คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1217/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ผู้กล่าวหาที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 ได้ทำ หนังสือให้แก่โจทก์ว่าได้รับทราบข้อเท็จจริงแล้ว จึงไม่ติดใจที่จะ เรียกร้องใด ๆต่อโจทก์อีกต่อไปและมีความประสงค์จะเข้าทำงาน ตามปกติ ก็หาทำให้สิทธินัดหยุดงานที่มีอยู่ตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518อันเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับความ สงบเรียบร้อยของประชาชนระงับไปไม่ผู้กล่าวหาที่ 1 ที่ 2 ไม่มา ทำงานในระหว่างที่ยังอยู่ในช่วงระยะเวลานัดหยุดงานโดยชอบ ไม่ถือว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุผล อันสมควร ส่วนผู้กล่าวหาที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 นั้น ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ไม่มาทำงานเพราะโจทก์ปิดงาน จึงมิใช่การละทิ้งหน้าที่โดย ไม่มีเหตุผลอันสมควรเช่นกัน.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2534 และวันที่ 5สิงหาคม 2534 นายชุมพล นายบุญเชิด นางจิราภรณ์ นางสอิ้ง นางสาวสมใจนางวงจันทร์ และนางมณฑา ผู้กล่าวหาที่ 1 ถึงที่ 7 ตามลำดับซึ่งเป็นลูกจ้างโจทก์ ได้ยื่นคำร้องต่อจำเลยทั้งสิบเอ็ดซึ่งเป็นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ กล่าวหาว่าการที่โจทก์เลิกจ้างผู้กล่าวหาที่ 1 ถึงที่ 7 เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ต่อมาเมื่อวันที่ 4ตุลาคม 2534 จำเลยทั้งสิบเอ็ดได้มีคำสั่งที่ 46/2534 ให้ยกคำร้องเฉพาะของผู้กล่าวหาที่ 3 และ ที่ 4 ส่วนผู้กล่าวหาที่ 1 ที่ 2ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 ให้โจทก์รับกลับเข้าทำงานหรือจ่ายค่าเสียหายโจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าว เหตุที่โจทก์เลิกจ้างผู้กล่าวหาที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 เนื่องจากบุคคลเหล่านี้ได้ลงชื่อในหนังสือยินยอมต่อโจทก์ว่าได้รับทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสหภาพแรงงานแล้วจึงไม่ติดใจที่จะเรียกร้องใด ๆ ต่อโจทก์อีกต่อไปและมีความประสงค์ที่จะเข้าทำงานตามปกติ แต่ผู้กล่าวหาที่ 1และที่ 2 ได้ละทิ้งหน้าที่เกินกว่า 3 วันทำงานติดต่อกันตั้งแต่วันที่ 18 ถึงวันที่ 22 มิถุนายน 2534 โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรและผู้กล่าวหาที่ 5 ถึงที่ 7 ได้ละทิ้งหน้าที่เกินกว่า 3 วันทำงานติดต่อกันตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2534 ถึงวันที่ 1สิงหาคม 2534 โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ขอให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 46/2534 เฉพาะที่เกี่ยวกับผู้กล่าวหาที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7
จำเลยทั้งสิบเอ็ดให้การว่า คำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 46/2534 เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า การที่ผู้กล่าวหาที่ 1ที่ 2 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 ได้ทำหนังสือให้แก่โจทก์ว่า ได้รับทราบข้อเท็จจริงแล้ว จึงไม่ติดใจที่จะเรียกร้องใด ๆ ต่อโจทก์อีกต่อไปและมีความประสงค์จะเข้าทำงานตามปกติตามเอกสารหมาย จ.1 นั้นก็หาทำให้สิทธิที่จะหยุดงานที่มีอยู่ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 อันเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนระงับไปไม่ เมื่อการนัดหยุดงานกระทำโดยสหภาพแรงงานบางกอกกระสวยทั้งได้มีการแจ้งนัดหยุดงานโดยชอบแล้ว สมาชิกของสหภาพแรงงานทุกคนมีสิทธิที่จะหยุดงานได้ ฉะนั้น ผู้กล่าวหาที่ 1 และที่ 2ไม่มาทำงานในระหว่างที่ยังอยู่ในช่วงระยะเวลานัดหยุดงานโดยชอบจะถือว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรมิได้
ส่วนผู้กล่าวหาที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 นั้น ข้อเท็จจริงปรากฏว่าไม่มาทำงานเพราะโจทก์ปิดงาน จึงมิใช่เป็นการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
พิพากษายืน.

Share