แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำร้องซึ่งอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีของศาลชั้นต้นที่ได้รับแต่ตั้งให้บังคับคดีแทนดำเนินการบังคับคดีโดยไม่ชอบนั้น ผู้ร้องมีสิทธิยื่นต่อศาลที่ชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นต้นได้
(วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ 1/2529)
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๓ ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันต่อหน้าศาลแพ่งว่า จำเลยยอมชำระเงินจำนวน ๕,๓๘๑,๑๔๒.๓๗ บาท พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ภายใน ๓ เดือน หากผิดนัดยอมให้โจทก์ยึดทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้แก่โจทก์ ศาลแพ่งพิพากษาคดีไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ต่อมาจำเลยผิดนัดโจทก์มีคำขอต่อศาล และศาลแพ่งออกหมายบังคับคดีตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี กรมบังคับคดีจัดการยึดทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลย ผู้แทนโจทก์ขอนำยึดที่ดินของจำเลยที่ ๓ ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลจังหวัดสมุทรปราการ ศาลแพ่งจึงมอบให้ศาลจังหวัดสมุทรปราการบังคับคดีแทนเจ้าพนักงานบังคับคดีของศาลจังหวัดสมุทรปราการได้ยึดที่ดินดังกล่าว และจัดการขายทอดตลาดได้ในราคา ๖,๑๐๐,๐๐๐ บาท
จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๓ ยื่นคำร้องว่า ศาลจังหวัดสมุทรปราการมิได้แจ้งให้จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๓ ทราบวันขายทอดตลาดเป็นการขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมาย ราคาที่ขายได้ต่ำกว่าความเป็นจริง ขอให้พิจารณาใหม่
ศาลแพ่งสั่งว่าการร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดโดยอ้างเหตุว่าเป็นการไม่ชอบนั้น ผู้ร้องชอบที่จะไปยื่นต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการซึ่งเป็นศาลที่ดำเนินการขายทอดตลาดแทนให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๓ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาว่าคำร้องซึ่งอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีของศาลชั้นต้นที่ได้รับแต่งตั้งให้บังคับคดีแทนดำเนินการบังคับคดีโดยไม่ชอบนั้น ผู้ร้องมีสิทธิยื่นต่อศาลที่ชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นต้นได้หรือไม่ ปัญหาดังกล่าวศาลฎีกาได้วินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่แล้ว เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๗ บัญญัติว่า ‘บทบัญญัติในสี่มาตราก่อนนั้น ต้องอยู่ภายในข้อบังคับต่อไปนี้
(๒) บรรดาคำฟ้องและคำขอที่เสนอเกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล ซึ่งบรรดาคำฟ้องหรือคำขอนั้นจำต้องมีคำวินิจฉัยของศาลก่อนที่การบังคับคดีจะได้ดำเนินไปได้โดยครบถ้วนและถูกต้องนั้นให้เสนอต่อศาลที่ระบุไว้ในมาตรา ๓๐๒’
มาตรา ๓๐๒ วรรคแรกบัญญัติว่า ‘ศาลที่มีอำนาจออกหมายบังคับคดีหรือหมายจับลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือมีอำนาจทำคำวินิจฉัยชี้ขาดในเรื่องใด ๆ อันเกี่ยวด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง ซึ่งได้เสนอต่อศาลตามบทบัญญัติแห่งลักษณะนี้คือศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นต้น’
คดีนี้แม้ศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินในชั้นต้นคือศาลแพ่งได้ออกหมายบังคับคดีส่งไปให้ศาลจังหวัดสมุทรปราการบังคับคดีแทนแล้ว และศาลจังหวัดสมุทรปราการยังไม่ได้ส่งทรัพย์ที่ยึดได้หรือเงินที่ได้จากการขายทรัพย์นั้นไปให้ศาลแพ่ง ผู้ร้องจึงอาจยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการซึ่งเป็นศาลชั้นต้นที่ได้รับแต่งตั้งให้บังคับคดีแทนก็ได้ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๙๙๐/๒๕๑๕ ระหว่างนางสมจิตต์ ทองมังกร ฯ โจทก์นางปี้ฉิ้ว ทองมังกร จำเลย นายดำรง โลหกุล ผู้สู้ราคาสูงสุด แต่ผู้ร้องก็ยังมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลแพ่ง ซึ่งเป็นศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๗(๒) และมาตรา ๓๐๒ วรรคแรก เหตุนี้ ศาลแพ่งมีคำสั่งและศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้ยกคำร้องของผู้ร้องที่ยื่นต่อศาลแพ่ง โดยให้ผู้ร้องไปยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการนั้นศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่จึงไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๓ ฟังขึ้น
พิพากษายกคำสั่งของศาลแพ่งและคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ให้ศาลแพ่งรับคำร้องของจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๓ ไว้พิจารณาแล้วสั่งเพื่อดำเนินการพิจารณาต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ทั้งสามศาลให้รวมสั่งเมื่อมีคำสั่งใหม่