คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 122/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างซึ่งเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างและเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจ้างไม่มีข้อตกลงเรื่องตัดค่าจ้างของลูกจ้างในกรณีลูกจ้างขาดงาน มีแต่กำหนดว่า ถ้าลูกจ้างละทิ้งงานติดต่อกัน 3 วัน ให้พ้นจากการเป็นลูกจ้างการที่นายจ้างกำหนดมาตรการการลงโทษลูกจ้างที่ละทิ้งการงานติดต่อกัน 3 วัน เป็นว่าให้ตัดค่าจ้าง จึงเป็นการกำหนดมาตรการลงโทษขึ้นใหม่ แม้ไม่เป็นการขัดหรือแย้งกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเดิมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯมาตรา 20 แต่การเพิ่มเติมสภาพการจ้าง เช่นนี้ ไม่มีกำหนดไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างว่านายจ้างมีอำนาจทำได้ตามมาตรา 11(7) ดังนั้นการที่นายจ้างใช้อำนาจตัดค่าจ้างลูกจ้างจึงเป็นการฝ่าฝืนข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เป็นการไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ค้างจ่ายค่าจ้างโจทก์รวม ๑,๗๗๐ บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวและดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ขาดงานรวม ๘ วัน ควรได้รับโทษถึงขั้นเลิกจ้างแต่จำเลยไม่ได้เลิกจ้าง เพียงแต่ลงโทษสถานเบาคือตัดค่าจ้าง ๑,๗๗๐ บาทขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน ๑,๗๗๐ บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า เมื่อจำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างการทีจำเลยมีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานไว้อย่างใด ข้อบังคับนั้นก็เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง และเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจ้าง ตรวจข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยแล้ว ไม่มีข้อความในที่ใดว่าเมื่อลูกจ้างละทิ้งงานติดต่อกัน๓ วัน ให้นายจ้างมีอำนาจตัดค่าจ้างได้ มีแต่ข้อบังคับข้อ ๘ กำหนดไว้ว่า ในกรณีเช่นนี้ให้พ้นจากการเป็นลูกจ้างของบริษัท ดังนั้น การที่จำเลยกำหนดมาตรการลงโทษโจทก์ที่ละทิ้งการงานติดต่อกัน ๓ วันเป็นว่าให้ตัดค่าจ้าง จึงเป็นการกำหนดมาตรการลงโทษใหม่ ไม่เป็นการขัดหรือแย้งกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเดิมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๒๐ การเพิ่มเติมสภาพการจ้างเช่นนี้ไม่มีกำหนดไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยว่าจำเลยมีอำนาจกระทำได้ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๑(๗) การที่จำเลยใช้อำนาจตัดค่าจ้างโจทก์จึงเป็นการฝ่าฝืนข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเป็นการไม่ชอบ จำเลยมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์สำหรับเดือนกันยายน ๒๕๒๖ เต็มจำนวนดังที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาเป็นการชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share