คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 123/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ทั้งในคำอุทธรณ์การประเมินของโจทก์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และในคำฟ้องของโจทก์ได้อ้างว่าเจ้าพนักงานประเมินได้แจ้งบอกค่าเสื่อมราคาในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2523 เพียง 14,700,159.77 บาท แทนที่จะเป็น 18,700,159.77 บาท จึงเป็นผลทำให้ยอดค่าเสื่อมราคาที่กล่าวข้างต้นสูงกว่าจำนวนเงินที่ระบุในข้อ 2.1.1 ไป 4,000,000 บาท โดยโจทก์ไม่ได้ระบุถึงความเป็นมาของยอดค่าเสื่อมราคาจำนวน 18,700,157.77 บาท ว่าได้มาอย่างไร และยอดค่าเสื่อมราคาจำนวน 14,700,157.77 บาท ไม่ถูกต้องอย่างไรการกล่าวอ้างของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ จำเลยไม่สามารถสู้คดีได้ถูกต้อง ฟ้องโจทก์ในส่วนนี้จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุม โจทก์ได้ยอมรับว่าโจทก์ได้ให้บริการรับประทานอาหารฟรีแก่พนักงานของโจทก์บนเรือขุดแร่ กรณีย่อมถือได้ว่าพนักงานที่ทำงานบนเรือขุดแร่ได้รับประโยชน์ในทางทรัพย์สินเพิ่มพูนขึ้นเนื่องจากการทำงานนอกเหนือไปจากเงินเดือนที่พนักงานจะได้รับ แสดงให้เห็นว่าโจทก์ยอมรับว่าการเลี้ยงอาหารแก่พนักงานบนเรือดังกล่าวถือเป็นประโยชน์เพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากการจ้างแรงงานค่าใช้จ่ายดังกล่าว จึงถือเป็นเงินได้ของพนักงานของโจทก์ซึ่งได้รับอันเนื่องมาจากการจ้างแรงงานตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากรและเงินได้ในส่วนดังกล่าวถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องนำค่าใช้จ่ายดังกล่าวมาคำนวณหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายและนำส่งต่อจำเลย เรือขุดแร่ของ ท.ที่มีการซื้อขายในคดีนี้ได้ถูกออกแบบเป็นพิเศษโดยเฉพาะเพื่อใช้งานสำหรับขุดแร่บริเวณที่ ท.ได้รับสัมปทานโดยเฉพาะ เมื่อการทำแร่จะต้องได้รับสัมปทานและ ท.ถูกเพิกถอนสัมปทานไปแล้วท. จึงไม่อยู่ในฐานะที่จะต่อรองอะไรกับโจทก์หรือผู้ซื้อทรัพย์สินรายใดได้ ส่วนหนังสือแจ้งราคาเรือที่ต่อใหม่ของบริษัท ม. ก็ปรากฏว่ามีมาถึงโจทก์หลังจากที่โจทก์ได้ทำสัญญาซื้อขายทรัพย์สินไปแล้ว การยืนยันราคาเรือก็เป็นการยืนยันย้อนหลัง แสดงว่าในการทำหนังสือสอบถามราคาไปก็เพียงแต่จะเป็นการสร้างหลักฐานขึ้นมาประกอบการซื้อทรัพย์นั้น ไม่มีเจตนาจะให้มีการต่อเรือกันจริง หนังสือที่ทางบริษัท ม. แจ้งมายังโจทก์จึงไม่น่าเชื่อถือ สำหรับข้อที่โจทก์อ้างว่าหลังจากซื้อเรือขุดแร่จาก ท. แล้ว ได้ประกันภัยในราคาที่ใกล้เคียงกับราคาที่ซื้อมาของโจทก์ โจทก์คงอ้างแต่เพียงลอย ๆ โดยไม่แสดงหลักฐานใด ๆ นอกจากนี้การกำหนดราคาเอาประกันภัยไม่อาจถือเป็นราคาอันสมควรได้เพราะคู่สัญญาประกันภัยสามารถตกลงวงเงินเอาประกันภัยเท่าใดก็ได้ เพียงแต่หากเกิดความเสียหายก็จะชดใช้ให้ตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงเท่านั้น ดังนั้นราคาทรัพย์สินที่เอาประกันภัยจึงมิใช่ราคาตลาดของทรัพย์สินที่เอาประกันภัยและไม่อาจเชื่อถือได้ ส่วนที่โจทก์อ้างว่าราคาที่โจทก์และ ท. ทำการตกลงซื้อขายนั้นเป็นราคาของมูลค่าทรัพย์สินตามปกติที่อาจสามารถซื้อขายกันได้ หาได้มีลักษณะเป็นการซื้อขายทรัพย์สินที่มีราคาสูงเกินปกติโดยไม่มีเหตุอันสมควรแต่ประการใดนั้น จากการตรวจสอบของเจ้าพนักงานของจำเลยได้ความว่าในการลงบัญชีทรัพย์ที่ซื้อมาโดยที่สัญญาซื้อขายทรัพย์สินระบุเป็นรายการใหญ่ ๆ ต้องหาวิธีลงบัญชีเพื่อแยกเป็นรายการย่อย ๆ จึงได้ใช้ดัชนีมาร์ชแอนด์สตีแว่นมาเพื่อคำนวณหามูลค่าทรัพย์สินเพื่อใช้ลงบัญชี ดัชนีมาร์ชแอนด์สตีเว่นเป็นการคำนวณค่าใช้จ่ายในการแต่งเรือย้อนหลังไป 1 ปี มีอัตราเงินเฟ้อประมาณร้อยละ 16 การเปรียบเทียบจะอยู่ภายใต้เงื่อนไขเดียวกัน แต่กรณีของโจทก์ทรัพย์สินที่โจทก์ซื้อผ่านการใช้งานมาแล้วประมาณ 4 ปี การนำดัชนีราคาดังกล่าวมาเปรียบเทียบกับกรณีของโจทก์จึงไม่ถูกต้อง ราคาต้นทุนทรัพย์สินตามบัญชี ท.มีราคา 221,934,959.44 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ ท. ได้หักค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินและได้นำไปใช้หักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลของ ท.ไปแล้วและท. หักค่าเสื่อมราคาโดยใช้วิธีเส้นตรงในอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ซึ่งเป็นการหักค่าใช้จ่ายในอัตราต่ำอยู่แล้ว การที่โจทก์ซื้อทรัพย์สินของ ท.มาในราคา 332,800,000 บาท จึงเป็นราคาที่สูงเกินปกติโดยไม่มีเหตุอันสมควร ตามสัญญาซื้อขายทรัพย์สินหนี้สินและสัญญาเพิ่มเติมเพื่อขายและซื้อทรัพย์สินและหนี้สินมีการระบุรายละเอียดรายการทรัพย์สินและหนี้สินที่โจทก์ซื้อจาก ท. ไว้ โดยไม่มีการระบุว่ามีการซื้อขายเจ้าหนี้ระยะยาวรายของบริษัท ซ.และบริษัทซ. ไว้แต่อย่างใด ดังนั้นการที่โจทก์จ่ายดอกเบี้ยแทน ท.ไป โดยค่าดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นค่าดอกเบี้ยของหนี้สินระยะยาวซึ่งโจทก์มิได้ผูกพันด้วยค่าดอกเบี้ยที่โจทก์จ่ายไปจึงเป็นรายจ่ายที่ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพราะเป็นรายจ่ายซึ่งมิใช่รายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะของโจทก์ตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร โจทก์จึงนำรายจ่ายดังกล่าวมาคิดคำนวณกำไรสุทธิไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินที่ ต.6/1048/64692 ลงวันที่ 28 มิถุนายน 2527 สำหรับปีภาษี2520 ถึง 2524 จำนวนเงิน 3,995,107.88 บาท ที่ กค.0807/4418ลงวันที่ 28 มิถุนายน 2527 สำหรับปีภาษี 2520 เฉพาะส่วนที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ยังมิได้แก้ไข และให้ยกเลิกคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ในส่วนที่ให้เปลี่ยนแปลงกำไรสุทธิของโจทก์ในปีภาษี 2520 เพียง 5,299,192.42 บาท เสียโดยขอให้ปลดภาระการประเมิน จำนวน 49,539,007.04 บาท และขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานที่ ต.6/1048/2/3225, 3226,3227 และ 3228 ทั้งสี่ฉบับลงวันที่ 28 มิถุนายน 2527 สำหรับปีภาษี 2521, 2522, 2523 และ 2524 เฉพาะส่วนที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยให้ปลดภาษีและลดเบี้ยปรับลงให้แล้วอันเป็นผลทำให้สั่งให้โจทก์นำเงินภาษีและเงินเพิ่มจำนวน44,151,668.21 บาท ไปชำระรวม 3 รายการ เป็นเงิน97,685,783.49 บาท
จำเลยให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยตลอดจนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามแบบแจ้งการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ถูกต้องแล้ว และฟ้องแย้งว่าโจทก์ต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 27แห่งประมวลรัษฎากร ในอัตราร้อยละ 20 รวมเป็นเงินภาษีและเงินเพิ่มที่โจทก์จะต้องรับผิดชำระให้จำเลยทั้งสิ้นเป็นเงิน 53,186,740.61บาท และจำเลยได้แจ้งให้โจทก์นำเงินค่าภาษีเงินเพิ่มดังกล่าวไปชำระให้แก่จำเลยแล้ว แต่โจทก์เพิกเฉยมิยอมชำระ ขอให้ยกฟ้องโจทก์ และบังคับโจทก์ชำระค่าภาษีและเงินเพิ่มแก่จำเลยตามฟ้องแย้งรวมทั้งสิ้นเป็นเงินจำนวน 53,186,740.61 บาท
ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยและศาลฎีกาพิพากษายืน
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกมีว่า คำฟ้องของโจทก์ในข้อ 4 ก. เป็นคำฟ้องที่เคลือบคลุมหรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่าทั้งในคำอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์และคำฟ้องโจทก์ได้ชี้แจงเหตุผลเกี่ยวกับตัวเลขบอกค่าเสื่อมราคาจำนวน 18,700,159.77 บาท ไว้อย่างชัดเจนแล้ว ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุมนั้น เห็นว่า ทั้งในคำอุทธรณ์การประเมินของโจทก์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และในคำฟ้องของโจทก์ได้อ้างว่าเจ้าพนักงานประเมินได้แจ้งบอกค่าเสื่อมราคาในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2523 เพียง 14,700,159.77 บาท แทนที่จะเป็น 18,700,159.77 บาท จึงเป็นผลทำให้ยอดค่าเสื่อมราคาที่กล่าวข้างต้นสูงกว่าจำนวนเงินที่ระบุในข้อ 2.1.1 ไป 4,000,000บาท โดยโจทก์ไม่ได้ระบุถึงความเป็นมาของยอดค่าเสื่อมราคาจำนวน18,700,157.77 บาท ว่าได้มาอย่างไร และยอดค่าเสื่อมราคาจำนวน14,700,157.77 บาท ไม่ถูกต้องอย่างไร การกล่าวอ้างของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ จำเลยไม่สามารถสู้คดีได้ถูกต้อง ฟ้องโจทก์ในส่วนนี้จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุม
ปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อต่อไปมีว่า การที่เจ้าพนักงานประเมินคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ระหว่างปี2520 ถึง 2524 โดยนำค่าใช้จ่ายในการจัดซื้ออาหารมาเลี้ยงพนักงานมาถือเป็นเงินได้ของพนักงานรวมเป็นเงินภาษีและเงินเพิ่มในระหว่างปี 2520 ถึง 2524 จำนวน 204,738.76 บาท นั้น ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ตามคำอุทธรณ์ของโจทก์ได้ยอมรับว่าโจทก์ได้ให้บริการรับประทานอาหารฟรีแก่พนักงานของโจทก์บนเรือขุดแร่ กรณีย่อมถือได้ว่าพนักงานที่ทำงานบนเรือขุดแร่ได้รับประโยชน์ในทางทรัพย์สินเพิ่มพูนขึ้นเนื่องจากการทำงานนอกเหนือไปจากเงินเดือนที่พนักงานจะได้รับแสดงให้เห็นว่าโจทก์ยอมรับว่าการเลี้ยงอาหารแก่พนักงานบนเรือดังกล่าวถือเป็นประโยชน์เพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากการจ้างแรงงานเช่นเดียวกับความเห็นของเจ้าพนักงานประเมินค่าใช้จ่ายดังกล่าวจึงถือเป็นเงินได้ของพนักงานของโจทก์ซึ่งได้รับอันเนื่องมาจากการจ้างแรงงานตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากรและเงินได้ในส่วนดังกล่าว ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39แห่งประมวลรัษฎากร โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องนำค่าใช้จ่ายดังกล่าวมาคำนวณหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายและนำส่งต่อจำเลยเมื่อโจทก์จ่ายเงินดังกล่าวไปโดยมิได้นำมาคำนวณหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่าย การที่เจ้าพนักงานประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้ประเมินและวินิจฉัยให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายจากรายจ่ายค่าอาหารของโจทก์ดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อต่อไปมีว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่เกี่ยวกับเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2520 ถึง 2524 ที่ได้ทำการแจ้งเปลี่ยนแปลงผลขาดทุนสุทธิในปี 2520 ให้ลดลงเนื่องจากเห็นว่าโจทก์มีรายจ่ายต้องห้าม โดยมีรายละเอียดปรากฏตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 11 ถึง 15 ถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ปัญหานี้เนื่องมาจากเจ้าพนักงานของจำเลยตรวจสอบการเสียภาษีของโจทก์ตามประมวลรัษฎากรและทำการตัดรายจ่ายที่ถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามแล้วปรับปรุงกำไรขาดทุนสุทธิเพื่อการเรียกภาษีของโจทก์ใหม่ ซึ่งรายจ่ายต้องห้ามที่ต้องวินิจฉัยประการแรกคือกรณีที่โจทก์ซื้อทรัพย์สินและหนี้สินจากเท็มโก้ราคา332,800,000 บาท ตามสัญญาซื้อขายทรัพย์สินและสัญญาเพิ่มเติมเพื่อขายและซื้อทรัพย์สินและหนี้สินของบริษัท ปรากฏตามเอกสารพร้อมคำแปลหมาย จ.1 แผ่นที่ 28 ถึง 37 เป็นการซื้อทรัพย์สินในราคาที่เกินปกติโดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือไม่ โจทก์อุทธรณ์อ้างว่าในการขายทรัพย์สินของเท็มโก้นั้น เท็มโก้เป็นผู้มีอำนาจต่อรองในการที่จะกำหนดราคาขายทรัพย์สินมากกว่าผู้ซื้อเห็นว่าเรือขุดแร่ของเท็มโก้คือเรือนารายณ์ที่มีการซื้อขายในคดีนี้ได้ถูกออกแบบเป็นพิเศษโดยเฉพาะเพื่อใช้งานสำหรับขุดแร่บริเวณที่เท็มโก้ได้รับสัมปทานโดยเฉพาะ เมื่อการทำแร่จะต้องได้รับสัมปทานและเท็มโก้ถูกเพิกถอนสัมปทานไปแล้ว เท็มโก้จึงไม่อยู่ในฐานะที่จะต่อรองอะไรกับโจทก์หรือผู้ซื้อทรัพย์สินรายใดได้ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์อ้างว่าหนังสือแจ้งราคาเรือที่ต่อใหม่ของบริษัทไมนิ่ง แอนด์ ทรานสปอร์ต เอ็นจิเนียริ่ง เอ็นทีอีเป็นหลักฐานที่เชื่อถือได้เห็นว่า เมื่อพิจารณาหนังสือดังกล่าวแล้ว ปรากฏว่ามีมาถึงโจทก์หลังจากที่โจทก์ได้ทำสัญญาซื้อขายทรัพย์สินไปแล้ว การยืนยันราคาเรือก็เป็นการยืนยันย้อนหลังแสดงว่าในการทำหนังสือสอบถามราคาไปก็เพียงแต่จะเป็นการสร้างหลักฐานขึ้นมาประกอบการซื้อทรัพย์นั้น ไม่มีเจตนาจะให้มีการต่อเรือกันจริง หนังสือที่ทางเอ็นทีอีแจ้งมายังโจทก์จึงไม่น่าเชื่อและที่โจทก์อุทธรณ์อ้างว่าภายหลังจากที่โจทก์ได้ซื้อทรัพย์สินจากเท็มโก้แล้ว โจทก์ได้นำไปประกันภัยซึ่งผู้รับประกันก็รับประกันภัย เมื่อเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัยผู้รับประกันภัยได้ชำระค่าเสียหายให้เป็นจำนวนเงินสูงกว่าที่โจทก์ได้เอาประกันไว้ จึงเห็นได้ว่าการตีราคาทรัพย์สินที่โจทก์นำมาลงบัญชีภายหลังจากการทำสัญญาซื้อขายกับเท็มโก้แล้ว ราคาทรัพย์สินที่ตกลงซื้อขายมีราคาใกล้เคียงกับมูลค่าที่แท้จริงของทรัพย์สินดังกล่าว เห็นว่า การอ้างว่าได้ประกันภัยในราคาที่ใกล้เคียงกับราคาที่ซื้อมาของโจทก์ โจทก์คงอ้างแต่เพียงลอย ๆโดยไม่แสดงหลักฐานใด ๆ นอกจากนี้การกำหนดราคาเอาประกันภัยไม่อาจถือเป็นราคาอันสมควรได้ เพราะคู่สัญญาประกันภัยสามารถตกลงวงเงินเอาประกันภัยเท่าใดก็ได้ เพียงแต่หากเกิดความเสียหายก็จะชดใช้ให้ตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงเท่านั้น ดังนั้นราคาทรัพย์สินที่เอาประกันภัยจึงมิใช่ราคาตลาดของทรัพย์สินที่เอาประกันภัยและไม่อาจเชื่อถือได้ ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์อ้างว่าราคาที่โจทก์และเท็มโก้ทำการตกลงซื้อขายนั้นเป็นราคาของมูลค่าทรัพย์สินตามปกติที่อาจสามารถซื้อขายกันได้ หาได้มีลักษณะเป็นการซื้อขายทรัพย์สินที่มีราคาสูงเกินปกติโดยไม่มีเหตุอันสมควรแต่ประการใดนั้น เห็นว่า จากการตรวจสอบของเจ้าพนักงานของจำเลยประกอบคำชี้แจงเป็นหนังสือของโจทก์ตามเอกสารหมาย ล.6 แผ่นที่ 156ได้ความว่าในการลงบัญชีทรัพย์ที่ซื้อมาโดยที่สัญญาซื้อขายทรัพย์สินระบุเป็นรายการใหญ่ ๆ ต้องหาวิธีลงบัญชีเพื่อแยกเป็นรายการย่อย ๆจึงได้ใช้ดัชนีมาร์ชแอนด์สตีเว่นมาเพื่อคำนวณหามูลค่าทรัพย์สินเพื่อใช้ลงบัญชี ดัชนีมาร์ชแอนด์สตีเว่นเป็นการคำนวณค่าใช้จ่ายในการแต่งเรือย้อนหลังไป 1 ปี มีอัตราเงินเฟ้อประมาณร้อยละ16 การเปรียบเทียบจะอยู่ภายใต้เงื่อนไขเดียวกัน แต่กรณีของโจทก์มีทรัพย์สินที่โจทก์ซื้อผ่านการใช้งานมาแล้วประมาณ 4 ปี การนำดัชนีราคาดังกล่าวมาเปรียบเทียบกับกรณีของโจทก์จึงไม่ถูกต้องราคาต้นทุนทรัพย์สินตามบัญชีเท็มโก้มีราคา 221,934,959.44 บาทซึ่งเป็นราคาที่เท็มโก้ได้หักค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินและได้นำไปใช้หักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลของเท็มโก้ไปแล้ว และเท็มโก้หักค่าเสื่อมราคาโดยใช้วิธีเส้นตรงในอัตราร้อยละ10 ต่อปี ซึ่งเป็นการหักค่าใช้จ่ายในอัตราต่ำอยู่แล้ว การที่โจทก์ซื้อทรัพย์สินของเท็มโก้มาในราคา 332,800,000 บาท จึงเป็นราคาที่สูงเกินปกติโดยไม่มีเหตุอันสมควร
รายจ่ายต้องห้ามที่มีปัญหาต่อไปคือเรื่องดอกเบี้ยที่โจทก์จ่ายแทนเท็มโก้ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2520 ถึง 2524 จำนวน40,974,967.20 บาท โจทก์อุทธรณ์ว่าการจ่ายดอกเบี้ยแทนเท็มโก้ดังกล่าวเป็นรายจ่ายเพื่อกิจการโดยเฉพาะของโจทก์หรือเพื่อการค้ากำไรตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี(13) รายจ่ายดังกล่าวจึงมิใช่รายจ่ายต้องห้ามที่จะไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ เห็นว่า ตามสัญญาซื้อขายทรัพย์สินหนี้สินและสัญญาเพิ่มเติมเพื่อขายและซื้อทรัพย์สินและหนี้สินมีการระบุรายละเอียดรายการทรัพย์สินและหนี้สินที่โจทก์ซื้อจากเท็มโก้ไว้ โดยไม่มีการระบุว่ามีการซื้อขายเจ้าหนี้ระยะยาวรายบริษัทไทยซาโก้ จำกัดและบริษัทมิตซุยชิบบิลดิ้ง จำกัด ไว้แต่อย่างใด ดังนั้นการที่โจทก์จ่ายดอกเบี้ยแทนเท็มโก้ไป โดยค่าดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นค่าดอกเบี้ยของหนี้สินระยะยาวซึ่งโจทก์มิได้ผูกพันด้วย ค่าดอกเบี้ยที่โจทก์จ่ายไปจึงเป็นรายจ่ายที่ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพราะเป็นรายจ่ายซึ่งมิใช่รายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะของโจทก์ตามมาตรา 65 ตรี(13) แห่งประมวลรัษฎากร โจทก์จึงนำรายจ่ายดังกล่าวมาคิดคำนวณกำไรสุทธิไม่ได้ การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว
พิพากษายืน

Share