คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1227/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาแล้วผู้ร้องขอไม่พอใจคำสั่งนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 156 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมแล้วได้ให้สิทธิแก่ผู้ร้องขอที่จะยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลอุทธรณ์ หรือยื่นคำร้องขอศาลชั้นต้นนั้นพิจารณาคำฟ้องอุทธรณ์อย่างคนอนาถาใหม่ได้ แต่เป็นการให้สิทธิเลือกวิธีดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเพียงอย่างเดียวจำเลยแพ้คดีในศาลชั้นต้นได้ยื่นอุทธรณ์พร้อมกับยื่นคำขออุทธรณ์อย่างคนอนาถา ศาลชั้นต้นไต่สวน แล้วมีคำสั่งยกคำขอ จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยเพราะยื่นเมื่อพ้นกำหนดเวลา ดังนี้จำเลยเลือกเอาการใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งเสียแล้ว จึงไม่มีสิทธิที่จะร้องขอให้พิจารณาคำขอฟ้องอุทธรณ์อย่างคนอนาถาใหม่ ได้

ย่อยาว

คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 แพ้คดีโจทก์ จำเลยที่ 1ที่ 3 อุทธรณ์พร้อมกับยื่นคำขออุทธรณ์อย่างคนอนาถา ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้ยกคำขอ จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์คำสั่ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยเพราะยื่นเมื่อพ้นกำหนดเวลาจำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงยื่นคำร้องขอต่อศาลชั้นต้น ขอให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคำขอฟ้องอุทธรณ์อย่างคนอนาถาใหม่
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 1 และที่ 3
จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาสู่ศาลฎีกาวินิจฉัยเพียงว่า จำเลยจะมีสิทธิร้องขอให้พิจารณาคำขอฟ้องอุทธรณ์อย่างคนอนาถาใหม่ได้หรือไม่ เห็นว่าเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาแล้ว ผู้ร้องขอไม่พอใจคำสั่งนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 156 ซึ่งได้แก้ไขโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2499 มาตรา 12 ได้ให้สิทธิแก่ผู้ร้องขอนั้นอาจยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลอุทธรณ์ หรือยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นนั้นพิจารณาคำขอฟ้องอุทธรณ์อย่างคนอนาถาใหม่ได้ ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่า เป็นทางแก้ของผู้ร้องขออย่างหนึ่งแต่ก็เป็นการใช้สิทธิที่กฎหมายบัญญัติให้เลือกวิธีดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเพียงอย่างเดียว เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 3 เลือกเอาการใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งเสียแล้ว จึงไม่มีสิทธิที่จะร้องขอให้พิจารณาคำขอฟ้องอุทธรณ์อย่างคนอนาถาใหม่ได้
พิพากษายืน

Share