คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1232/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ถ้ามีเหตุอันบ่งให้เห็นว่า ค่าเช่าอันเป็นหลักคำนวณค่ารายปีมิใช่จำนวนเงินอันสมควรจะให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจแก้หรือคำนวณค่ารายปีเสียใหม่ได้ แม้จะสูงขึ้นจากเดิมก็ตาม เมื่อค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วสูงขึ้น ดังนี้ ค่ารายปีนั้นก็คงนำมาใช้เป็นหลักสำหรับคำนวณค่าภาษีที่จะต้องเสียในปีต่อมาโดยไม่จำกัดว่าโรงเรือนที่ถูกประเมินนั้นจะได้ให้เช่ามาแล้วหรือเพิ่งจะให้เช่าเป็นครั้งแรก

ย่อยาว

คดีนี้ โจทก์ฟ้องมีใจความว่า โจทก์มีตึกแถว ๒๒ ห้อง พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยเรียกเก็บภาษีสำหรับ พ.ศ.๒๕๐๔ เกินไปกว่าที่โจทก์ต้องเสีย ห้องละ ๑๐ บาท รวมเป็นเงิน ๗๘๐ บาท โดยไม่ถือเอาค่าคายปีที่ประเมินไว้ในปีที่ล่วงมาถึง พ.ศ.๒๕๐๓ เป็นหลัก โจทก์อุทธรณ์ไปยังคณะเทศมนตรีนครกรุงเทพ คณะเทศมนตรีนครกรุงเทพยกอุทธรณ์ของโจทก์ จึงขอให้ศาลบังคับจำเลยให้คืนเงินที่เรียกเก็บเกินไป ๗๘๐ บาทนั้น พร้อมทั้งดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยประเมินชอบด้วยกฎหมายแล้ว
คู่ความตกลงกันขอให้ศาลวินิจฉัยในปัญหาหรือบทเป็นข้อแพ้ชนะว่า พนักงานเจ้าหน้าที่เทศบาลมีอำนาจที่จะประเมินให้สูงขึ้นจากเดิมได้หรือไม่ ทั้งสองฝ่ายต่างไม่สืบพยาน
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาว่า คือแถวของโจทก์เป็นโรงเรือนที่ให้เช่ามาแล้ว ต้องถือค่ารายปีของปีที่ล่วงมาแล้วเป็นหลักสำหรับการคำนวณค่าภาษีซึ่งจะต้องเสียในปีต่อมาตามมาตรา ๑๘ ส่วนมาตรา ๘ ใช้สำหรับโรงเรือนซึ่งเพิ่งให้เช่าเป็นครั้งแรก
ศาลฎีกาพิเคราะห์พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.๒๔๗๕ (ตามที่แก้ไขเพิ่มเติม) แล้วมาตรา ๘ บัญญัติว่า “ค่าภาษี……ให้ผู้รับประเมินชำระ……….โดยอัตราร้อยละ ๑๕ แห่งค่ารายปี ค่ารายปี………นี้ ให้หมายความว่า จำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้น ๆ สมควรจะให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ ถ้าทรัพย์สินนั้นให้เช่า ท่านว่า ค่าเช่านั้นเป็นหลักคำนวณค่ารายปี แต่ถ้ามีเหตุอันบ่งให้เห็นว่าค่าเช่านั้นมิใช่จำนวนเงินอันสมควรจะให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ ไซร้ ท่านว่าพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจแก้หรือคำนวณค่ารายปีเสียใหม่” และมาตรา ๑๘ บัญญัติว่า “ค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วนั้น ท่านให้เป็นหลักสำหรับการคำนวณค่าภาษีซึ่งจะต้องเสียในปีต่อมา” ดังนี้ ตามตัวอักษรปละความมุ่งหมายแสดงว่า “ค่าเช่า” เป็นหลักคำนวณ “ค่ารายปี” “ค่ารายปี” เป็นหลักคำนวณ “ค่าภาษี”
ดังนี้ ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินที่ให้เช่ามาก่อนแล้วหรือเพิ่งให้เช่าเป็นครั้งแรก ถ้ามีเหตุอันบ่งให้เห็นว่า ค่าเช่า นั้นมิใช่จำนวนเงินอันสมควรจะให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ พนักงานเจ้าหน้าที่ก็มีอำนาจแก้หรือคำนวณค่ารายปีเสียใหม่ แม้จะสูงขึ้นจากเดิม ก็ได้ตามมาตรา ๘ และเมื่อ ค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วสูงขึ้น ดังนี้ ค่ารายปีนั้นก็ต้องนำมาใช้เป็นหลักสำหรับการคำนวณ ค่าภาษี ซึ่งจะต้องเสียในปีต่อมาตามมาตรา ๑๘ นั่นเอง
เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจกระทำใด และฎีกาโจทก์ไม่มีเหตุสมควรจะแก้ไขคำพิพากษาศาลล่าง ศาลฎีกาพิพากษายืน

Share