คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1220/2539

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คำฟ้องโจทก์สามารถแยกออกได้เป็นสองส่วน คือ จำเลยที่ 2ซื้อและรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจากจำเลยที่ 1 โดยรู้ว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะขายที่ดินให้แก่โจทก์อยู่ก่อนแล้วทำให้โจทก์เสียเปรียบ ขอให้เพิกถอนนิติกรรมขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งคำขอในส่วนนี้เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ไม่ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริง อีกส่วนหนึ่งคือ จำเลยที่ 1ทำสัญญาจะขายที่ดินให้แก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยที่ 1จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์ซึ่งคำขอในส่วนนี้เป็นคดีมีทุนทรัพย์ แต่การที่จะวินิจฉัยคำขอในส่วนนี้ต้องวินิจฉัยคำขอในส่วนแรกเพื่อให้ได้ความว่ามีเหตุให้ต้องเพิกถอนนิติกรรมขายที่ดินหรือไม่ก่อน และในกรณีที่เป็นคดีที่มีทุนทรัพย์และไม่มีทุนทรัพย์รวมอยู่ในคดีเดียวกันจะต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาว่าคดีนั้นมีคำขอใดเป็นหลักคำขอใดเป็นคำขอที่ต่อเนื่องซึ่งต้องถือว่าคำขอให้เพิกถอนนิติกรรมขายที่ดินเป็นคำขอหลักจึงไม่ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2533 จำเลยที่ 1ได้ทำสัญญาจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 3212 โจทก์ได้วางมัดจำและชำระหนี้บางส่วนให้แก่จำเลยที่ 1 จำนวน 100,000 บาทแล้วต่อมาวันที่ 13 กันยายน 2534 จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนนิติกรรมซื้อขายและโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยจำเลยทั้งสองรู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาจะขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์อยู่ก่อนและรู้อยู่แล้วว่าการกระทำดังกล่าวทำให้โจทก์เสียเปรียบ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้เพิกถอนนิติกรรมขายที่ดินโฉนดเลขที่ 3212 ตำบลหนองจอกฝั่งเหนืออำเภอหนองจอก กรุงเทพมหานคร ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2และให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์พร้อมทั้งรับเงินจากโจทก์จำนวน 100,000 บาท หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2534จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนนิติกรรมซื้อขายและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามที่โจทก์ฟ้องให้แก่จำเลยที่ 2 ในราคา 420,000 บาท โดยจำเลยที่ 2 รับโอนโดยสุจริต มิได้กระทำการฉ้อฉล ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2534 จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนนิติกรรมซื้อขายและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 3212แขวงหนองจอกฝั่งเหนือ เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร ให้แก่จำเลยที่ 2 ในราคา 420,000 บาท ปรากฏตามภาพถ่ายหนังสือสัญญาขายที่ดินเอกสารหมาย ล.1 โจทก์ฎีกาว่า การโอนขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นการฉ้อฉลโจทก์ทำให้โจทก์เสียเปรียบ เพราะจำเลยที่ 2 รู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1ได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ก่อนแล้ว เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง จำเลยที่ 2 กล่าวในคำแก้ฎีกาเป็นข้อกฎหมายว่าคดีนี้มีทุนทรัพย์หรือราคาทรัพย์สินที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกิน200,000 บาท จึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าตามคำฟ้องโจทก์สามารถแยกข้อหาและคำขอบังคับออกได้เป็นสองส่วนส่วนหนึ่ง คือ จำเลยที่ 2 ซื้อและรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 โดยรู้ว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์อยู่ก่อนแล้วทำให้โจทก์เสียเปรียบ ขอให้เพิกถอนนิติกรรมขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งคำขอในส่วนนี้เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ไม่ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงอีกส่วนหนึ่งคือ จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์และรับชำระราคาบางส่วนไปแล้ว ขอให้บังคับจำเลยที่ 1จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์พร้อมทั้งรับค่าที่ดินส่วนที่เหลือ ซึ่งคำขอในส่วนนี้เป็นคดีมีทุนทรัพย์แต่การที่จะวินิจฉัยคำขอในส่วนนี้ต้องวินิจฉัยคำขอให้ส่วนแรกเพื่อให้ได้ความว่ามีเหตุให้ต้องเพิกถอนนิติกรรมของที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 หรือไม่ก่อน และในกรณีที่เป็นคดีที่มีทุนทรัพย์และไม่มีทุนทรัพย์รวมอยู่ในคดีเดียวกัน จะต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงหรือไม่นั้น ย่อมจะต้องพิจารณาว่าคดีนั้นมีคำขอใดเป็นหลักคำขอใดเป็นคำขอที่ต่อเนื่อง คดีนี้โจทก์มีคำขอให้เพิกถอนนิติกรรมขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1และที่ 2 เมื่อเพิกถอนแล้วจึงให้จำเลยที่ 1 โอนขายให้โจทก์พร้อมรับชำระราคาส่วนที่เหลือจึงถือว่าคำขอให้เพิกถอนนิติกรรมขายที่ดินพิพาทเป็นคำขอหลัก คำขอให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อขายเป็นคำขอต่อเนื่อง จึงไม่ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงดังที่จำเลยที่ 2 แก้ฎีกา”
พิพากษายืน

Share