คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1220/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 86 (กฎหมายที่แก้ไขใหม่) บัญญัติให้ผู้อำนวยการสถานพินิจมีอำนาจใช้มาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญาแก่เด็กหรือเยาวชน อันมีลักษณะเป็นการใช้กระบวนการเบี่ยงเบนคดีออกจากกระบวนการยุติธรรมปกติได้เช่นเดียวกับกฎหมายเดิมคือ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 63 ซึ่งมาตรา 63 ให้อำนาจเด็ดขาดแก่พนักงานอัยการที่จะสั่งไม่ฟ้องโดยไม่ผ่านการพิจารณาของศาล แต่ตามมาตรา 86 ให้พนักงานอัยการพิจารณาว่าเห็นชอบด้วยกับแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูหรือไม่ ถ้าไม่เห็นชอบด้วยกับแผนผู้อำนวยการสถานพินิจไม่มีสิทธิโต้แย้ง แต่ถ้าพนักงานอัยการเห็นชอบด้วยกับแผน พนักงานอัยการยังไม่มีอำนาจสั่งไม่ฟ้อง จะต้องให้ศาลพิจารณาก่อน ถ้าศาลเห็นชอบกับแผนและมีการปฏิบัติตามแผนครบถ้วนแล้ว พนักงานอัยการจึงจะมีอำนาจสั่งไม่ฟ้องตามมาตรา 88 โดยมาตรา 86 วรรคสาม ใช้ถ้อยคำว่า “ให้ศาลพิจารณาสั่งตามที่เห็นสมควร” จึงบ่งชี้ให้เห็นเจตนารมณ์ของมาตราดังกล่าวว่า ให้ศาลตรวจสอบแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูอีกชั้นหนึ่งก่อนและให้ศาลสั่งตามที่เห็นสมควร อันเป็นดุลพินิจเด็ดขาดของศาลชั้นต้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตามแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูที่ผู้คัดค้านเสนอต่อศาลชั้นต้นว่า ความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ รัฐเป็นผู้เสียหายจึงไม่อาจให้ความยินยอมได้ และไม่อาจใช้อำนาจตามมาตรา 86 ได้ จึงเป็นการสั่งตามที่เห็นสมควรดังกล่าว ผู้คัดค้านหรือพนักงานอัยการไม่มีสิทธิอุทธรณ์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยกอุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่อุทธรณ์ว่าการพิจารณาแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูตามมาตรา 86 เป็นอำนาจของผู้คัดค้านและพนักงานอัยการเท่านั้นจึงชอบแล้ว

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นตรวจสอบการจับกุมและมีคำสั่งตามมาตรา 73 แห่งพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 ศาลชั้นต้นตรวจสอบแล้วมีคำสั่งว่าผู้ต้องหาเป็นผู้ซึ่งต้องหาว่ากระทำผิดจริง การจับเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าการปฏิบัติของเจ้าพนักงานไม่ชอบด้วยกฎหมาย การกระทำของผู้ต้องหาอาจเป็นภัยร้ายแรงต่อผู้อื่นถือว่ามีเหตุสมควร เมื่อคำนึงถึงการคุ้มครองสิทธิและประโยชน์สูงสุดของผู้ต้องหาแล้ว จึงมีคำสั่งให้ควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดชลบุรี โดยให้ผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดชลบุรี สืบเสาะข้อเท็จจริงและจัดทำรายงานความเห็นเสนอต่อศาลชั้นต้นตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 82
ต่อมาผู้คัดค้านรายงานให้ศาลชั้นต้นทราบว่า สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดชลบุรีได้ประมวลข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่าผู้ต้องหาอาจกลับตนเป็นคนดีได้โดยไม่ต้องฟ้องโดยพนักงานอัยการเห็นชอบ และให้มีการดำเนินการตามแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูตามมาตรา 86 แห่งพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 พร้อมทั้งได้ส่งแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูและเอกสารที่เกี่ยวข้องมาประกอบการพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งว่า เนื่องจากความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหายจึงไม่อาจให้ความยินยอมได้ และไม่มีอำนาจใช้มาตรา 86 แห่งพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 ได้ จึงไม่อนุญาต
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายกอุทธรณ์ของผู้คัดค้าน
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านมีว่า ผู้คัดค้านมีสิทธิอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 86 หรือไม่ ในปัญหานี้เดิมพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 63 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า “ในกรณีที่เด็กหรือเยาวชนต้องหาว่ากระทำความผิดเมื่อผู้อำนวยการสถานพินิจพิจารณาโดยคำนึงถึงอายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพ ภาวะแห่งจิต นิสัย อาชีพ ฐานะตลอดจนสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับเด็กหรือเยาวชนและพฤติการณ์ต่าง ๆแห่งคดีแล้วเห็นว่าเด็กหรือเยาวชนอาจกลับตนเป็นพลเมืองดีได้โดยไม่ต้องฟ้อง และเด็กหรือเยาวชนนั้นยินยอมที่จะอยู่ในความควบคุมของสถานพินิจแล้ว ให้ผู้อำนวยการสถานพินิจแจ้งความเห็นไปยังพนักงานอัยการ ถ้าพนักงานอัยการเห็นชอบด้วยให้มีอำนาจสั่งไม่ฟ้องเด็กหรือเยาวชนนั้นได้ คำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการนั้นให้เป็นที่สุด” วรรคสอง บัญญัติว่า”การควบคุมเด็กหรือเยาวชนในสถานพินิจตามวรรคหนึ่งให้มีกำหนดเวลาตามที่ผู้อำนวยการสถานพินิจเห็นสมควรแต่ต้องไม่เกินสองปี” วรรคสาม บัญญัติว่า “บทบัญญัติมาตรานี้มิให้ใช้บังคับแก่การกระทำความผิดอาญาที่มีอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกเกินกว่าห้าปีขึ้นไป” ต่อมาพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 3 บัญญัติว่า “ให้ยกเลิก (1) พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534…(2)…(3)…”และมีบทบัญญัติทำนองเดียวกันไว้ในมาตรา 86 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า “ในคดีที่เด็กหรือเยาวชนต้องหาว่ากระทำความผิดอาญาซึ่งมีอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกินห้าปี ไม่ว่าจะมีโทษปรับด้วยหรือไม่ ถ้าปรากฏว่าเด็กหรือเยาวชนไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ หากเด็กหรือเยาวชนสำนึกในการกระทำก่อนฟ้องคดี เมื่อคำนึงถึงอายุ ประวัติ ความประพฤติ..หากผู้อำนวยการสถานพินิจพิจารณาเห็นว่าเด็กหรือเยาวชนนั้นอาจกลับตนเป็นคนดีได้โดยไม่ต้องฟ้อง ให้จัดทำแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูให้เด็กหรือเยาวชนปฏิบัติ…ทั้งนี้เพื่อแก้ไขปรับเปลี่ยนความประพฤติของเด็กหรือเยาวชน บรรเทา ทดแทน หรือชดเชยความเสียหายแก่ผู้เสียหาย หรือเพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ชุมชนและสังคม แล้วเสนอความเห็นประกอบแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูต่อพนักงานอัยการพิจารณา ทั้งนี้ การจัดทำแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูต้องได้รับความยินยอมจากผู้เสียหายและเด็กหรือเยาวชนด้วย” วรรคสองบัญญัติว่า “เมื่อพนักงานอัยการได้รับแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูและความเห็นของผู้อำนวยการสถานพินิจตามวรรคหนึ่งแล้ว…ถ้าพนักงานอัยการไม่เห็นชอบด้วยกับแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูให้สั่งแก้ไขแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูหรือสั่งดำเนินคดีต่อไปและให้ผู้อำนวยการสถานพินิจแจ้งคำสั่งของพนักงานอัยการให้พนักงานสอบสวนและผู้ที่เกี่ยวข้องทราบ หากพนักงานอัยการเห็นว่าแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูได้เป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็กหรือเยาวชนแล้วเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมให้พนักงานอัยการเห็นชอบกับแผนดังกล่าว และให้มีการดำเนินการตามแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูดังกล่าวได้ทันทีพร้อมทั้งให้รายงานให้ศาลทราบ” วรรคสาม บัญญัติว่า “ในกรณีที่ปรากฏข้อเท็จจริงแก่ศาลว่ากระบวนการจัดทำแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ศาลพิจารณาสั่งตามที่เห็นสมควร” วรรคสี่ บัญญัติว่า “ศาลต้องมีคำสั่งตามวรรคสามภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับรายงาน…” วรรคห้า บัญญัติว่า “แผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูตามมาตรานี้ต้องได้รับความยินยอมจากผู้เสียหายและเด็กหรือเยาวชนด้วย” มาตรา 88 วรรคสอง บัญญัติว่า “เมื่อมีการปฏิบัติตามแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูครบถ้วนแล้วให้ผู้อำนวยการสถานพินิจรายงานให้พนักงานอัยการทราบ หากพนักงานอัยการเห็นชอบให้มีอำนาจสั่งไม่ฟ้องเด็กหรือเยาวชนนั้น คำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการให้เป็นที่สุด…และให้ผู้อำนวยการสถานพินิจรายงานคำสั่งไม่ฟ้องให้ศาลทราบ” เห็นว่า ตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับดังกล่าวเป็นมาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญาแก่เด็กหรือเยาวชน อันมีลักษณะเป็นการใช้กระบวนยุติธรรมเบี่ยงเบนคดีออกจากกระบวนการยุติธรรมซึ่งตามมาตรา 63 (กฎหมายเดิมก่อนถูกยกเลิก) ให้อำนาจเด็ดขาดแก่พนักงานอัยการที่จะสั่งไม่ฟ้องโดยไม่ผ่านการพิจารณาของศาล แต่ตามมาตรา 86 (กฎหมายใหม่) ให้พนักงานอัยการพิจารณาว่าเห็นชอบด้วยกับแผนหรือไม่ ถ้าไม่เห็นชอบด้วยกับแผนให้สั่งแก้ไขหรือสั่งดำเนินคดีต่อไปโดยผู้อำนวยการสถานพินิจไม่มีสิทธิโต้แย้ง แต่ถ้าพนักงานอัยการเห็นชอบกับแผน พนักงานอัยการยังไม่มีอำนาจสั่งไม่ฟ้อง จะต้องให้ศาลพิจารณาก่อน ถ้าศาลเห็นชอบกับแผน และมีการปฏิบัติตามแผนแล้ว พนักงานอัยการจึงจะมีอำนาจสั่งไม่ฟ้องตามมาตรา 88 (กฎหมายใหม่) นอกจากนี้ตามมาตรา 86 (กฎหมายใหม่) ใช้ถ้อยคำว่า “ให้ศาลสั่งตามที่เห็นสมควร” ดังนี้บ่งชี้ให้เห็นเจตนารมณ์ของมาตรา 86 (กฎหมายใหม่) ที่ใช้บังคับสำหรับคดีนี้ว่า ให้ศาลชั้นต้นตรวจสอบแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูอีกชั้นหนึ่งก่อนและให้ศาลชั้นต้นสั่งตามที่เห็นสมควร อันเป็นดุลพินิจเด็ดขาดของศาลชั้นต้น ผู้อำนวยการสถานพินิจหรือพนักงานอัยการไม่มีสิทธิที่จะอุทธรณ์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยกอุทธรณ์ของผู้คัดค้านมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share