คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1225/2498

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดฐานลักทรัพย์เมื่อศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโดยข้อเท็จจริงโจทก์จะฎีกาข้อเท็จจริงหาได้ไม่ ต้องห้ามตาม ป.วิ.อาญา ม. 219
แต่ในกรณีที่ศาลฎีกาจะพิพากษาในคดีส่วนแพ่งคือจะสั่งให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาไม้รายพิพาทได้หรือไม่นั้น เมื่อศาลชั้นต้นฟังว่าไม้รายพิพาทเป็นของโจทก์ และศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยชี้ข้อเท็จจริงให้แน่นอนลงไปว่า ไม้เป็นของโจทก์หรือผู้ใดแล้วเช่นนี้ศาลฎีกาก็ย่อมมีอำนาจที่จะวินิจฉัยข้อเท็จจริงได้ว่าไม้รายพิพาทเป็นของฝ่ายใด และจำเลยจำต้องรับผิดชดใช้ให้เพียงใดหรือไม่
ในเรื่องคดีอาญาปนแพ่งนั้น การพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฎในคดีอาญา (ป.วิ.อาญา ม. 46) แต่ต้องถือตามบทบัญญัติแห่ง ก.ม. ว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่งด้วย (ป.วิ.อาญา ม. 47)
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 18/2498)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองสมคบกันลักซุงไม้ประดู่ของโจทก์ไป ๓๘ ท่อนราคา ๓๔,๐๐๐ บ.ขอให้ลงโทษตาม ม.๒๘๘,๖๓,๖๔ กับให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาไม้ซุง
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วจึงสั่งรับประทับฟ้องคดีเฉพาะนายจังเป้าจำเลยที่ ๑ ผู้เดียว
นายจังเป้า จำเลยให้การปฏิเสธว่าไม้ที่โจทก์ฟ้องไม่ใช่ของห้างหุ้นส่วนโจทก์ แต่เป็นของหุ้นส่วนเป้าแซ ซึ่งนายปิน แซ่โค้วกับจำเลยมีหุ้นส่วนกัน จำเลยกระทำไปโดยความตกลงของหุ้นส่วนเป้าแซ โดยชอบ
ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าไม้ซุงรายนี้เป็นของห้างหุ้นส่วนซึ่งเป็นโจทก์ แต่จำเลยได้รับมอบหมายไม้รายนี้จากผู้จัดการของโจทก์ จำเลยจึงไม่มีผิดฐานลักทรัพย์ จึงพิพากษายกฟ้องทางอาญา แต่ให้จำเลยที่ ๑ ใช้ราคาไม้รายพิพาทแก่โจทก์เป็นเงิน ๒๔,๔๘๐ บ.
โจทก์จำเลยอุทธรณ์ โจทก์ขอให้ลงโทษตามฟ้อง จำเลยคัดค้านในข้อที่ศาลชั้นต้นฟังว่าไม้รายพิพาทเป็นของโจทก์ ให้จำเลยใช้ราคา
ศาลอุทธรณ์ฟังว่าตามพยานหลักฐานโจทก์ยังฟังไม่ได้ว่าไม้รายพิพาทเป็นของโจทก์ ๆ ไม่มีอำนาจฟ้อง ไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นข้ออื่น พิพากษากลับให้ยกฟ้องทั้งทางอาญา และขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ทางแพ่ง
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยและให้จำเลยใช้ราคาทรัพย์
ศาลฎีกาปรึกษาว่าสำหรับฟ้องขอให้ลงโทษ จำเลยฐานลักทรัพย์นั้นศาลทั้งสองยกฟ้องโดยอาศัยข้อเท็จจริงและที่โจทก์ฎีกามาก็คัดค้านในข้อเท็จจริงจึงเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.อาญา ม. ๒๑๙
ในกรณีที่โจทก์ขอให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาไม้รายพิพาทในทางแพ่งนั้น ศาลฎีกาจะวินิจฉัยข้อเท็จจริงได้เพียงไรหรือไม่นี้ โดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่าแม้คดีนี้ศาลอุทธรณ์จะพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยว่าตามพยานหลักฐานโจทก์ยังรับฟังไม่ได้ว่าไม้รายพิพาทเป็นของโจทก์ ๆ ไม่มีอำนาจฟ้องและตาม ป.วิ.อาญา ม. ๔๖ บัญญัติในการพิพากษาในคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฎในคำพิพากษาในการพิพากษาในคดีส่วนแพ่งจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฎในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาก็ดี แต่ตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ดังกล่าวหาได้ชี้ข้อเท็จจริงเป็นเด็ดขาดแน่นอนลงไปไม่ว่าไม้นั้นเป็นของโจทก์หรือของผู้ใด เป็นแต่วินิจฉัยเพียงว่าตามพยานหลักฐานโจทก์ยังรับฟังไม่ได้เท่านั้น ฉนั้นในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งนี้ ตาม ป.วิ.อาญา ม.๔๗ ให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ก.ม.อันว่าด้วยความรับผิดชอบของบุคคลในทางแพ่ง ศาลฎีกาจึงมีอำนาจจะวินิจฉัยได้ว่าไม้รายพิพาทเป็นของฝ่ายใด จำเลยจะต้องรับผิดชดใช้ให้โจทก์เพียงไรหรือไม่ และคดีฟังได้ว่าไม้รายพิพาทเป็นของห้างหุ้นส่วนจำกัดเก่าแซ่โจทก์ดังฟ้อง
จึงพิพากษาแก้ให้จำเลยชดใช้ราคาไม้รายพิพาทให้โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share