คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1219/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บันทึกเอกสารหมายจ.ชมีข้อความเพียงว่าจำเลยที่1สัญญาว่าจะให้ทางเดินเข้าออกกว้าง3.50เมตรแก่ที่ดินโฉนดเลขที่182541ถึง182547บันทึกดังกล่าวไม่มีคู่สัญญาแต่มีอ.ลงชื่อในฐานะพยานไว้จึงเป็นเพียงบันทึกอนุญาตหรือให้ความยินยอมให้แก่เจ้าของที่ดินด้านในผ่านที่ดินของจำเลยที่1ได้เท่านั้นและไม่เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอก การที่จำเลยที่1ได้ทำบันทึกยินยอมให้โจทก์และเจ้าของที่ดินที่อยู่ด้านในทำทางเข้าออกผ่านที่ดินของจำเลยที่1ได้ทั้งโจทก์ก็ได้ร่วมกันออกเงินเป็นค่าใช้จ่ายทำทางพิพาทผ่านที่ดินของจำเลยที่1และได้ใช้ทางพิพาทตลอดมาเป็นเวลา8ปีแล้วการที่จำเลยที่1ปิดกั้นทางพิพาทมิให้โจทก์ทั้งห้าใช้ประโยชน์จากทางพิพาทจึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา5จำเลยที่2และที่3ซึ่งเป็นบุตรของจำเลยที่1ทราบเรื่องนี้และปิดกั้นทางพิพาทจึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตเช่นเดียวกับจำเลยที่1จำเลยทั้งสามต้องเปิดทางพิพาทให้โจทก์ทั้งห้าใช้ประโยชน์ได้ตามปกติ

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นสั่งรวมพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยเรียกจำเลยสำนวนแรกเป็นจำเลยที่ 1 เรียกจำเลยที่ 1และที่ 2 สำนวนหลังเป็นจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับ
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องเป็นใจความว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 182541, 182543, 182544, 182545และ 182546 ตำบลสวนหลวง (พระโขนงฝั่งใต้) อำเภอพระโขนงกรุงเทพมหานคร ตามลำดับ จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่185989 จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นบุตรของจำเลยที่ 1 และเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 182547 ด้านหน้าที่ดินของโจทก์ทั้งห้าและจำเลยทั้งสามเป็นที่ตั้งอาคารตึกแถวติดกัน ทางพิพาทเป็นที่ดินด้านหลังอาคารใช้เป็นทางเข้าออกขนาดกว้าง 3.50 เมตร โจทก์ทั้งห้าจำเลยที่ 1 และบุคคลอื่นที่ซื้อตึกแถวต่างยินยอมให้ผู้อื่นใช้ประโยชน์ร่วมกันในทางพิพาทเข้าออกสู่ทางสาธารณะได้ โดยเป็นทางจำเป็นและจำเลยที่ 1 ทำบันทึกแสดงเจตนายินยอมให้ใช้ทางพิพาทไว้ด้วย ต่อมาประมาณเดือนมีนาคม 2533 จำเลยที่ 1 ได้สร้างประตูเหล็กกั้นทางพิพาท จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้สร้างรั้วสังกะสีปิดทางเข้าออก อันเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ทำให้โจทก์เสียหายไม่สามารถเข้าออกในทางพิพาทได้ ขอให้พิพากษาว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็น ให้จำเลยที่ 1 รื้อถอนประตูเหล็ก จำเลยที่ 2 และที่ 3 รื้อถอนรั้วสังกะสี และห้ามจำเลยทั้งสามขัดขวางการใช้ทางพิพาทต่อไป
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยทำบันทึกแสดงเจตนายินยอมให้ใช้ทางพิพาท ที่ดินของโจทก์ด้านหน้าติดถนนอ่อนนุชด้านข้างติดซอยวัดปากบ่อซึ่งเป็นทางสาธารณะ โจทก์สามารถใช้เข้าออกได้โดยสะดวกทางพิพาทไม่ใช่ทางจำเป็นหรือทางภารจำยอมจำเลยทั้งสามสร้างรั้วกั้นเพื่อป้องกันทรัพย์สินของจำเลยทั้งสามและบุคคลอื่นในบริเวณนั้น เป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต ไม่ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษายก ฟ้อง
โจทก์ ทั้ง สอง สำนวน อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
โจทก์ ทั้ง สอง สำนวน ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติได้ตามที่โจทก์ทั้งห้าและจำเลยทั้งสามนำสืบรับกันว่า โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 182541 พร้อมด้วยตึกแถวเลขที่ 21/208 ปลูกอยู่บนที่ดินดังกล่าว พี่ชายของโจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินและตึกแถวเลขที่ 21/115 ซึ่งอยู่ด้านหน้าที่ดินโฉนดเลขที่ 182541โจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 182543 และเป็นเจ้าของที่ดินและตึกแถวเลขที่ 21/117 ซึ่งตั้งอยู่ด้านหน้าที่ดินโฉนดเลขที่ 182543 โจทก์ที่ 3 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 182544และเป็นเจ้าของที่ดินและตึกแถวเลขที่ 21/118 กับ 21/119 ซึ่งอยู่ด้านหน้าที่ดินโฉนดเลขที่ 182544 โจทก์ที่ 4 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 182545 และเป็นเจ้าของตึกแถวเลขที่ 21/120 กับ21/112 ซึ่งอยู่ด้านหน้าที่ดินโฉนดเลขที่ 182545 โจทก์ที่ 5เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 182546 และเป็นเจ้าของที่ดินกับตึกแถวเลขที่ 21/122 ซึ่งอยู่ด้านหน้าที่ดินโฉนดเลขที่ 182546จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 158989 จำเลยที่ 2และที่ 3 เป็นบุตรของจำเลยที่ 1 และเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 182547 เดิมที่ดินทั้งหมดเป็นโฉนดเดียวกันคือโฉนดเลขที่158989 ของบริษัทศรีมหานครการลงทุน จำกัด ต่อมาได้แบ่งแยกขายให้โจทก์ทั้งห้าและจำเลยทั้งสามก่อนโจทก์ทำการซื้อขายที่ดินดังกล่าว จำเลยที่ 1 ได้ทำบันทึกไว้ว่าอนุญาตให้เจ้าของที่ดินทุกแปลงที่อยู่ด้านในทำทางกว้าง 3.50 เมตร ผ่านที่ดินของจำเลยที่ 1 ได้ รายละเอียดปรากฏตามบันทึกเอกสารหมาย จ.9 เมื่อโจทก์ทั้งห้าซื้อที่ดินแล้วก็ได้ช่วยกันออกเงินทำทางพิพาทกว้าง3.50 เมตร ผ่านที่ดินของทุกเจ้าของรวมทั้งผ่านที่ของจำเลยทั้งสามด้วย ต่อมาจำเลยทั้งสามได้ปิดกั้นทางพิพาทซึ่งผ่านที่ดินของจำเลยทั้งสาม เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งห้าไม่อาจใช้ประโยชน์จากทางพิพาทดังกล่าวได้
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งห้ามีว่า บันทึกตามเอกสารหมาย จ.9 เป็นสัญญาระหว่างบริษัทศรีมหานครการลงทุนจำกัด กับจำเลยที่ 1 ทำขึ้นเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกหรือไม่โจทก์ทั้งห้ามีโจทก์ที่ 3 เบิกความว่า เมื่อปี 2525 นายอุทัยจารุวัฒน์กุล ตัวแทนของบริษัทศรีมหานครการลงทุน จำกัดดำเนินการให้มีทางออกโดยทำสัญญากับจำเลยที่ 1 ตามบันทึกเอกสารหมาย จ.9 แต่นายอุทัย จารุวัฒน์กุล พยานโจทก์เบิกความว่าได้มีการตกลงกันระหว่างผู้ซื้อที่ดินด้านหลังตึกแถวทุกแปลงว่าจะเว้นช่องทางเข้าออกทางด้านหลังที่ดินของแต่ละแปลงกว้างประมาณ4 เมตร และได้ทำข้อตกลงระหว่างเจ้าของที่ดินดังกล่าวกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินริมสุดว่าจำเลยที่ 1 ยินยอมให้เจ้าของที่ดินทุกแปลงที่อยู่ข้างในเข้าออกผ่านที่ดินของจำเลยที่ 1 ได้เมื่อได้พิจารณาถึงบันทึกเอกสารหมาย จ.9 มีข้อความเพียงว่าจำเลยที่ 1 สัญญาว่าจะให้ทางเดินเข้าออกกว้าง 3.50 เมตร แก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 182541 ถึง 182547 ตำบลสวนหลวง อำเภอพระโขนงกรุงเทพมหานคร บันทึกดังกล่าวไม่มีคู่สัญญา นายอุทัยลงชื่อในฐานะพยาน เอกสารดังกล่าวเป็นบันทึกอนุญาตหรือให้ความยินยอมแก่เจ้าของที่ดินด้านในผ่านที่ดินของจำเลยที่ 1 ได้เท่านั้นฟังไม่ได้ว่า บันทึกตามเอกสารหมาย จ.9 เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอก แต่การที่จำเลยที่ 1 ได้ทำบันทึกยินยอมให้โจทก์ทั้งห้าและเจ้าของที่ดินที่อยู่ด้านใน ทำทางเข้าออกผ่านที่ดินของจำเลยที่ 1 ได้ ทั้งโจทก์ทั้งห้าก็ได้ร่วมกันออกเงินเป็นค่าใช้จ่ายทำทางพิพาทผ่านที่ดินของจำเลยที่ 1 และได้ใช้ทางพิพาทตลอดมาเป็นเวลา 8 ปี แล้ว จำเลยที่ 1 จึงได้ปิดกั้นทางพิพาทมิให้โจทก์ทั้งห้าใช้ประโยชน์จากทางพิพาทเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5 จากจำเลยที่ 2และที่ 3 ซึ่งเป็นบุตรของจำเลยที่ 1 ย่อมทราบเรื่องนี้ได้ดีกลับใช้สิทธิปิดกั้นทางพิพาทเช่นกัน เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตเช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 จำเลยทั้งสามต้องเปิดทางพิพาทให้โจทก์ทั้งห้าใช้ประโยชน์ได้ตามปกติ
พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1 รื้อถอนประตูเหล็ก จำเลยที่ 2และที่ 3 ร่วมกันรื้อถอนรั้วสังกะสีที่ปิดกั้นทางพิพาทออกและห้ามมิให้จำเลยทั้งสามขัดขวางในการที่โจทก์ทั้งห้าจะใช้ทางพิพาทผ่านที่ดินโฉนดเลขที่ 158989 ของจำเลยที่ 1 และผ่านที่ดินโฉนดเลขที่ 182547 ของจำเลยที่ 2 และที่ 3

Share