แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2480 มาตรา 5 นั้น เป็นเรื่องควบคุมมิให้นำสิ่งของเข้าในหรือออกนอกราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงภาษี จึงบังคับให้ต้องขนส่งของที่นำเข้ามาหรือนำออกไปนั้นไปตามทางอนุมัติ และตามเวลาที่อธิบดีกรมศุลกากรกำหนดไว้ ฉะนั้นเมื่อไม่ได้ส่งของออกหรือเข้าในราชอาณาจักรแล้ว เพียงแต่ขนส่งของจากด่านศุลกากรไปยังร้านของตนที่ตลาดชายเขตแดนเพื่อจำหน่ายแก่ชุมนุมชนที่นั่น แม้จะขนส่งไปนอกเส้นทางอนุมัติ และนอกเวลาที่อธิบดีกรมศุลกากรกำหนดไว้ ก็ยังไม่เป็นผิดตามกฎหมายที่กล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องหาว่าจำเลยขนส่งของจากด่านศุลกากรอรัญประเทศ ไปยังตลาดป่าไผ่ อันเป็นเขตแดนทางบกระหว่างราชอาณาจักรไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศส โดยขนไปนอกทางอนุมัติ และนอกเวลาที่อธิบดีกรมศุลกากรกำหนด ฯลฯ โดยไม่ได้รับอนุญาต จึงขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร
จำเลยรับสารภาพผิดตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร(ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2480 มาตรา 5, 10 ฯลฯ
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า จำเลยนำสิ่งของที่ถูกจับไปยังร้านของจำเลยซึ่งอยู่ที่ตลาดป่าไผ่ ชายเขตแดนมิได้มุ่งหวังจะนำออกนอกราชอาณาจักร จึงยังไม่เป็นผิดตามที่โจทก์ฟ้อง
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2480 มาตรา 5 นั้น เป็นเรื่องควบคุมมิให้นำสิ่งของเข้าในหรือออกนอกราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงภาษี จึงบังคับให้ต้องขนส่งของที่นำเข้ามาหรือนำออกไปนั้นตามทางอนุมัติจากเขตแดนทางบกมายังด่านศุลกากร หรือจากด่านศุลกากรไปยังเขตแดนทางบก แต่คดีนี้โจทก์มิได้กล่าวหาว่า จำเลยขนส่งของหรือพยายามขนส่งของออกนอกราชอาณาจักรและจำเลยก็มิได้ขนส่งของหรือพยายามขนส่งของออกนอกราชอาณาจักรกรณีจึงไม่ต้องด้วยมาตรานี้ จำเลยยังไม่ผิดตามฟ้อง
จึงพิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์