คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1226/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทมานานหลายสิบปีก่อนจำเลยทั้งได้โฆษณาเผยแพร่และได้จดทะเบียนในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกและมีสินค้าจำหน่ายในประเทศไทย ก่อนที่จำเลยจะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า โจทก์จึงมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่าจำเลย และมีอำนาจฟ้องต่อศาลให้สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทได้ โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทรูปคนประดิษฐ์ที่ประกอบขึ้นจากยางรถกำลังขี่รถจักรยานดีกว่าจำเลยผู้ที่ได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2474 มาตรา 41(1) ซึ่งมิได้บัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30(ม.164 เดิม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดตามกฎหมายของประเทศฝรั่งเศส เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนรูปคนประดิษฐ์ที่ประกอบขึ้นจากยางรถ ซึ่งจดทะเบียนในประเทศต่าง ๆทั่วโลก และใช้โฆษณาสินค้าของโจทก์ตั้งแต่ปี 2526 เมื่อวันที่7 สิงหาคม 2527 จำเลยได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูปคนประดิษฐ์ที่ประกอบขึ้นจากยางรถกำลังขี่จักรยาน โจทก์ได้ยื่นคำคัดค้าน แต่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยยกคำคัดค้านของโจทก์ และรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้แก่จำเลยการกระทำของจำเลยเป็นการเลียนเครื่องหมาย การค้าของโจทก์โดยประสงค์ให้ประชาชนหลงเชื่อว่าสินค้าของจำเลยเป็นของโจทก์ หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับโจทก์จึงขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนเครื่องหมายการค้ารูปคนประดิษฐ์ที่ประกอบขึ้นจากยางรถกำลังขี่จักรยานยนต์และห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าทุกชนิดของจำเลย
จำเลยให้การว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยแตกต่างกันจึงไม่อาจทำให้ประชาชนสับสนหลงผิดได้ โจทก์ไม่นำคดีขึ้นสู่ศาลภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด สิทธินำคดีมาสู่ศาลจึงสิ้นไปขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดตามกฎหมายของประเทศฝรั่งเศสประกอบธุรกิจทางหัตถกรรม ค้าขายยางรถยนต์ยางรถจักรยานยนต์ โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนรูปคนประดิษฐ์ สำหรับสินค้าจำพวก 40 ทั้งจำพวก และโจทก์ยังได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกตามหนังสือรับรองการจดทะเบียนโจทก์ยังเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้ารูปคนประดิษฐ์ที่ประกอบขึ้นจากยางรถในลักษณะต่าง ๆ รวมทั้งรูปคนประดิษฐ์ที่ประกอบขึ้นจากยางรถกำลังขี่รถจักรยานโจทก์ได้โฆษณาเครื่องหมายการค้ารูปคนประดิษฐ์ที่ประกอบขึ้นจากยางรถในลักษณะต่าง ๆ ในประเทศไทยมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว รูปคนประดิษฐ์ที่ประกอบขึ้นจากยางรถนั้นมีการใช้ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ต่อมาเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2527 จำเลยได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นรูปคนประดิษฐ์ที่ประกอบขึ้นจากยางรถกำลังขี่จักรยานยนต์ต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า ซึ่งโจทก์ได้ยื่นคำคัดค้านการขอจดทะเบียนของจำเลย แต่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้วินิจฉัยยกคำคัดค้านของโจทก์และรับจดทะเบียนให้แก่จำเลย
จำเลยนำสืบว่า จำเลยประกอบกิจการตั้งโรงงานผลิตยางรถยนต์มาเป็นเวลา 19 ปีแล้ว ต่อมาจำเลยได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า แต่โจทก์ยื่นคำคัดค้านการขอจดทะเบียนของจำเลย ต่อมานายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้มีคำวินิจฉัยยกคำคัดค้านของโจทก์และรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยเพราะเครื่องหมายการค้าของโจทก์ซึ่งเป็นรูปคนประดิษฐ์กำลังวิ่งกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยซึ่งเป็นรูปคนประดิษฐ์กำลังขี่จักรยานนั้น แตกต่างกันแม้โจทก์จะได้กล่าวบรรยายมาในฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนในประเทศไทยแล้ว อันเป็นรูปคนประดิษฐ์กำลังวิ่งชูแขน ซึ่งโจทก์เคยยื่นคำคัดค้านการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลย โดยอ้างความเป็นเจ้าของตามเครื่องหมายการค้าหมายเลขทะเบียนดังกล่าวของโจทก์มาก่อนแต่นายทะเบียนเครื่องหมายได้ยกคำคัดค้านของโจทก์ก็ตาม แต่โจทก์ได้บรรยายต่อไปว่าโจทก์ยังเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้ารูปคนประดิษฐ์ที่ประกอบขึ้นจากยางรถในลักษณะต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงรูปคนประดิษฐ์กำลังขี่จักรยานยนต์ด้วย โดยโจทก์เป็นรายแรกและรายเดียวที่คิดประดิษฐ์ขึ้นและได้ใช้มานานนับร้อยปี ทั้งได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกการที่จำเลยได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูปคนประดิษฐ์ที่ประกอบขึ้นจากยางรถกำลังขี่จักรยานเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตถือเอาประโยชน์จากการโฆษณาของชื่อเสียงเกียรติคุณในสินค้าของโจทก์ทำให้ประชาชนหลงเชื่อว่าสินค้าของจำเลยเป็นของโจทก์ จึงเป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทรูปคนประดิษฐ์ที่ประกอบขึ้นจากยางรถกำลังขี่จักรยานดีกว่าจำเลยผู้ที่ได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของ ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474มาตรา 41(1) ซึ่งมิได้บัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30(มาตรา 164 เดิม) หาใช่เป็นกรณีที่โจทก์จะต้องนำคดีไปสู่ศาลภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยของนายทะเบียนดังที่จำเลยอ้างมาในคำแก้ฎีกาไม่
ปัญหาต่อไปโจทก์หรือจำเลยเป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่ากัน เห็นว่า ข้อที่ว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยมีลักษณะเหมือนคล้ายกันหรือไม่ เครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยต่างเป็นรูปคนประดิษฐ์ที่ประกอบขึ้นจากยางรถกำลังขี่จักรยานมีลักษณะเหมือนกันหมดทั้งรูปร่างและสวมหมวกกับสวมแว่นตาทั้งปรากฏว่านำมาใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกัน ซึ่งอาจทำให้สาธารณชนเกิดความสับสนและหลงผิดว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นเจ้าของคนเดียวกัน เครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยจึงมีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกันอันเป็นการลวงสาธารณชน เมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทมานานหลายสิบปีก่อนจำเลย ทั้งได้โฆษณาเผยแพร่และได้จดทะเบียนในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกและมีสินค้าจำหน่ายในประเทศไทยก่อนที่จำเลยจะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าโจทก์จึงมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่า จำเลยและมีอำนาจฟ้องต่อศาลให้สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทได้
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้ารูปคนประดิษฐ์ที่ประกอบขึ้นจากยางรถกำลังขี่จักรยาน ห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าจำพวกที่ 40 ทั้งจำพวก ถ้าจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย

Share