คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1225/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเข้ารบกวนการครอบครองเพียงครั้งเดียว โจทก์นำคดีมาฟ้องเป็นเวลาเกินกว่า 1 ปี ภายหลังจากที่โจทก์ถูกรบกวนในครั้งนั้น โจทก์จึงหมดสิทธิที่จะฟ้องคดีเพื่อปลดเปลื้องการรบกวนต่อไป
คดีก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องโจทก์ โดยวินิจฉัยว่าประธานกรรมการและกรรมการบริษัทโจทก์ไม่มีอำนาจลงชื่อแทนบริษัทประการหนึ่ง และโจทก์หมดสิทธิฟ้องจำเลยเพราะไม่ฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่วันถูกแย่งการครอบครองอีกประการหนึ่ง โจทก์จึงกลับมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้อีก ดังนี้ เมื่อศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยว่าฟ้องของโจทก์ไม่เป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายเสียแล้ว ก็ย่อมไม่มีอำนาจที่จะวินิจฉัยในประเด็นอื่นที่เกี่ยวกับฟ้องของโจทก์ได้ เพราะการที่จะวินิจฉัยไปถึงประเด็นอื่นดังกล่าวได้ ฟ้องของโจทก์จะต้องเป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายเสียก่อน ฉะนั้น ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยไว้ในคดีก่อนด้วยว่า โจทก์หมดสิทธิฟ้องจำเลย เพราะไม่ฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่วันถูกแย่งการครอบครอง จึงเป็นคำวินิจฉัยที่เกินเลยไปจะถือว่ามีคำพิพากษาถึงที่สุดในประเด็นข้อนี้แล้วไม่ได้ โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องจึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีที่ดินแปลงหนึ่ง เนื้อที่ประมาณ๓๓ ไร่ ได้มาโดยการจับจองและครอบครองไว้ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๔ ตลอดมาจนบัดนี้เป็นเวลา ๑๕ ปีแล้ว โจทก์ได้แจ้งการครอบครอง ได้รับส.ค.๑ เลขที่ ๔๓๗ ตำบลหนองหลวง อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก ซึ่งมีสิทธิครอบครองที่ดินแปลงนี้โดยชอบด้วยกฎหมาย
เมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๐๑ นายโท พิเดช ศึกษาธิการจังหวัดตาก ได้ยื่นเรื่องราวต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดตากขอรังวัดออกโฉนดที่ดินวัดเชตะวัน (ร้าง) อันเป็นศาสนสมบัติกลางแทนจำเลยที่ ๑ แต่ในการนำช่างแผนที่ไปรังวัด เมื่อวันที่ ๑กุมภาพันธ์ ๒๕๐๔ จำเลยได้นำชี้ให้ช่างแผนที่รังวัดล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ส่วนทางด้านเหนือเป็นเนื้อที่ประมาณ ๑๑ ไร่ ๒ งาน๕๔ วา อ้างว่าเป็นที่ดินของวัดเชตะวัน โจทก์ได้ให้นายอรุณ ธิยะใจผู้จัดการบริษัทโจทก์ยื่นคำคัดค้านต่อเจ้าพนักงานที่ดินเมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๔ เจ้าพนักงานที่ดินได้ระงับการออกโฉนดที่ดิน และดำเนินการสอบสวนเปรียบเทียบได้สอบสวนเปรียบเทียบครั้งหลังสุดเมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๐๘ ซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินเห็นว่า นายอรุณไม่มีอำนาจยื่นคำคัดค้านแทนโจทก์ จึงสั่งยกคำคัดค้านจะเริ่มดำเนินการออกโฉนดให้จำเลย แต่ขณะนี้ยังมิได้ออกโฉนดให้จำเลยและโจทก์ก็ยังครอบครองอยู่โดยอนุญาตให้เจ้าหน้าที่แขวงการทางตากเข้าทำการปรับปรุงที่ดินตามคำขอของผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ขอให้พิพากษาแสดงว่าโจทก์เป็นเจ้าของ มีสิทธิครอบครองที่พิพาท ให้จำเลยเพิกถอนการดำเนินการตามเรื่องราวที่ยื่นต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อขอออกโฉนดในที่ดินในส่วนที่เกี่ยวกับที่พิพาท ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้องต่อไป
จำเลยทั้งสามให้การร่วมกันว่า ที่พิพาทคดีนี้ ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดตามสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ ๙/๒๕๐๙ ให้ยกฟ้องโจทก์ คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำ โจทก์ไม่เคยจับจองและไม่เคยมีสิทธิครอบครองในที่พิพาท ใบเหยียบย่ำและ ส.ค.๑ ที่ ๔๓๗ เป็นของบุคคลอื่นซึ่งทางราชการสั่งจำหน่ายไปแล้ว เพราะออกทับที่ส่วนหนึ่งของวัดเชตะวัน วัดเชตะวันได้ครอบครองที่พิพาทมาประมาณ ๑๐๐ ปีแล้ววัดเชตะวันร้างไปไม่มีสงฆ์อาศัย เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๖๘ จำเลยที่ ๑และที่ ๒ จึงได้ครอบครองดูแลรักษาที่พิพาท โดยมอบให้วัดดอนแก้วซึ่งมีเขตติดต่อกัน และศึกษาธิการจังหวัดตากซึ่งเป็นเจ้าพนักงานของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ครอบครองดูแลรักษาแทนติดต่อกันมาจนถึงจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นศึกษาธิการจังหวัดปัจจุบัน นับเป็นเวลาประมาณ๔๐ ปีแล้ว ขณะนี้วัดเชตะวันและจำเลยได้อนุญาตให้รัฐบาล กรมตำรวจและจังหวัดตากปรับปรุงที่ดินและก่อสร้างอาคารของทางราชการลงในที่พิพาท
เมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๐๑ และเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๐๔ศึกษาธิการจังหวัดได้ขอรังวัดออกโฉนดที่พิพาทให้วัดเชตะวัน และนำช่างแผนที่รังวัดที่พิพาท เมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๔ โจทก์ละเลยเพิกเฉยไม่ดำเนินการฟ้องคดีและก่อนที่เจ้าพนักงานที่ดินจะยกคำคัดค้านของโจทก์ที่ให้นายอรุณ ธิยะใจ ยื่นคำคัดค้านแทนนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดได้ออกคำสั่งลงวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๐๕ ว่าวัดเชตะวันควรได้รับโฉนด โจทก์ไม่มีสิทธิในที่ดิน และสั่งให้โจทก์ฟ้องต่อศาลภายใน ๖๐ วัน โจทก์ทราบคำสั่งแล้วไม่ดำเนินการปล่อยให้ล่วงเลยมาหลายปี และในการสอบสวนเปรียบเทียบครั้งหลังสุดเมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๐๘ เจ้าพนักงานที่ดินได้ยกคำคัดค้านของโจทก์แต่โจทก์เพิ่งฟ้องจำเลยเมื่อเกินกว่าหนึ่งปีแล้ว จึงหมดสิทธิฟ้องคดี
ชั้นพิจารณา จำเลยยื่นคำร้องว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๙/๒๕๐๙ ขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมาย
คู่ความแถลงรับกันว่า ที่พิพาทคดีนี้ คือ ที่พิพาทในคดีแดงที่ ๙/๒๕๐๙ ของศาลชั้นต้น และเป็นที่ดินที่ยังไม่มีหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินตามกฎหมาย
ศาลชั้นต้นงดสืบพยานโจทก์จำเลย และวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ได้ไม่เป็นฟ้องซ้ำ สำหรับจำเลยที่ ๑ นั้น ไม่มีสิทธิหน้าที่และความรับผิดเกี่ยวกับการดูแลและจัดการศาสนสมบัติกลาง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ ๑ แต่คดีนี้เป็นเรื่องแย่งการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๗๕ จำเลยนำรังวัดรุกล้ำเพื่อเอาที่พิพาทเป็นของวัดเมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๔ โจทก์เพิ่งนำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๐๙ เป็นเวลาเกินกว่า๑ ปีแล้ว จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลย ตามมาตรา ๑๓๗๕ วรรค ๒พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา ขอให้ศาลชั้นต้นสืบพยานต่อไปแล้วพิพากษาใหม่โดยยกเป็นประเด็นโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ๒ ประการ คือ
๑. ที่พิพาทยังอยู่ในความครอบครองของโจทก์ จำเลยเพียงมีเจตนาจะแย่งการครอบครอง และตั้งวิวาทด้วยวาจา หาได้ยึดถือเอาไปจากโจทก์ไม่ กรณีจึงไม่ใช่เป็นการแย่งการครอบครองโดยสมบูรณ์ตามมาตรา ๑๓๗๕ หากแต่เป็นการรบกวนการครอบครองซึ่งตราบใดการรบกวนยังไม่หมดไป โจทก์ย่อมฟ้องคดีขอให้ปลดเปลื้องการรบกวนนั้นได้ไม่ขาดอายุความ
๒. จำเลยที่ ๑ จะต้องรับผิดร่วมกับจำเลยอื่นด้วย
ในประเด็นข้อแรก ศาลฎีกาเห็นว่า แม้จะฟังว่าโจทก์เป็นฝ่ายครอบครองที่พิพาทอยู่ และการกระทำของจำเลยดังกล่าวข้างต้นเป็นการรบกวนการครอบครองทรัพย์สินของโจทก์ก็ตาม แต่เมื่อนับจากเวลาที่โจทก์ถูกรบกวน คือวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๔ ซึ่งฝ่ายจำเลยได้แสดงออกโดยนำช่างแผนที่เข้ารังวัดที่พิพาท จนถึงฟ้องคดีนี้คือวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๐๙ ก็เป็นเวลาเกินกว่าหนึ่งปีแล้ว จำเลยได้เข้าเกี่ยวข้องกับที่พิพาทโดยการนำช่างแผนที่เข้ารังวัดเพียงครั้งเดียว โจทก์นำคดีมาฟ้องเป็นเวลาเกินกว่า ๑ ปี ภายหลังจากที่โจทก์ถูกรบกวนในครั้งนั้น โจทก์จึงหมดสิทธิที่จะฟ้องคดีเพื่อปลดเปลื้องการรบกวนต่อไป ไม่จำต้องวินิจฉัยถึงความรับผิดของจำเลยที่ ๑ และไม่จำต้องสืบพยานทั้งสองฝ่าย เพราะไม่ทำให้คำวินิจฉัยดังกล่าวข้างต้นเปลี่ยนแปลงไป
จำเลยได้ยกเป็นประเด็นไว้ในคำแก้ฎีกาเช่นเดียวกับชั้นอุทธรณ์ว่า โจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาเพียง ๕๐ บาท ไม่เสียตามทุนทรัพย์และฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำ
สำหรับค่าขึ้นศาลนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เป็นการฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เกี่ยวกับคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔ ของศาลชั้นต้น ซึ่งทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่อง การอุทธรณ์ฎีกาเช่นนี้เป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ที่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกา ๕๐ บาท จึงเป็นการถูกต้องแล้ว
ส่วนประเด็นเรื่องฟ้องซ้ำ ปรากฏว่าศาลชั้นต้นในคดีแดงที่๙/๒๕๐๙ ได้พิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องโจทก์ โดยวินิจฉัยว่านางคำแปงไกรสมพงษ์ ประธานกรรมการและนายต่วน เกิดหลำ กรรมการบริษัทโจทก์ไม่มีอำนาจลงชื่อแทนบริษัทประการหนึ่งและโจทก์หมดสิทธิฟ้องจำเลยเพราะไม่ฟ้องภายใน ๑ ปี นับแต่วันถูกแย่งการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๗๕ วรรค ๒ ประการหนึ่งโจทก์จึงกลับมาฟ้องเป็นคดีนี้อีก ข้อนี้ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อศาลได้วินิจฉัยว่าฟ้องของโจทก์ไม่เป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายเสียแล้วก็ย่อมไม่มีอำนาจที่จะวินิจฉัยในประเด็นอื่นที่เกี่ยวกับฟ้องของโจทก์ได้ เพราะการที่จะวินิจฉัยถึงประเด็นอื่นดังกล่าวได้ ฟ้องของโจทก์จะต้องเป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายเสียก่อน ฉะนั้นที่ศาลวินิจฉัยไว้ในคดีก่อนด้วยว่า โจทก์หมดสิทธิฟ้องจำเลยเพราะไม่ฟ้องภายใน ๑ ปีนับแต่วันถูกแย่งการครอบครอง จึงเป็นคำวินิจฉัยที่เกินเลยไปจะถือว่ามีคำพิพากษาถึงที่สุดในประเด็นที่ได้วินิจฉัยในข้อนี้แล้วไม่ได้ โจทก์นำคดีนี้มาฟ้อง จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๘
พิพากษายืน

Share