แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
สิทธิตามนิติกรรมเกี่ยวกับภารจำยอมนั้น แม้จะมิได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่ยังไม่เป็นทรัพย์สิทธิที่บริบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 แต่ก็เป็นบุคคลสิทธิใช้บังคับกันได้ระหว่างคู่สัญญา และมิใช่สิทธิที่ตามกฎหมายหรือโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของคู่สัญญาโดยแท้ เมื่อคู่สัญญาตายไป สิทธิดังกล่าวย่อมตกทอดแก่ทายาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599,1600
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภรรยาของนายอำนวย แซ่หลิม โดยจดทะเบียนสมรสกันปรากฏตามสำเนาภาพถ่ายใบสำคัญการสมรสเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2521 นายอำนวยกับจำเลยได้ทำหนังสือสัญญาให้ทำถนน โดยจำเลยยอมให้นายอำนวยทำถนนผ่านที่ดินจำเลยกว้าง 3 เมตร ยาว 25 เมตร คิดค่าตอบแทน1,000 บาท โดยได้รับเงินไปแล้วปรากฏตามสำเนาภาพถ่ายเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 นายอำนวยใช้ที่ดินจำเลยเป็นเส้นทางเข้าออกตลอดมา ต่อมาเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2529 นายอำนวยตาย โจทก์เป็นทายาทโดยธรรม หลังจากนายอำนวยตายจำเลยได้ปิดเส้นทางดังกล่าวไม่ให้โจทก์และบริวารใช้เส้นทางเข้าออกผ่านที่ดินจำเลยอีก โจทก์ติดต่อให้จำเลยเปิดทางรื้อถอนสิ่งกีดขวางออกจากที่ดินภารจำยอม แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนสิ่งกีดขวางออกจากทางภารจำยอม หากไม่รื้อถอนให้โจทก์เป็นผู้รื้อถอน ห้ามจำเลยกระทำการใด ๆ อันเป็นการขัดขวางการใช้ทางภารจำยอมของโจทก์ จำเลยให้การว่า โจทก์และนายอำนวยได้ทำเอกสารสัญญาท้ายฟ้องหมายเลข 2 ปลอมขึ้น โจทก์หรือนายอำนวยไม่เคยใช้หรือเจตนาใช้ที่ดินจำเลยเป็นทางภารจำยอม โจทก์ได้ภารจำยอมมาโดยนิติกรรมซึ่งทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ เมื่อไม่ได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมไม่บริบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 เป็นบุคคลสิทธิระหว่างจำเลยกับนายอำนวยเท่านั้น โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยปฏิบัติตามเพราะไม่ใช่ทรัพย์สินของผู้ตายที่จะตกทอดไปยังโจทก์ซึ่งอ้างว่าเป็นทายาทและไม่ใช่สิทธิอันเป็นมรดกของผู้ตายที่จะตกทอดแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1600และฟ้องโจทก์เคลือบคลุมในวันนัดชี้สองสถาน โจทก์และจำเลยต่างแถลงท้ากันให้ ศาลวินิจฉัยข้อกฎหมายข้อเดียวว่า นิติกรรมเกี่ยวกับภารจำยอมที่โจทก์ฟ้องจะมีผลตกทอดแก่ทายาทหรือไม่ ต่างฝ่ายต่างไม่สืบพยานและประเด็นอื่นไม่ติดใจโต้เถียงกันต่อไป ถ้าศาลวินิจฉัยว่านิติกรรมนั้นตกทอดแก่ทายาทให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดี ถ้าวินิจฉัยว่าไม่ตกทอดแก่ทายาทจำเลยเป็นฝ่ายชนะคดี
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า นิติกรรมเกี่ยวกับภารจำยอมที่โจทก์ฟ้องไม่ตกทอดแก่ทายาท โจทก์จึงเป็นฝ่ายแพ้คดีตามคำท้า พิพากษายกฟ้องโจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า นิติกรรมเกี่ยวกับภารจำยอมที่โจทก์ฟ้องตกทอดแก่ทายาท จำเลยจึงเป็นฝ่ายแพ้คดีตามคำท้าพิพากษากลับให้จำเลยรื้อถอนสิ่งกีดขวางออกจากทางภารจำยอมและห้ามจำเลยกระทำการใด ๆ อันเป็นการขัดขวางการใช้ทางภารจำยอมของโจทก์อีกต่อไป ให้ยกคำขอในส่วนที่ให้โจทก์เป็นผู้รื้อถอนได้เองเสียจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่าสิทธิตามนิติกรรมเกี่ยวกับภารจำยอมที่โจทก์ฟ้องไม่ตกทอดแก่ทายาทนั้น เห็นว่าการที่นายอำนวยสามีโจทก์มีสิทธิที่จะใช้ทางผ่านที่ดินจำเลยตามสัญญาที่ทำไว้กับจำเลย และจำเลยได้รับค่าตอบแทนไปแล้ว แม้จะมิได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่ยังไม่เป็นทรัพย์สิทธิที่บริบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 แต่ก็เป็นบุคคลสิทธิใช้บังคับกันได้ระหว่างคู่สัญญา และมิใช่สิทธิที่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของนายอำนวยโดยแท้เมื่อนายอำนวยตายไป สิทธิดังกล่าวย่อมตกทอดแก่โจทก์ซึ่งเป็นทายาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599, 1600 จำเลยจึงต้องแพ้คดีตามคำท้า ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน โจทก์ไม่แก้ฎีกาจึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นฎีกาให้