฟ้า 14,050,058.67 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง และให้จำเลยที่ 1 ชำระค่ากระแสไฟฟ้า 8,967,270.08 บาท แก่ผู้เสียหาย คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (7) วรรคสอง ประกอบมาตรา 83 ให้ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 10,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 3 ปี หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่ากระแสไฟฟ้า 8,967,270.08 บาท แก่ผู้เสียหาย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นกรรมการผู้จัดการ จำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ผู้เสียหาย เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2550 เจ้าหน้าที่ของผู้เสียหายเข้าตรวจสอบการใช้ไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 พบว่า สายคอนโทรลเคเบิลที่เชื่อมต่อเข้ากับมิเตอร์ไฟฟ้าที่ใช้สำหรับคิดค่าใช้ไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 ถูกตัด ต่อมาจำเลยที่ 1 ชำระค่าปรับกรณีละเมิดการใช้ไฟฟ้าให้ผู้เสียหายเป็นเงิน 50,000 บาท ผู้เสียหายกับจำเลยที่ 1 เจรจาตกลงกันโดยจำเลยที่ 1 ยอมชำระค่าไฟฟ้าที่มีการปรับปรุงเพิ่มให้ผู้เสียหาย 8,967,270.08 บาท ตามหนังสือรับสภาพหนี้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 หรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์ไม่มีพยานรู้เห็นว่า จำเลยทั้งสามเป็นคนตัดสายคอนโทรลเคเบิล และไม่ทราบว่าสายคอนโทรลเคเบิลดังกล่าวถูกตัดตั้งแต่เมื่อใดก็ตาม แต่ตามแผนที่แสดงสถานที่เกิดเหตุ ปรากฏว่าบริเวณที่ตั้งของจำเลยที่ 1 มีรั้วล้อมรอบมิดชิด มีป้อมยามบริเวณประตูทางเข้า ทั้งจุดที่มีการติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 ที่เกิดเหตุอยู่ภายในบริเวณรั้วของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีรั้วล้อมรอบและล็อกด้วยกุญแจอีกชั้นหนึ่ง จุดที่เกิดเหตุจึงเป็นสถานที่ส่วนบุคคล ซึ่งเป็นการยากที่บุคคลภายนอกที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องจะเข้าไปตัดสายคอนโทรลเคเบิลในที่เกิดเหตุได้ และการที่สายคอนโทรลเคเบิลดังกล่าวถูกตัด มีผลทำให้มิเตอร์ไฟฟ้าคิดค่าการใช้ไฟฟ้าไม่ถูกต้องต่ำกว่าความเป็นจริง ทั้งยังพบว่ามีสายไฟฟ้าซึ่งต่อกับสายคอนโทรลเคเบิลถูกลากไปที่โรงเก็บของจำเลยที่ 1 แม้สายไฟฟ้าดังกล่าวถูกตัดไปและไม่พบสวิตช์ควบคุมในโรงเก็บของจำเลยที่ 1 ก็ไม่ทำให้พยานหลักฐานของโจทก์ขาดน้ำหนักแต่อย่างใด ซึ่งจำเลยทั้งสามไม่ได้นำสืบปฏิเสธว่าสายคอนโทรลเคเบิลไม่ได้ถูกตัด ประกอบกับจำเลยที่ 1 ยอมชำระค่าปรับกรณีละเมิดการใช้ไฟฟ้าและตกลงยอมชำระค่าไฟฟ้าที่มีการปรับปรุงเพิ่ม โดยทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ด้วย แม้จำเลยทั้งสามนำสืบปฏิเสธอ้างว่า เหตุที่ยอมชำระค่าปรับและทำหนังสือรับสภาพหนี้เนื่องจากหากไม่กระทำ ผู้เสียหายจะดำเนินการตัดไฟฟ้าทำให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 3 ทำบันทึกต่อท้ายหนังสือรับสภาพหนี้ว่า การลงลายมือชื่อในหนังสือรับสภาพหนี้ไม่เกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 ลักกระแสไฟฟ้าของผู้เสียหายและขอสงวนสิทธิที่จะต่อสู้คดีอาญาต่อไปก็ตาม แต่จำนวนเงินค่ากระแสไฟฟ้าตามหนังสือรับสภาพหนี้เป็นจำนวนสูงมาก หากจำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำผิดจริงก็ไม่มีเหตุผลใดที่จำเลยที่ 1 จะยอมเสียค่าปรับและทำหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าว พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 กระทำผิดตามฟ้อง สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 แม้จะนำสืบอ้างว่า เมื่อปี 2548 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้มอบกิจการของจำเลยที่ 1 ให้นางสาวดวงรัตน์ บุตรสาวเป็นผู้ดูแลก็ตาม แต่ก็ยังไม่มีการจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 1 จึงต้องถือว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยังเป็นกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 1 อยู่ จึงเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินกิจการของจำเลยที่ 1 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 กระทำผิด ถือว่าเป็นการกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ด้วย ส่วนที่โจทก์ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่ากระแสไฟฟ้า 14,050,058.67 บาท แก่ผู้เสียหาย เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้เสียหายกับจำเลยที่ 1 มีการเจรจาตกลงกันยอมให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่ากระแสไฟฟ้าเพียง 8,967,270.08 บาท จำเลยทั้งสามจึงต้องร่วมกันชดใช้เงิน 8,967,270.08 บาท แก่ผู้เสียหาย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share